xs
xsm
sm
md
lg

ธงขาวสะบัด! เผย “ลักษณ์” กดดัน กยท.ยอมยุติประมูลปุ๋ย สั่งโอนเงินตรงบัญชีชาวสวยยาง หวังตัดวงจรทุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอุทัย สินหลักทรัพย์ (ซ้าย) นายลักษณ์ วจนานวัช (กลาง) นายศิวะ ศรีชาย (ขวา)
 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “อุทัย” ชื่นชม “ลักษณ์” หลังกดดันให้ กยท.ยอมยกธงขาว ยุติประมูลจัดหาปุ๋ยแล้ว โอนเงินตรงเข้าบัญชีชาวสวนยางตามที่เรียกร้องคำวานนี้ ทั้งที่ช่วงเช้ายังให้รองผู้ว่าการฯ ประกาศเดินหน้าต่อแบบไม่ใส่ใจว่าจะมีทุจริตหรือไม่ ตีแผ่กระบวนการประมูลสีเท่าที่ “ศิวะ” ออกมาแฉไว้ตั้งแต่ เม.ย.ปีที่แล้ว
 
“ผมต้องขอขอบคุณ นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มีการประสานให้ดำเนินการตามหนังสือร้องเรียนของ สยยท.ที่เสนอจากการรวบรวมเรื่องราวร้องเรียนจากเกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยการให้ กยท.โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง และไม่ต้องไปบริหารจัดการให้เกษตรกรจัดซื้อปุ๋ยโดยการชี้นำ ซึ่งถ้าผิดพลาดอย่างไรเกษตรกรจะมาโทษเจ้าหน้าที่ กยท.ไม่ได้ เพื่อเป็นการตัดปัญหา”
 
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยต่อ “MGR Online ภาคใต้” โดยกล่าวข้อความข้างต้นทันทีที่ได้รับคำถามว่า เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (10 ม.ค.) ทราบว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีหนังสือสั่งการให้มีการโอนเงินช่วยเหลือค่าปุ๋ยให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง และให้ตัดขั้นตอนที่จะให้หน่วยงานในสังกัด กยท.ไปจัดประมูลซื้อปุ๋ยแล้วนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกร เพราะที่ผ่านมา มีข่าวสะพัดว่าอาจจะมีการทุจริตเกิดขึ้นได้
 

 
เรื่องนี้ถือเป็นผลงานแรกที่เข้าตาเกษตรกรชาวสวนยางอย่างมากของ นายลักษณ์ ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ทั้งที่ท่าทีของทั้งบอร์ด และผู้บริหาร กยท.ไม่ยินยอมอยากจะทำตามสักเท่าไหร่ โดยวานนี้ (10 ม.ค.) นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการ กยท.ในฐานะรองโฆษกการ กยท.ก็ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทำนองยืนยันว่า กยท.จะเดินหน้าจัดหาปุ๋ยให้เกษตรกรต่อไป และการประมูลปุ๋ยที่ดำเนินการมาโปร่งใส เป็นไปตามวัตถุประสงค์ พ.ร.บ.การยางฯ กำกับดูแลโดยคณะอนุกรรมการฯ ที่มาจากทั้งหน่วยราชการ และตัวแทนเกษตรกรทุกขั้นตอน สามารถตรวจสอบได้ พร้อมย้ำปัจจัยการผลิตไม่ใช่ทุนให้เปล่า ต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
 
“ตอนอ่านข่าวที่ทางนายสุนันท์ ออกมาชี้แจงเมื่อวานนี้จบลง ผมบอกตรงๆ ว่ารู้สึกโกรธมาก เพราะเต็มไปด้วยท่าทีที่ กยท.จะไม่ยอมหยุดกระบวนการที่ส่อว่าอาจจะมีการทุจริต ทำเหมือนกับว่า เงินเซสที่เอามาประมูลจัดซื้อปุ๋ยเป็นของตนเอง ทั้งที่เป็นเงินของเกษตรกรที่เรียกเก็บเป็นค่าสงเคราะห์ 2 บาท./กก. ที่ผ่านมา ก็มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ กยท.บางกลุ่มน่าจะหากินกับปุ๋ย ซึ่งก็มีสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นไปได้ คือ ราคาปุ๋ยที่ กยท.จัดหาทำไมแพงกว่าราคาในท้องตลาดถึงเกือบ 3 บาท/กก. แถมยังจะต้องนำส่งให้เกษตรกรบางพื้นที่ก็ไกลเอามากๆ เรื่องที่ควรทำไม่ทำ แต่เรื่องที่ไม่น่าจะทำกลับทำ” 
 
นายอุทัย กล่าวด้วยว่า จากการออกมาชี้แจงของผู้บริหาร กยท. ตนคงไม่ตอบ หรือท้วงติงอะไร โดยขอรอให้ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการทำผิดทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ดำเนินการสอบสวนเสร็จสิ้นตามที่ สยยท.ได้ร้องเรียนไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งถึงวันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างน่าจะได้รับการพิสูจน์ในระดับหนึ่ง
 

 
สำหรับเรื่องราวที่ส่อว่าอาจจะมีการทุจริตในกระบวนการจัดหาปุ๋ยใน กยท.นั้น นายศิวะ ศรีชาย ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง จ.พัทลุง ได้เคยนำเสนอเรื่องราวต่อสาธารณะไว้ตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.2560 เป็นการเตือนความจำเมื่อชาวสวนยางต้องใช้ปุ๋ยราคาแพงกว่าชาวบ้านว่า กยท.ได้พยายามพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบ และวิธีการในการดำเนินงานจัดหาปุ๋ยบำรุงให้เกษตรกรผู้ได้รับการปลูกแทน ทั้งปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์
 
