xs
xsm
sm
md
lg

2560..ปีแห่งพลังพลเมืองออนไลน์ขย่มบัลลังก์ คสช. “พอกันที” กับคำอ้างว่าศิวิไลซ์ แต่กลับทำลายชุมชน! (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้..รายงาน
ช่วงเปิดศักราชปี 2560 ประเทศไทยเผชิญอุทกภัยต่อเนื่องมาจากปลายปี 2559 ต่อเนื่องยันขึ้นปีใหม่ หลายจังหวัดถูกน้ำท่วมขังนาน บางแห่งน้ำท่วมมากกว่า 1 ครั้งในช่วงรอยต่อของปี โดยกินเวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน

ย้อนกลับไปคืนวันที่ 31 ธ.ค.2559 สิ้นเสียงจุดพลุ เคาท์ดาวน์ต้อนรับศักราชใหม่ไม่ถึงอึดใจ ฝนห่าใหญ่ก็เทลงมาราวฟ้ารั่ว ในขณะที่ภาคใต้หลายจังหวัดมีน้ำเต็มเขื่อน เต็มอ่างเก็บน้ำเป็นทุนเดิม ฝนที่เทลงมาไม่ยั้งตั้งแต่ 00.00 นาฬิกาของคืนเริ่มศักราชใหม่ ส่งผลให้น้ำปริมาณมหาศาลไหลทะลักไหลเข้าท่วมไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ดอน

กิจกรรมล่องแก่งต้อนรับเทศกาลปีใหม่ของนักท่องเที่ยวเป็นอันต้องยกเลิกไปด้วย สายน้ำทุกสายที่รับน้ำจากเทือกเขาทั่วภาคใต้ในเวลานั้น มีแต่น้ำผสมดินโคลนไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ราบ

ปริมาณน้ำที่มากผิดสังเกตเผยให้เห็นข้อเท็จจริงอีกด้านของการบริหารจัดการน้ำ อันมีชะตากรรมของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มเป็นเดิมพัน

ปริมาณน้ำมหาศาลถูกกักไว้เพื่อทยอยปล่อยในรุ่งเช้าของวันที่ 1 ม.ค.2560 เพื่อรองรับกิจกรรมล่องแก่งของนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่ทุกปีมีรายได้มหาศาล แต่เทศกาลปีใหม่ของศักราช 2560 ที่ผ่านมา ให้บทเรียนเรื่องการบริหารจัดการน้ำภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
 

 
*** รายงานข่าวจากชาวบ้านสะเทือนวงการสื่อกระแสหลัก

ปี 2560 เทคโนโลยีดิจิตอลที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลสะเทือนต่อสังคมข้อมูลข่าวสารมาตั้งแต่เริ่มย่างเข้าสู่ปีใหม่ โดยจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มหนักในวันที่ 5-6 ม.ค.2560 ตัวอย่างจากเหตุการณ์น้ำท่วมใน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ภาพข่าวเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่น้ำเริ่มทะลักเข้าท่วมชุมชนในเขตเมือง และขยายไปสู่ย่านชนบทอย่างรวดเร็ว

มีประชาชนถ่ายภาพและคลิปวิดีโอนำเสนอผ่านแอปพลิเคชันสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและไลน์อย่างต่อเนื่องเพื่อขอความช่วยเหลือ

สื่อสังคมออนไลน์หลายสำนักข่าว รวมทั้ง “MGR Online ภาคใต้” ก็ได้เกาะติดสถานการณ์และส่งนักข่าวลงพื้นที่ทำการรายงานสถานการณ์สด ผ่านทางโปรแกรมถ่ายทอดสดทางเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งมีความสะดวกต่อการรายงานข่าว ตอบสนองความเร่งด่วนของสถานการณ์ที่ประชาชนกำลังต้องการความช่วยเหลือโดยด่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าสื่อกระแสหลัก

ทันทีที่ข่าวสถานการณ์น้ำท่วมใน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช แพร่ภาพสดไปทั่วโลก สังคมออนไลน์ในกลุ่มผู้ใช้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ประสบภัย แต่ต้องจากบ้านไปทำงานในจังหวัดอื่นๆ ประชาชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่ตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของสื่อกระแสหลัก โดยพุ่งเป้าไปที่สื่อฟรีทีวีที่ยังไม่ให้ความสำคัญกับข่าวความเดือดร้อนของชาวบ้าน จากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันอย่างทันท่วงที

