xs
xsm
sm
md
lg

ยางพาราไทย.. บทวิเคราะห์ และข้อเสนอต่อรัฐบาล! / เดชาชน คนมีสวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
เดชาชน คนมีสวน
______________________________________________________________________________

ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาราคายางพารา ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายได้จากวงจรธุรกิจยางพาราติดขัด กระทบต่อเนื่องส่งผลต่อวงจรเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ดังที่เห็นในปัจจุบัน

ข้อเท็จจริง
1. ราคายางลดลงในระดับที่เป็นอันตรายต่อวงจรยางพาราไทย
โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ต้นทุนการผลิตยางพาราของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางอยู่ที่ประมาณ 60 บาท/กก. ขณะนี้ราคายางดิบทุกชนิด ณ ตลาดกลางต่ำกว่าทุนทั้งสิ้น ราคายางแผ่นดิบ 45-46 บาท/กก. น้ำยางสด 44-45 บาท/กก. และที่หนักสุดคือยางก้อนถ้วยที่ 34-35 บาท/กก. (ทุกชนิดยาง เป็นราคายางที่มีเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง 100%)

2. มาตรการแก้ไขปัญหาของภาครัฐล้มเหลว
วันพุธ (20 ธันวาคม พ.ศ.2560) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)
1.โครงการสนับสนุนเงินหมุนเวียนแก่สถาบันการเกษตรต่างๆ 10,000 ล้านบาท เพื่อการรวบรวมยางพาราจากเกษตรกร โดยมีค่าใช้จ่ายเบี้ยประกัน 0.36 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี
2.โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน 20,000 ล้านบาท ให้ผู้รับซื้อยางเพื่อดูดซับยางพารา 350,000 ตัน ออกจากตลาดในห้วงปี 2561 โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี
3.การสนับสนุนให้ 7 กระทรวง ซื้อยางพารานำมาใช้ 200,000 ตัน มูลค่า 12,000 ล้านบาท โดยใช้งบกลางสำรองจ่าย
4.โครงการควบคุมผลผลิต โดยจะลดพื้นที่ปลูกชั่วคราว 200,000 ไร่ ลดพื้นที่ปลูกถาวร 200,000 ไร่ และลดปริมาณสวนยางที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐกว่าหนึ่งแสนไร่
5.โครงการตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางร่วมกัน โดยการยางพาราแห่งประเทศไทย และผู้ส่งออกรายใหญ่ 5 บริษัท ซึ่งจะมีการหารือเพิ่มเติมต่อไป
6.เป็นโครงการเดิมที่มีการทบทวน คือโครงการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง ในการขยายหรือปรับปรุงการผลิต รัฐบาลเคยอนุมัติวงเงินไว้ 15,000 ล้านบาท แต่มีผู้ขอรับสินเชื่อไม่ครบ จึงขยายโครงการไปถึงเดือนมิถุนายน ศกหน้า
และ 7.รัฐบาลอนุมัติการสนับสนุนสินเชื่อให้กับกลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ในอัตรา 0.49 เปอร์เซ็นต์ต่อไป

ยังไม่รวมโครงการเก่าก่อนหน้านี้ อาทิ โครงการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการน้ำยางข้น 1หมื่นล้านบาท ทำนองเดียวกันกับโครงการที่ 2 แต่ก็ขาดการติดตามประเมินผลเพื่อหาทางปรับปรุงเข้มงวด หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบแนวปฏิบัติให้เข้ากับสถานการณ์ เป็นต้น

ทุกมาตรการขาดการติดตาม และประเมินผลโดยสิ้นเชิง ทำให้การแก้ไขปัญหาไร้ทิศทางมาตรการ เกิดความซ้ำซ้อนหาความชัดเจนไม่ได้
- ผู้ประกอบการรายใหญ่ ไม่ให้ความสนใจ และไม่ให้ความร่วมมือกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล การเรียกประชุมผู้ประกอบการยางรายใหญ่ทุกครั้งของรัฐบาล ไม่เคยมีผู้มีอำนาจของบริษัทมาเข้าร่วมแต่อย่างใด โดยเฉพาะ 5 เสือที่มักจะกล่าวถึงกันเพราะเป็นผู้ที่กุมสัดส่วนตลาดยางพารามากกว่า 80%
- องค์กรที่ดูแลด้านยางพาราโดยตรงของไทย ทั้งการยางแห่งประเทศไทย กยท. และกองการยางกรมวิชาการเกษตร ไม่มีความพร้อม และไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา กล่าวคือ