ทั้งนี้ กยท.ประมาณการปริมาณปุ๋ยที่ใช้ในสวนปลูกแทนปีงบประมาณ 2560 จำนวนปุ๋ยเคมี 80,000 ตัน และปุ๋ยอินทรีย์ 100,000 ตัน โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 (1 เม.ย.-30 มิ.ย.2560) กยท.ประกาศกำหนดเปิดประมูล 1.ปุ๋ยเคมี 34,724.20 ตัน 2.ปุ๋ยอินทรีย์ 30,000 ตัน ด้วยวิธีการประมูลทางอีเล็กทรอนิกส์
 
ในการเปิดประมูลซื้อปุ๋ยในปี 2560 ที่ผ่านมา ในไตรมาส 1 และ 2 กยท.ใช้วิธีการให้สถาบันเกษตรกร และเกษตรกรเจ้าของสวนยางเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดหาเอง แต่ในไตรมาสที่ 3 ได้มีการเปลี่ยนแปลง กยท.ได้มีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit : BU) ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อหารายได้มาเป็นค่าบริหาร กยท. ซึ่งติดลบประมาณ 1,000 ล้านบาท/ปี
 
โครงการดำเนินการจัดหาปุ๋ยบำรุงให้สถาบันเกษตรกร จึงถูกกำหนดให้เป็นภารกิจแรกเพื่อหารายได้ของ BU โดย กยท.โดยมีเป้าหมายกำไรจากค่าดำเนินการ 20 สตางค์/กก. กระสอบละ 10 บาท หรือตันละ 200 บาท และคาดหวังว่า BU จะมีโอกาสสร้างรายได้ให้แก่ กยท.ถึง 12.9 ล้านบาท
 
โดยยึดหลักสำคัญที่เอื้อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย คือ 1.บริษัทมีความมั่นใจเรื่องการชำระเงิน สามารถขายสินค้าในปริมาณมากได้ 2.เกษตรกรได้สินค้ามาตรฐาน ในราคาถูกกว่าท้องตลาด 3.หน่วยธุรกิจ (BU) ได้กำไรจากค่าการจัดการ
 
การเริ่มต้นธุรกิจแรกก็พลาดเป้าหมายเพราะระยะเวลาดำเนินการกระชั้นชิด และน้อยเกินไป กยท.ประกาศขายซองประกวดราคา 30 มี.ค.2560 โดยกำหนดขายซองระหว่าง 30 มี.ค.-3 เม.ย.รวม 5 วัน ซึ่ง 2 ใน 5 วันนั้นเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ระเบียบกำหนดให้ประกาศขายซองอย่างน้อย 3-30 วัน กยท.เลือกที่จะขายซอง 3 วันทำการ
 
โดยในวันแรกของการขายซองเป็นวันเดียวกันกับวันที่ประกาศ วันที่ 2 ของการขายซองได้มีการประกาศแก้ไขคุณสมบัติของผู้เข้ายื่นราคาประมูล วันที่ 3 และ 4 ของการขายซองประมูลเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ วันที่ 5 วันสุดท้ายของการขายซองประมูลเป็นวันปิดการขายซองประมูล
 
การประมูลปุ๋ยที่มีมูลค่ารวมมากกว่า 556 ล้านบาท แต่มีระยะเวลาประกาศขายซองเพียง 5 วัน ระหว่างวัน โดยมีผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลปุ๋ยเคมี 5 ราย และปุ๋ยอินทรีย์ 6 ราย เมื่อดำเนินการเปิดซองเสนอราคา และสรุปผลการประมูลซื้อปุ๋ยของ กยท.ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ตอนตอนกลาง และภาคใต้ตอนล่าง ปรากฏว่า เป็นราคาที่ได้แพงกว่าท้องตลาด และสูงกว่าราคาในพื้นที่อื่นๆ ที่ดำเนินงานโดยหน่วยงานอื่นของ กยท.เองด้วย
 
โดยเฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ราคาโดยทั่วไปประมาณไม่เกินตันละ 3,000 บาท รวมค่าขนส่งภาคตะวันออประมาณ 300 บาท/ตัน ภาคใต้ตอนบนประมาณ 500 บาท/ตัน ภาคใต้ตอนกลางประมาณ 800 บาท/ตัน และภาคใต้ตอนล่างประมาณ 1,200 บาท/ตัน แต่ กยท.ดำเนินการประมูลได้ในราคาตันละ 4,900 บาทขึ้นไปทั้งหมด
 
ไม่เพียงเท่านั้น เกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ไม่ยอมรับปุ๋ยอินทรีย์ผง เพราะจะมีการฟุ้งกระจาย ไม่สะดวกในเวลานำไปใช้ แต่การประมูลปุ๋ยอินทรีย์ไม่มีการระบุว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ประเภทใด ระบุไว้เพียงว่า ไม่เป็นปุ๋ยอินทรีย์เหลว จึงคาดว่าน่าจะได้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดผง ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้
 
และที่สำคัญค่าดำเนินการ ค่าบริหารจัดการ รวมค่าขนส่ง บวกกำไร ซึ่งในปีก่อนๆ จะซ่อนอยู่ในรายได้ของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกรต่างๆ โดยมี สกย.เป็นผู้กำหนดบทบาท และชักใยอยู่เบื้องหลัง ร่วมกับบริษัทค้าปุ๋ย 
 



กำลังโหลดความคิดเห็น