หลายช่องยังคงนำเสนอละคร หรือรายการบันเทิงแพร่ภาพสดไปในพื้นที่ที่ระดับน้ำกำลังเพิ่มสูง และทีวีกำลังจะดูไม่ได้อีกต่อไป เมื่อกระแสไฟฟ้าถูกตัดเพื่อป้องกันไฟลัดวงจร

จากความสงสัยถึงประสิทธิภาพในการทำงานของสื่อมวลชนมืออาชีพ ซึ่งควรให้ความสนใจต่อความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย มากกว่าการนำเสนอรายการบันเทิง ค่อยๆ ลุกลามกลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน กระทบไปถึงคะแนนความนิยมและผลประกอบการของสื่อมวลชนกระแสหลักหลายสำนัก ซึ่งผลกระทบนั้นปรากฏชัดในช่วงปลายปี 2560 คือผลประกอบการอันเลวร้ายถึงขั้นล่มสลายของสื่อมวลชนหลายสำนัก

ขณะที่กระแสความนิยมและความคาดหวังของสังคมต่อสื่อออนไลน์กลับยิ่งขยายตัว และเพิ่มสูงขึ้นชนิดที่สวนทางกันอย่างชัดเจน หลังเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ช่วงปลายปี 2559-2560 คลี่คลายลง ภาคประชาชนจึงมีความสนใจที่จะพัฒนาทักษะเพื่อใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสารกับสังคมให้มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

จนเกิดการสร้างพลังเครือข่ายการให้ความช่วยเหลือโดยภาคประชาชนด้วยกันเอง โดยไม่ต้องรอพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงด้านเดียว
 

 
*** เกิดพลังสังคมออนไลน์สร้างโรงเรียนหนีน้ำท่วมที่รัฐไม่ให้งบฯ

“MGR Online ภาคใต้” สื่อออนไลน์ในเครือผู้จัดการ ซึ่งมีรากฐานการพัฒนาสื่อดิจิตอลมาตั้งแต่ปี 2542 ฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคนานัปการ ถึงปี 2560 ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้ความสำคัญกับประเด็นชายขอบที่โดดเดี่ยวและห่างไกลจากการรับรู้ของสังคม

ภาพที่ชัดเจนคือ ชุมชนบ้านปากบางกลม-ท่าเข็น ในพื้นที่ ม.4 และ ม.7 ต.ชะอวด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งปี 2560 ที่ผ่านมาถูกน้ำท่วมหนักจากปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดในช่วงที่มีปริมาณน้ำมหาศาลจากฝนตกหนัก ด้วยความที่เป็นพื้นที่ลุ่มปลายน้ำ เมื่อเกิดน้ำท่วมหนักและท่วมขังยาวนาน ชุมชนจึงถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง

ข้อมูลข่าวสารปูมหลังของการตั้งชุมชนแห่งนี้ถูกสื่อสารไปยังสังคมวงกว้างทางเว็บไซต์ “MGR Online ภาคใต้ (manager.co.th)” อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมระลอกแรกของปีในช่วงก่อนสิ้นปี 2559

การนำเสนอข่าวสารตลอดจนปฏิกิริยาตอบกลับจากผู้ติดตามข่าวสารมีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อผู้สื่อข่าวลงพื้นที่รายงานแพร่ภาพสด ด้วยการนั่งเรือเข้าไปรายงานมาจากที่เกิดเหตุ ซึ่งขณะนั้นชุมชนดังกล่าวเป็นพื้นที่เข้าถึงยาก เพราะน้ำท่วมสูงและไหลแรง ยากต่อการเดินทางเข้าช่วยเหลือ หรือทำข่าวของสื่อมวลชน

เมื่อสังคมได้เห็นความเสียหายของโรงเรียนประถมศึกษาชื่อ “โรงเรียนบ้านปากบางกลม” ม.4 ต.ชะอวด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งรับรู้จากชาวบ้านและผู้บริหารโรงเรียนในเวลาต่อมาว่า อาคารเรียนที่นี่กำลังผุพังเพราะถูกน้ำท่วมขังทุกปี แต่ปี 2560 ท่วมหลายรอบ และระดับน้ำสูงจนอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนทั้งหมดได้รับความเสียหาย