การยางแห่งประเทศไทย การจัดองค์กร จากการมารวมกันอยู่ของ 3 หน่วยงานเก่า ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย ปี 2558 ได้แก่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.), องค์การสวนยาง (อสย.) และสถาบันวิจัยยางพารา (สวย.) ยังไม่เกิดความกลมกลืนกันทั้งโครงสร้างองค์กร สิทธิประโยชน์ และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ กลายเป็นการดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวของ สกย.เก่า ทำให้ขาดความร่วมมือในการปฏิบัติงานอย่างรุนแรง เกิดความขัดแย้ง มีการเมืองภายใน จนน่าเป็นห่วงในลักษณะ “หนึ่งองค์กรหลายมุ้ง” ทำให้ยากที่จะสนองนโยบายภาครัฐไปสู่ภาคการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ และเกิดความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำให้นโยบายสำเร็จ และล่วงที่เป้าหมายหลัก คือความอยู่ดีมีรายได้เพิ่มของเกษตรกรชาวสวนยาง ที่รัฐบาลมุ่งหวังได้

กองการยาง กรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่รวบรวมสถิติยางของประเทศไทย ให้เป็นปัจจุบัน ขาดการติดตามรวบรวมตัวเลขสถิติต่างๆ เกี่ยวกับข้อมูลยางพาราไทย ทั้งผลผลิต การส่งออก การใช้ภายในประเทศ มูลค่าการส่งออกทั้งยางดิบ เบื้องต้น หรือผลิตภัณฑ์ยางพารา เป็นต้น ทำให้ประเทศขาดข้อมูลกลางที่สำคัญเพื่อใช้ในการประเมิน เพื่อกำหนดนโยบายให้ถูกต้องได้ เปรียบเสมือนกองทัพที่ไม่ทราบจำนวนกำลังพล ยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของตัวเอง จึงเป็นการยากที่จะนำทัพให้ชนะได้ฉันใด

กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2561 ครม.อนุมัติให้ยางเป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ควบคุมสินค้าและบริการ ปี 2542 นับถึงวันนี้ก็ 2 เดือนกว่าแล้ว ยังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวอะไรให้เป็นรูปธรรมเลย ในขณะนี้ชาวสวนยางพารามีความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง

3. ทางเลือกในการแก้ไขปัญหา
ทางเลือกเพื่อสะท้อนให้รัฐเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา และกลุ่มคนผู้เกี่ยวข้องกับวงจรยางพาราไทย ได้มีประสิทธิภาพ และตรงทิศทางให้มากขึ้น ดังนี้
3.1 ตั้งคณะบุคคลหรือผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ติดตามผลทุกโครงการ แล้วรีบรายงานเพื่อจะดูว่าโครงการไหนต้องแก้ไข ปรับเปลี่ยนหรือต้องยกเลิก เพื่อกำหนดนโยบายใหม่ที่ไม่ซ้ำซ้อน
3.2 รัฐบาลต้องเปิดใจกว้าง นำแนวเสนอแนะต่างๆ ที่แต่ละองค์กรยางพาราที่ทำเสนอเข้ามามากมายขณะนี้ รวบรวมกลุ่มปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหาเสียใหม่ เพื่อให้ทุกกลุ่มองค์กรยางพาราเกิดความไว้วางใจ และภาคภูมิใจที่ภาครัฐไม่ละเลยแนวคิดของพวกเขา เป็นการสร้างแนวร่วมในการแก้ไขปัญหาไปด้วย
3.3 เข้าดำเนินการดูดซับยางก้อนถ้วยทันที

