xs
xsm
sm
md
lg

14 ปีเหตุการณ์ความไม่สงบยังคงตราตรึง ประชาชนในพื้นที่ยังไม่หลงลืมความเจ็บปวด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - ครบรอบ 14 ปีเหตุการณ์ความไม่สงบบริเวณมัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี ยังคงตราตรึง ประชาชนในพื้นที่ยังไม่หลงลืมถึงความเจ็บปวด

วันนี้ (28 เม.ย.) จากเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ใน จ.ปัตตานี ยะลา และ จ.สงขลา ทั้ง 11 จุด เกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย เสียชีวิต 108 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง และถูกควบคุมตัว 1 ราย คือนายอับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ ถูกจับกุมดำเนินคดีจากเหตุการณ์ บริเวณสถานีตำรวจแม่ลาน จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ปัจจุบันถูกควบคุมตัวที่เรือนจำจังหวัดสงขลา

เหตุการณ์ทั้ง 11 จุด ของวันที่ 28 เมษายน 2547 ประกอบด้วย พื้นที่ จ.ยะลา จำนวน 6 จุด ได้แก่ 1. จุดตรวจบ้านเนียง ต.ลิดล อ.เมือง จ.ยะลา ขึ้นกับ สภ.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา 2. หน่วยที่ตั้งทหาร กองพันที่ 4 กรมทหารราบที่ 15 (ร.15 พัน 4) ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา 3. สภ.กิ่ง อ.กรงปินัง จ.ยะลา 4. ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 4202 บ้านกาจะลากี หมู่ 2 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา 5. ฐานปฏิบัติการชุดมวลชนสัมพันธ์ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 บ้านบาโงย ต.โกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา 6. ชุดสันตินิมิตที่ 403 บ้านบัวทอง หมู่ 2 ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา พื้นที่ จ.ปัตตานี มี 3 จุด ได้แก่ จุดตรวจบ้านกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี, จุดตรวจเกาะหม้อแกง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และ สภ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ขณะที่พื้นที่ จ.สงขลา มี 1 จุด ได้แก่ จุดตรวจบริการประชาชน บริเวณตลาดสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา

ต่อมารัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2555 ให้มีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจาก 108 ราย แต่ครอบครัวของ นายอับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ ถูกยกเว้น เนื่องจากอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี รัฐไม่มีหลักเกณฑ์ช่วยเหลือ ขณะเดียวกันทางภาครัฐในขณะนั้นได้พยายามหาวิธีช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในการรัฐประหาร
 

 
ล่าสุดวันนี้ ที่บ้านเลขที่ 15/1 ม.3 บ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี นางแอเสาะ เลาะเต๊ะ อายุ 76 ปี มารดาของ นายอับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ ถูกจับกุมดำเนินคดีจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ปัจจุบันถูกควบคุมตัวที่เรือนจำจังหวัดสงขลา เรียกร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการขออภัยโทษลูกชาย

นางแอเสาะ เลาะเต๊ะ อายุ 76 ปี กล่าวเป็นภาษายาวี แปลได้ว่า เพราะเราลำบาก ร่างกายไม่แข็งแรง ถ้าลูกออกมาก็ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องทำงาน เขาไม่ยอมให้ทำงาน ร่างกายไม่ได้แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน อายุเท่านี้แล้ว ถือของไหวแค่ข้างละ 2 กิโลกรัม มือก็เจ็บถืออะไรยังไม่ได้ ตัดยางได้แต่ขอให้หลานช่วยเก็บ คือจ้างหลานช่วยเก็บขี้ยางแทน

นางแอเสาะ เลาะเต๊ะ ยังบอกอีกว่า ตอนนี้ได้แต่นั่งมองปฏิทินที่แขวนไว้ข้างพนังบ้าน คอยนับวันนับเดือนที่ลูกจะออกมา เพราะเขาบอกว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำบอกว่าจะมีการอภัยโทษอีกรอบเดือนกรกฎาคมนี้ เราก็มีความหวัง เพราะก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้ส่งหนังสือมาแล้วให้ผู้ใหญ่บ้าน แม่ ภรรยาไปเซ็นรับรอง แต่อยู่ๆ เจ้าหน้าที่แจ้งมาว่าจะออกมาใช้ชีวิตข้างนอกต้องมีอาชีพ เขาต้องให้ลูกชายฝึกอาชีพก่อนถึงจะออกได้

ขณะที่บรรยากาศที่บริเวณมัสยิดกรือเซะ ในวันนี้ที่ครบรอบ 14 ปี ได้มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ และนอกเครื่องแบบตรึงกำลังตามจุดต่างๆ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย มีการบันทึกภาพเป็นระยะๆ ท่ามกลางการเดินทางเยี่ยมชมของนักเรียน ผู้ปกครอง ครูจากทั่วสารทิศ มาเรียนรู้ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และชมความสวยงามของศิลปกรรม รูปแบบของมัสยิดที่มีแห่งเดียวในเอเชียอาคเนย์

และถึงแม้เหตุการณ์ในวันนั้นครบ 14 ปีบริบูรณ์ กำลังจะเปลี่ยนสู่สถานะของคนเข้าสู่อีกวัยหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนความทรงจำจากเหตุการณ์ในคราวนั้นให้คนชายแดนใต้เลย ถึงความรุนแรง และความสูญเสีย ตราบใดที่ยังคงนิยมเลือกใช้วิธีประหักประหารเป็นทางออกของแก้ไขปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้
 




กำลังโหลดความคิดเห็น