“ปีนี้หนักมาก ที่ผ่านมาก็หนัก แต่ไม่เท่าปีนี้ เพราะที่ผ่านๆ มาเสียหายไม่มาก แต่อาคารเรียนก็จมน้ำอยู่แบบนี้ ทำเรื่องชี้แจงเหตุผลความเดือดร้อนของนักเรียนและชาวบ้านไปหลายครั้ง ทางผู้ใหญ่ก็ไม่ตอบสนองใดๆ ต่างจากโรงเรียนที่ไม่ถูกน้ำท่วม ไม่เคยมีน้ำท่วม แต่กลับได้รับการสนับสนุนงบประมาณสร้างอาคารเรียน 2 ชั้น แต่โรงเรียนที่สมเหตุสมผลกลับถูกละเลย ก็ได้แต่สงสารเด็กๆ กับชาวบ้านค่ะ พยายามช่วยกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

นางขวัญจิตต์ เนียมเกตุ ผู้อำนวยการโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้มีดีกรีเป็นถึงว่าที่ด๊อกเตอร์สายบริหารการศึกษา ซึ่งเป็น ผอ.หญิงคนแรกของโรงเรียนและเป็นคนแรกที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งจากชาวบ้านและผู้ปกครองของเด็กบอกเล่าความตั้งใจของโรงเรียนให้สังคมรับทราบ จนนำมาสู่การระดมทุนจากสังคมวงกว้างเพื่อสร้างอาคารเรียนใหม่ให้กับโรงเรียนแห่งนี้

โดยมีผู้คนจากหลากหลายวงการร่วมมือให้ความช่วยเหลือผ่านศูนย์ประสานงานทางเพจ “ความเคลื่อนไหวประชาชนใต้” ที่มีบทบาทสำคัญในการบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคประชาชนในช่วงปลายปี 2559 - 2560

ปัจจุบันอาคารเรียนคอนกรีตชื่อ “อาคารร่วมบุญ” กำลังก่อสร้างใกล้ๆ กับอาคารไม้หลังเก่าของโรงเรียนบ้านปากบางกลม คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้แม้ว่าปลายปี 2560 ที่ผ่านมาโรงเรียนและชุนแห่งนี้ยังต้องประสบกับสภาวะน้ำท่วมขังอีกครั้งดังเช่นทุกๆ ปี แต่ครั้งนี้ชาวบ้านมีขวัญและกำลังใจกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านๆ มา
 

 
*** อนาถใจ! ไทยแลนด์ 4.0 วิธีคิดภาครัฐยังจมอยู่ในวังวนเดิม

เมื่อศักราชใหม่เปิดฉากมาด้วยปัญหาน้ำท่วม เหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องนับจากนั้น จึงเป็นวาระว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ จากต้นน้ำ สู่ปลายน้ำ และจะทำทั่วทั้งประเทศ โดยกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ

สำหรับในพื้นที่ภาคใต้นั้น ในขณะที่สถานการณ์ยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะปกติเท่าไหร่นัก หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ได้นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้ง ด้วยโครงการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำใน จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช และ จ.พัทลุง จำนวนไม่ต่ำกว่า 9 แห่ง

โดยมีการผลักดันโครงการนำร่อง “เขื่อนคลองวังหีบ” อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และ “เขื่อนโตนสะตอ” อ.ป่าบอน จ.พัทลุง

การผลักดันวิธีแก้ปัญหาจากภาครัฐ โดยอาศัยช่วงจังหวะที่ชาวบ้านกำลังรวดร้าวจากความเสียหาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านค้าในชุมชนเขตเมืองที่ถูกน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งอันที่จริงควรให้การสนับสนุนโครงการแก้ปัญหาตามวิธีการที่นำเสนอโดยภาครัฐ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมล้วนมีการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมาก่อนแล้วทั้งสิ้น

คำถามที่สำคัญของภาคประชาชนคือ เหตุใดเขื่อนที่สร้างไปแล้ว จึงไม่สามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวอ้างได้

ภาคประชาชนกลับตั้งคำถามถึงการปล่อยปละละเลยให้มีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าเขา โดยเฉพาะจากโครงการขนาดใหญ่ที่ภาครัฐมีส่วนในการสนับสนุน อาทิ โครงการสร้างเขื่อน สัมปทานทำเหมือง เป็นต้น อันนำมาสู่กระแสการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ เพื่อรักษาสมดุลพลวัตรของธรรมชาติไม่ให้ถูกทำลาย หยุดยั้งภัยพิบัติไม่ให้เกิดหนักหน่วงไปมากกว่านี้

ประกอบกับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ต้องย้ายชุมชนหลายร้อยครัวเรือนออกจากพื้นที่ เมื่อการพัฒนาเริ่มต้นด้วยการหยิบยื่นความเจ็บปวดให้กับประชาชน

