xs
xsm
sm
md
lg

“ลุงตู่” ลงระนองตามความคืบหน้าการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก เพื่อเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ระนอง - นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ระนอง ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก เพื่อเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตก โดยจะเชื่อมเส้นทางขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ

วันนี้ (20 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางมาตรวจราชการพื้นที่จังหวัดระนอง เนื่องในโอกาสประชุม ครม.สัญจร นอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่จังหวัดชุมพร (วันที่ 21 สิงหาคม) โดยวันนี้ หลังจากนายกรัฐมนตรี เดินทางถึงจังหวัดระนอง เพื่อติดตามการดำเนินงานต่างๆ ของรัฐบาล เช่น ศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ชายแดนฝั่งอันดามัน การรักษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลโดยการใช้ปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งพักอาศัย แหล่งอาหาร และแหล่งสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำ

เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึง ได้เดินทางมาพบปะประชาชน ข้าราชการ องค์การต่างๆ ที่หอประชุมพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง พร้อมเป็นสักขีพยานในพิธีมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับคัดเลือกให้ทำกินในชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวมในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าคลองลำเลียง-ละอุ่น” อำเภอเมืองระนอง อำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น เนื้อรวมที่ 511 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวา จำนวน 98 แปลง 94 ราย

จากนั้นเดินทางไปยังบ่อน้ำพุร้อนรักษะวาริน และเยี่ยมชมศูนย์ฟื้นฟูสภาพด้วยการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลระนอง ก่อนเดินทางไปยังท่าเรือระนอง พบปะประชาชนเป็นจุดที่สอง และฟังการบรรยายสรุปแผนการพัฒนาท่าเรือระนอง พร้อมมอบทุ่นปะการังเทียมให้แก่ตัวเแทนอำเภอเมือง และอำเภอสุขสำราญ

การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ได้เดินทางไปยังท่าเรือจังหวัดระนอง ซึ่งให้ความสำคัญในการผุดแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึก เพื่อเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตก โดยจะเชื่อมเส้นทางขนส่งสินค้ากับประเทศพม่า หรือออกทางมหาสมุทรอินเดียก็จะเชื่อมต่อกับประเทศอินเดีย บังกลาเทศ ไปถึงศรีลังกา

ท่าเรือระนอง ปัจจุบันสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าได้ไม่เกิน 500 ตันกรอส จอดเทียบท่าได้พร้อมกันแค่ 2 ลำ รัฐบาลจึงมีแผนจะพัฒนาให้เป็นท่าเรือน้ำลึก เพื่อเป็นประตูฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งท่าเรือน้ำลึกนี้จะเชื่อมการเดินเรือชายฝั่งกับพม่า และเชื่อมกลุ่มประเทศอ่าวเบงกอล ประกอบด้วย อินเดีย บังกลาเทศ และศรีลังกา ที่กำลังมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง เป็นการเพิ่มตลาดให้สินค้าไทยออกไปทางฝั่งตะวันตก

และแผนที่จะทำคู่กัน คือ การสร้างทางรถไฟรางคู่เชื่อมกับจังหวัดชุมพร เพื่อเชื่อมอันดามันกับอ่าวไทย ลดระยะเวลาขนส่งสินค้าทางเรือ จากเดิมจะข้ามฝั่งทะเล ต้องไปอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา ใช้เวลา 15-20 วัน ถ้ามาขึ้นฝั่งที่ระนอง ขนขึ้นรถไฟข้ามไปทางชุมพร จะลดเวลาลง 3 เท่า เหลือไม่เกิน 7 วันเท่านั้น นอกจากทางรถไฟแล้ว จังหวัดระนองยังขอให้รัฐบาลพิจารณาการขยายถนนที่เชื่อมอำเภอเมืองระนอง เข้ากับอำเภอหลังสวน ของชุมพร เป็นถนน 4 เลน เพื่อรองรับแผนการเชื่อมอันดามันกับอ่าวไทยในครั้งนี้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น