xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสถิติภาคใต้ครองแชมป์ “บุหรี่มือสองในบ้าน” ตัวร้ายทำลายครอบครัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - วันแม่ 12 สิงหา “พ่อจ๋าบุหรี่ทำร้ายครอบครัวเรา” มูลนิธิเพื่อนหญิง ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และ สสส. เปิดสถิติภาคใต้ครองแชมป์บุหรี่ตัวร้ายทำลายครอบครัว

วันนี้ (10 ส.ค.) ที่โรงแรมบุรีศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เครือข่ายผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่ 4 ภาค และเครือข่ายเด็ก เยาวชน เครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่ สนับสนุนโดย สสส. จัดกิจกรรมเนื่องในวันแม่ 12 สิงหา “พ่อจ๋าบุหรี่ทำร้ายครอบครัวเรา” โดยสถานการณ์ความรุนแรงต่อสตรีเยาวชนเด็กและครอบครัว ที่ต้องเผชิญต่อการสูบบุหรี่ หรือยาสูบ ทั้งในรูปแบบของการเป็นผู้สูบ (นักสูบมือ1) ผู้ไม่ได้สูบโดยตรงแต่สูดดม หรือสัมผัสกับควันบุหรี่เข้าไปในร่างกาย ซึ่งเราเรียกผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้ว่าเป็นนักสูบมือ 2 และมือ 3

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2557 ระบุว่า ผู้หญิงไทยจำนวนมากมีความรู้ไม่มากพอเรื่องอันตรายของการสูบบุหรี่ต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ โดยจากคำถามถึงการรู้ว่าบุหรี่เป็นสาเหตุให้มารดาคลอดก่อนกำหนด 28-34 สัปดาห์ พบว่า มีคุณแม่ที่ไม่สูบบุหรี่ร้อยละ 54.3 รู้ว่ามีอันตราย ส่วนคุณแม่ที่สูบบุหรี่มีเพียงร้อยละ 39.5 เท่านั้นที่รู้ว่าการสูบบุหรี่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น จากการสำรวจในการรับของมือสองในประเทศไทย พบว่า การรับควันบุหรี่มือสองในบ้านภาคใต้มีปัญหาแรงที่สุด โดยประชากรมีอัตราได้รับความบุหรี่มือสองในบ้านทุกวันสูงสุดของประเทศ คือ 37.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราเฉลี่ยของประเทศไทเท่ากับ 28.1 เปอร์เซ็นต์ กรุงเทพฯ ต่ำสุด 22.6 เปอร์เซ็นต์ ภาคกลาง 23.6 เปอร์เซ็นต์ ภาคเหนือ 28.7 เปอร์เซ็นต์ และภาคอีสาน 30.9 เปอร์เซ็นต์
 

 
ล่าสุด การสำรวจในปี 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีคนไทย 17.3 ล้านคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยจากการรวบรวมข้อมูลของมูลนิธิเพื่อนหญิงผ่านหนังสือพิมพ์ และงานเอกสารทางวิชาการของนักวิชาการ โดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่หลายท่าน ได้ชี้ให้เห็นความร้ายแรงของพิษภัยบุหรี่ ผลกระทบด้านสุขภาพ สุขภาวะเจริญพันธุ์ และแนวโน้มอนาคตของประชากร และเพศที่บริษัทต้องการขยายตลาด

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า วัยรุ่นหญิงไทยสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 5 ในปี 2558 ในขณะที่วัยรุ่นชายไทยยังคงที่อยู่ที่ร้อยละ 21 เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย

ศ.นพ.ภิเษก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้หญิงจะมีแนวโน้มการเกิดโรคต่างๆ จากการสูบบุหรี่เร็วกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีฮอร์โมนที่แตกต่าง และมีมดลูกระบบเจริญพันธุ์ที่ผู้ชายไม่มี เช่น ผลกระทบการปวดประจำเดือนมาก การมีบุตรยาก หรือถ้ามีบุตรจะมีน้ำหนักตัวน้อย จะทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในท้อง หรือเสียชีวิตหลังคลอดอย่างกะทันหัน เป็นต้น

จากการสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพล เรื่องความคิดเห็นของเด็กจากการสูบบุหรี่ของพ่อ ระหว่างวันที่ 1-19 พฤศจิกายน 2547 กลุ่มเป้าหมาย 100 คน เด็ก ป.2-ป.4 ที่พ่อสูบบุหรี่มีความรู้สึกว่า 99 คน รู้สึกไม่ชอบพ่อสูบบุหรี่ 99 คน อยากให้พ่อเลิกบุหรี่ 96 คน รู้สึกเสียดายเงินที่พ่อสูบบุหรี่ 96 คน รู้สึกเหม็นเมื่อพ่อสูบบุหรี่ 71 คน รู้สึกอายเมื่อพ่อสูบบุหรี่ และ 17 คน เคยไม่สบายเป็นประจำเมื่อได้รับควันบุหรี่จากพ่อ จากสถานการณ์ และข้อมูลที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นนั้น จะเห็นว่าผู้หญิง เด็ก และคนในครอบครัวจะได้รับผลกระทบจากผู้สูบ ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ชายที่มีสถานะความเป็นพ่อ โดยมีผู้หญิงเพิ่มจำนวนเป็นผู้สูบมากขึ้น
 


กำลังโหลดความคิดเห็น