xs
xsm
sm
md
lg

“เราไม่อาจขายเพชรในราคาเศษเหล็ก” แจงเก็บค่าเที่ยว “เกาะเขาใหญ่” หัวละ 800 ไม่ซ้ำรอยวิกฤติ “คีรีวง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “เราไม่อาจขายเพชรในราคาเศษเหล็ก” ประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนปากบารา ชี้แจงจุดยืนกรณีดราม่า “800 บาทแพงไปนะ” เผยกลุ่มวิสาหกิจก่อตั้งขึ้นโดยมีการศึกษาวิจัยข้อมูลรอบด้าน มีแผนต้องการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวป้องกันผลกระทบต่อชุมชน ขณะที่รายได้ต่อหัวกระจายไปถึงทุกส่วนของชุมชน เทียบกับท่องเที่ยว “คีรีวง” ซึ่งกำลังมีปัญหาอยู่ในเวลานี้

วันนี้ (21 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊ก “เตแบร์ นุ้ยไฉน” ซึ่งเป็นบัญชีของนายวินัย นุ้ยไฉน ประธานการท่องเที่ยวโดยชุมชนปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ได้กล่าวถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์การท่องเที่ยวที่ดำเนินการโดยชุมชนปากบาราว่าเก็บค่าบริการสูงเกินไป โดยนายวินัย เขียนถึงเรื่องนี้ว่า

กรณีดราม่า ๘๐๐บาท "แพงไปนะ" ว่ากันตรงๆ ใครมองมุมไหนมักจะเห็นมุมนั้น ไม่สามารถเห็นมุมตรงข้ามได้อย่างชัดเจน

“ผมในฐานะประธานการท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปากบาราดูแลกลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนในอำเภอละงู ๑๔ กลุ่มวิสาหกิจ ผู้ประกอบการอาจจะมองมุมนี้ไม่เหมือนนักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วไป ผมมองประเด็นว่าการท่องเที่ยวกระแสหลักราคาถูกที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวเยอะว่าชุมชนได้อะไร”

ซึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาขยะ การจราจรติดขัด การถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ประเด็นปัญหาใกล้ตัวเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านได้กลับมาทบทวนการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดการมากกว่าปริมาณ

สร้างโอกาสในการพัฒนาชุมชนและสร้างรายได้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
การท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปากบารา เริ่มจากการถอดบทเรียนการท่องเที่ยวกับความล้มเหลวด้านทรัพยากรณ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอดีต เมื่อ ๓ พ.ย. ๒๕๕๖ เอกสารอ้างอิง http://happynetwork.org/paper/1504 ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สสส.ในการจัดกระบวนการ และได้ทดลองเที่ยวกันจริงๆ จังเมื่อปี ๒๕๕๘
 

 
ทริปแรกพายเรือคยัค ๕ ลำออกจากบ่อเจ็ดลูกแต่ไม่มีใครพายเรือคยัคถึงปราสาทหินพันยอดสักลำ เลยต้องใช้เรือหางยาวลากเรือคยัคเหมือนปัจจุบัน

เปิดอย่างเป็นทางการ วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๐ ต้องขอขอบคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ท่านภัทรพนธ์ รัตนพิเชฎฐชัย และบริษัทประชารัฐสามัคคีสตูล (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ที่ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ ๔ หมู่บ้านชุมชนต้นแบบในการดำเนินงานการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างร่วมรับผิดชอบ

ถือว่าเป็นการตัดริบบิ้นกันวันนั้น แต่ก็ต้องขอขอบคุณน้อง Folk Kamponsak Sassadee ที่มีส่วนช่วยให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปากบาราดังเปรี้ยงปร้างภายในชั่วข้ามคืน (กรณี ลิขสิทธภาพ)

การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปากบารา มีแผนแม่บทที่ชัดเจนของชุมชนร่วมกันร่างเพื่อเสนอในการขอใช้พื้นที่กับกรมอุทยานฯและถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด
๑) ต้องรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยังคงสมบูรณ์ดังเดิมให้มากที่สุด ๒) ต้องการให้ชุมชนเป็นผู้จัดการท่องเที่ยวและกระจายผลประโยชน์แก่สมาชิกชุมชนตามสมควรรวมถึงแก่บุคคลด้อยโอกาสอื่นๆในสังคม

๓)การจัดการท่องเที่ยวต้องไม่ขัดต่อประเพณีวัฒนธรรมอันดีของชุมชน โดยเฉพาะวิถีชีวิต แบบมุสลิมตามหลักการศาสนาที่คนในชุมชนส่วนใหญ่นับถือ
๔)เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวของทรัพยากรมากต้องมีการเฝ้าระวังและมีการเตรียมการฟื้นฟู ให้ทันท่วงที

๘๐๐บาท ต่อ ๑ ท่านสามารถตอบโจทย์ตามแผนแม่บทเรื่องการควบคุมปริมาณและจำนวนนักท่องเที่ยววันละไม่เกิน ๓๐๐ คนได้อย่างชัดเจน ไม่แออัด สกรีนนักท่องเที่ยวได้ นักท่องเที่ยวทุกท่านที่มาเข้ามาเที่ยวที่นี่น่ารักทุกคน

“จะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องขยะ นอกจากขยะของตัวเองแล้วนักท่องเที่ยวยังช่วยเก็บขยะในทะเลติดไม้ติดมือมาด้วยทุกคนอย่างน้อย ๒-๓ ชิ้นไม่กลับขึ้นฝั่งตัวเปล่าสักคน มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและวิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนทั้ง ๑๔ กลุ่มมีไกด์ท้องถิ่น ที่ผ่านการฝึกอบรมและมีบัตรอนุญาตเป็นไกด์นำเที่ยวเป็นนักสื่อความหมายคอยดูแลความปลอดภัยและให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ”

โดยไกด์นำเที่ยว ๑ คน ต่อนักท่องเที่ยวไม่เกิน ๕ ในรอบปีที่ผ่านมาได้จัดอบรมไกด์และมักคุเทศก์ท้องถิ่นไว้ ๑๘๕ คนเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว

ประเด็นนี้จะเห็นได้ว่าชุมชนเขาหวงแหนทรัพยากรณธรรมชาติซึ่งเป็นสมบัติของชาติที่มีอยู่ในชุมชนของเขามากกว่าการกอบโกยผลประโยชน์กับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าเยียมชมปราสาทหินพันยอด ความสวยงามปฎิมากรรมธรรมชาติและกิจกรรมกรรมอื่นๆ ในทริปทั้งรอบในและรอบนอกอย่างน่าชื่นชม
 
 

 
บางท่านอาจจะคิดว่า ๘๐๐ บาทแพง เกินไปแต่การท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปากบาราไม่สามารถ “ขายเพชรในราคาเศษเหล็ก” ได้เพราะ ๘๐๐ บาทบริหารกลไกการดูแลทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดินไทยได้ สร้างโอกาสในการพัฒนาชุมชนและสร้างรายได้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างลงตัว

ขอขอบคุณนักท่องเที่ยวทุกท่านที่เคยมาเที่ยวปราสาทหินพันยอดและท่านที่กำลังตัดสินใจจะมา เงินท่าน ๘๐๐ บาทกระจายลงไปส่วนไหนของชุมชนบ้างลองมาดูกันนะครับ

๑)ค่าโดยสารเรือหางยาวประมงพื้นบ้านที่ใช้เวลาว่างจากการออกทะเลหาปลา ๒) ค่าเช่าเรือคายัค (จากการลงขันร่วมกันของชาวบ้านแต่ละหมู่บ้าน) เพราะในสายตานักท่องเที่ยวทั่วไปมองว่า ”แอดเวนเจอร์” ชุมชนมองว่าการดำเนินงานเป็นไปตามหลักการอนุรักษ์ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยังคงสมบูรณ์ดังเดิมให้มากที่สุดเพราะบางพื้นที่สุ่มเสียงที่จะนำเรือหางยาวเข้าไปในพื้นที่

