xs
xsm
sm
md
lg

“ปธ.เฟล็กที” ชงกรมป่าไม้ปรับปรุง พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ หวังให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพงศา ชูแนม ประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน และเป็นธรรม-เฟล็กที
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “พงศา ชูแนม” ปธ.มูลนิธิธนาคารต้นไม้ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน และเป็นธรรม-เฟล็กที ยื่นข้อเสนอต่อกรมป่าไม้เพื่อปรับปรุง พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ หวังให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

วันนี้ (18 ม.ค.) นายพงศา ชูแนม ประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน และเป็นธรรม-เฟล็กที โดย ดร.เกริก มีมุ่งกิจ เลขาธิการเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน และเป็นธรรม-เฟล็กที ได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอต่อกรมป่าไม้ ในเรื่องโครงการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุง พ.ร.บ.ป่าไม้ พุทธศักราช 2484

โดยมีใจความ ระบุว่า ธนาคารต้นไม้ และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม-เฟล็กที เห็นว่า การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเป็นธรรม และเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากความใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 หลายส่วนผิดเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการปิดป่าสัมปทานไปแล้ว อีกทั้งปัจจุบันพื้นที่ป่าได้ถูกประกาศเป็นป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ฯ และมีงบประมาณในการดูแลรักษาอย่างสมควร และประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจมากแล้ว

จึงควรปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ 2484 ให้เป็นกฎหมายก้าวหน้า ในรูปแบบของการส่งเสริม และสร้างแรงจูงใจ ขจัดอุปสรรคการปลูกต้นไม้ และจัดการผลผลิตไม้ออกไป เพื่อประชาชนได้ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน มาทำการปลูกต้นไม้เป็นอาชีพกันมากขึ้น จึงเสนอให้ปรับปรุงแก้ไข

สำหรับประเด็นการเสนอให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ พ.ศ.2484 ได้ระบุตามเอกสารแนบท้ายไว้ว่า

1. มาตรา 4 (1) นิยามป่า ให้แก้เป็น “ป่าคือที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย”
เหตุผล : เพราะที่ดินที่ได้มาตามกฎหมายอื่น ก็ให้สิทธิในการจัดการต้นไม้ พืชผลอื่น และสิ่งอื่นเท่ากัน และเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ควรแก่การส่งเสริมให้สิทธิในการปลูกต้นไม้อย่างเสรีเป็นอาชีพ และควรนำข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายป่าไม้

2. มาตรา 4 (9) การชักลาก และการทำไม้ในป่าฯ (เติมคำว่า “ในป่า”) เพื่อไม่ให้ความหมายกำกวมถึงไม้นอกป่า ม.4 (10) (12) การนำไม้เคลื่อนที่ และค่าภาคหลวง ให้เติมคำว่า “ในป่า” ม.12 การอนุญาตไม้ที่มีรอยตรา “แต่ไม่ต้องมีกรณีไม้ขนาดเล็ก” เพราะไม่สะดวกในการจัดการมาตรา 1

3. ขนาดจำกัดของไม้ “ในกรณีไม้ที่ปลูกขึ้นไม่จำเป็นต้องกำหนดขนาดจำกัด”

4. มาตรา 14 “ค่าภาคหลวงยกเว้นกรณีที่เป็นไม้เกิดจากการปลูก”

5. หมวด 2 มาตรา 28 “ในที่ดินกรรมสิทธิ์ และที่ดินที่ได้มาโดยชอบ ประชาชนมีสิทธิรับรองความเป็นเจ้าของ และความมีอยู่ความถูกต้องของไม้หรือต้นไม้”

เหตุผล : ในร่างมาตรา 28 ให้เติมข้อความไว้ข้างหน้าว่า “ประชาชนสามารถรับรองไม้ด้วยตนเอง..แต่ถ้าประสงค์.. (ตามข้อความเดิม) เพราะเป็นการเคารพสิทธิในทรัพย์ และเพื่อแสดงช่องทางเลือกที่ชัด และไม่ให้เป็นภาระหน้าที่ของรัฐ ตามกฎหมายแพ่ง ม.145 และ 1,336 ควรตัดการรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ออกไป เพราะจะเกิดการทุจริตและค่าใช้จ่าย

6. มาตรา 41 ต้องตัดออกไปทั้งมาตรา เพราะเวลาการแปรรูปย้อนแย้งกันเอง เช่น การเผาถ่าน กลั่นอบ ต้องต่อเนื่อง และอนาคตเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligent) แทนมนุษย์

“ทั้งนี้ จะยื่นเสนอต่ออธิบดีกรมป่าไม้ ในวันที่ 20 มกราคม 2561 นี้” นายพงศา ชูแนม ประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้ กล่าวทิ้งท้าย
 











กำลังโหลดความคิดเห็น