เหตุผล
1. ขณะนี้โครงสร้างราคายางพาราไทยบิดเบี้ยวไปมาก โดยเฉพาะยางที่มีสัดส่วนการผลิตจำนวนมากที่สุดเกินร้อยละ 60 ของผลผลิตยางทั้งประเทศ คือยางแท่ง ซึ่งใช้วัตถุดิบเป็นยางก้อนถ้วยเป็นหลัก แต่ราคายางก้อนถ้วยราคากลับต่ำที่สุดต่อเนื่องกันมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าราคายางก้อนถ้วยต่ำกว่ายางแผ่นดิบ และน้ำยางสดมากถึง 10-13 บาท/กก. และในบางช่วงห่างถึง 20 บาท/กก. ซึ่งยางแท่งผู้ที่ผลิตก็จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งสิ้น
2. ยางก้อนถ้วย จัดเก็บรักษาง่ายต้นทุนต่ำ และเก็บได้นานตามที่ต้องการ
3. สร้างความเป็นธรรมในการเข้าช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้ เพราะเป็นผลผลิตที่มีครอบคลุมทุกพื้นที่การปลูกยาง
4. ปรับโครงสร้าง กยท.ใหม่ (Reorganization) ให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกหน่วยงาน (เดิม) เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ เพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน
5. ใช้เวที และให้ความสำคัญกับการประชุมระดับต่างๆ ในเรื่องปัญหาราคายางพารา โดยเพิ่มความถี่ในการพบปะขององค์กรต่างๆ เหล่านี้
5.1 คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ กนย.
5.2 คณะกรรมการควบคุมยาง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยาง 2542
5.3 สมาชิก ITRC ระดับรัฐมนตรี ในระดับภูมิภาค
6. เพิ่มการใช้ยางภายในประเทศแบบก้าวกระโดด ส่งเสริมสนับสนุนการผลิต และใช้ยางที่มีอยู่ภายในประเทศ
(1) การใช้ยางของภาครัฐ
ภาครัฐ ที่พยายามทำอยู่ถือว่าดีอยู่แล้วเพียงเพิ่มความเข้มข้น เร่งรัดติดตาม และรายงานจากแต่ละหน่วยงานที่ใช้ยางในภารกิจต่างให้ชัดเจนขึ้น ทั้งผสมทำถนน สนามกีฬา แผ่นยางปูสระ ฯลฯ
(2) ระดับรายย่อย
กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ หรือหน่วยวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ที่พยายามช่วยกันผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพาราต่าง หมอน ที่นอนยางพารา ฯลฯ รัฐบาลเข้าไปส่งเสริมผลักดัน รับทราบปัญหาให้เต็มที่ ถึงแม้ว่าจำนวนจะไม่มากในทางสถิติที่จะเห็นได้ แต่ก็เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นแนวร่วมในการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี
(3) โรงงานระดับกลาง และใหญ่ภายในประเทศ
เพื่อให้การสนับสนุน ส่งเสริม และรับทราบปัญหาข้อเสนอแนะต่างๆ โดยการเรียกพบปะ ปรึกษาหารือ
- โรงงานที่ใช้วัตถุดิบยางแห้ง เช่น ยางล้อต่างๆ สายพาน ยางวง ยางสำหรับการก่อสร้างต่างๆ ยางสำหรับอะไหล่เครื่องจักรต่างๆ เป็นต้น
- โรงงานที่ใช้น้ำยางข้นเป็นวัตถุดิบประเภท ผลิตภัณฑ์การจุ่ม การหล่อ และโฟม ฟองน้ำ เป็นต้น

เชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศ
เพื่อเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศให้ได้ในลักษณะก้าวกระโดด “เน้นสอบถามความต้องการ เสนอผลประโยชน์ และสร้างอนาคตร่วมกัน” เป็นที่ทราบว่ายางธรรมชาติที่ผลิตได้ทั่วโลกรวมกันประมาณ 12 ล้านตัน/ปี ในขณะนี้มีสต๊อกเหลือแต่ละปีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แสดงว่ายางส่วนใหญ่มีการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เรียบร้อยแล้วทั้งสิ้น และร้อยละ 60-70 เป็นประเภทยางวงล้อ

ดังนั้น การที่จะประกาศเพื่อเพิ่มการใช้ยาง และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้นนั้น จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยากมาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ยกเว้น “ทางลัด” ทางเดียวที่สามารถทำได้ คือการดึงเชิญชวนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์รายใหญ่ ประเภทยางวงล้อ เข้ามาลงทุนภายในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “เน้นสอบถามความต้องการ เสนอผลประโยชน์ และสร้างอนาคตร่วมกัน” เข้ามาพร้อมกับแบรนด์ที่เขามีอยู่เท่านั้น

เรื่องนี้ต้องเป็นฝีมือ และความสามารถของ 5 หน่วยงานหลัก บวกแรงเสริมสนับสนุน และอย่างจริงใจเต็มร้อยของรัฐบาลกลาง 5 หน่วยงานหลัก คือสำนักงานส่งเสริมการลงทุน, กระทรวงการต่างประเทศ, กรมสรรพากร, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ข้อเสนอแนะ
ควรเร่งรีบ กระตือรือร้น เอาใจใส่ ติดตาม และประเมินผลในระดับที่ถี่ขึ้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาราคายางพาราให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา ได้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ บนความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างสม่ำเสมอ

เดชาชน คนมีสวน
 


กำลังโหลดความคิดเห็น