๓) ค่าเช่าเสื้อชูชีพ ๔)ค่าประกันชีวิตการเดินทาง ๕)ค่าอาหารและอาหารว่างจากกลุ่มแม่บ้าน ๖)ค่าการตลาด
๗)ค่าตอบแทนไกด์นำเที่ยว ๘)ค่าธรรมเนียมใช้พื้นที่และค่าบริหารจัดการพื้นที่ ๙)เข้ากองทุนและทำกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเล (อย่างน้อย ๒.๕% บางกลุ่ม ๑๐% จากกำไรผลประกอบการ)

๑๐)ดูแลสังคมทุกกลุ่มมีกองทุนซากัต ๒%จากผลประกอบการบริจาคและช่วยหลือคนยากจน ๘ ประเภท บางกลุ่มตัดมา ๒๐ บาทจาก ๘๐๐ บาทให้กับเด็กกำพร้าของหมู่บ้าน

บางช่วงเงียบเหงา เพราะการท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปากบารา เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวแค่ปีละ ๖ เดือน ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม- ๑๕ พฤษภาคม ของทุกปี ตาม ประกาศของกรมอุทยานฯเท่านั้น ช่วงนี้กำลังดีบรรยากาศน่าเที่ยว

ขอขอบคุณคณะกรรมการที่ปรึกษาที่ช่วยผลักดัน นายอดินัน ปากบารา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี, นายอำเภอละงู, หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา, กำนันตำบลปากน้ำ, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงู, กำนันตำบลละงู, ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล, สถานีตำรวจน้ำ จ.สตูล (ปากบารา)

หัวหน้าสถานีตำรวจชุมชนปากน้ำ สถานีตำรวจภูธรละงู, ผู้บังคับการหน่วยปฏิบัติการ, หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ที่ ๔๕๒, กลุ่มรีฟการ์เดี้ยนไทยแลนด์ (สตูล) อาสาสมัครระบบนิเวศทะเล, กลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด

อาสาสมัครชุมชนด้านทรัพยากร, คุณบรรจง ทองสร้าง ผู้อํานวยการสถาบันวิจัย และพัฒนา, มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา, หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่36, ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอันดามันตอนล่าง (สตูล), ผู้อำนวยการโรงเรียนละงูพิทยาคม

ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพ ละงู, ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะโละใส, ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากบารา,ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลโอบอ้อม, ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากละงู, สมาคมรักษ์ทะเลไทย, ผู้อำนวยการโรงพยาลละงู

หัวหน้าศูนย์กู้ภัยและมวลชนสัมพันธ์ภาคใต้ตอนล่าง, คุณประยูร โขขัด ผู้จัดการบริษัทประชารัฐสามัคคีสตูล (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด, เครือข่าย รักจังสตูล, คุณสมพงษ์ หลีเคราะห์ ผู้แทนศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล อ.ธรรมรัตน์ นุตะธีระ ด้านทรัพยากรธรณีวิทยา/ฟอสซิล

และต้องขอขอบคุณนักท่องเที่ยวทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติของชาติที่มีอยู่ในชุมชนเพื่อส่งต่อลูกหลานต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าต่อกรณีปัญหาด้านการจัดการสถานที่ท่องเที่ยวโดยชุมชน ก่อนหน้านี้เคยเกิดปัญหากรณีที่ชาวบ้านในชุมชนคีรีวง ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ได้เปิดเผยความอัดอั้นจากปัญหานักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่ทะลักเข้าไปเที่ยวในชุมชน จนล่าสุดผู้ประกอบการท่องเที่ยวบางรายต้องปิดบริการชั่วคราวเพื่อทบทวนการจัดการท่องเที่ยวไม่ให้ส่งผลกระทบกับชุมชน
 


กำลังโหลดความคิดเห็น