ดังนี้แล้วเพลงท่อนที่ร้องว่า “เราจะทำตามสัญญา” เพื่อ “คืนความสุขให้ประชาชน” จึงถูกสัมผัสได้จากประชาชนที่เคยให้การสนับสนุนรัฐบาล คสช.ว่า เป็นสิ่งที่เลื่อนลอย จับต้องไม่ได้ และห่างไกลจากความเป็นจริงเข้าไปทุกที
 

 
*** รู้นะคิดอะไรอยู่?! อย่ามา “ตู่” กับพลเมืองยุค 4.0

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่สื่อสารกับสาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง เขาเชื่อว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะเลวร้ายกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา สิ่งที่กลุ่มทุนคิดจะถูกผลักดันผ่านอำนาจเบ็ดเสร็จของคณะรัฐประหารในนาม คสช. โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่รัฐบาลจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งๆ ที่ทั่วโลกกำลังมุ่งไปหาพลังงานสะอาด

แต่รัฐบาลไทยกลับนำวาทกรรม “ถ่านหินสะอาด” มาอำพรางความจริง

เป็นที่น่าสังเกตว่า การผลักดันโครงการสร้างเขื่อน 9 แห่ง ซึ่งอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ประชาชนกำลังเผชิญกับสภาพน้ำท่วมในหน้าน้ำหลากตามฤดูกาล บรรยากาศของสถานการณ์คล้ายกับช่วงที่มีการเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้วยการสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” เพิ่มหลายแห่งในภาคใต้ ซึ่งเกิดขึ้นรุ่งเช้าหลังจากคืนก่อนหน้านั้นในเดือนพฤษภาคม 2556 เกิดไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ในช่วงหัวค่ำ อันทำให้ประชาชนตระหนก เพราะไฟดับนาน

แถมหน่วยงานที่รับผิดชอบกลับอ้างหน้าตาเฉยว่า ไฟดับเพราะผลิตไฟได้ไม่พอกับปริมาณที่ประชาชนต้องการใช้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีกต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเท่านั้น

แต่ข้อมูลถูกเปิดเผยโดยเครือข่ายภาคประชาชนมาก่อนหน้านั้นแล้วว่า กลุ่มทุนพลังงาน ปิโตรเคมีและหน่วยงานผลิตไฟฟ้าของไทยที่แปรรูปไปเป็นบริษัทมหาชนแล้ว ได้ไปสัมปทานเหมืองถ่านหินไว้ทั่วโลก ก่อนหน้าที่จะมาเปิดเวทีขอฟังความคิดเห็นจากประชาชนว่า ควรสร้างหรือไม่สร้างอย่างไรด้วยซ้ำไป

“เรื่องเขื่อนก็เช่นเดียวกัน โรงไฟฟ้าถ่านหรือโรงไฟฟ้าใดๆ ที่รัฐจะสนับสนุนให้สร้างเพิ่มนั้น เป็นไปตามแผนผลักดันอุตสาหกรรมหนักให้เกิดขึ้นกระจายเต็มในพื้นที่ภาคใต้ทั้งสิ้น”

นายประสิทธิ์ชัยกล่าวว่า เมื่อโครงสร้างพื้นฐานพร้อมก็ง่ายที่จะหาเงินจากโรงงานต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำอย่างประเทศไทย รวมถึงอีกหลายชาติในภูมิภาคอาเซียน

“นี่คือสิ่งที่รัฐบาลสมคบคิดกับนายทุนมาทุกยุคสมัย แม้กระทั่งเวลานี้ทุกอย่างก็ยังคงเป็นไปตามยุทธศาสตร์หรือแผนการที่กลุ่มทุนวางไว้ ซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยั่งยืนเลย เพราะแค่เริ่มต้นก็ต้องไล่ประชาชนออกไปจากบ้านเกิด นั่นหรือคือการคืนความสุข”

ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นี่คือที่มาของคำถามถึงความไม่ชอบธรรมของกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ยุติธรรมกับประชาชน
 

 
*** แนวโน้มภาคประชาชนต่างสีจะสมานฉันท์เพื่อปกป้องมาตุภูมิ

กล่าวได้ว่าหากปี 2560 ผ่านไปโดยไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ของภาคประชาชนเกี่ยวกับการแก้กฎหมาย หรือการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาล คสช. ซึ่งนับเนื่องจากนี้ไปอีก 10 ปี หรือ 20 ปี ผืนแผ่นดินที่มากมายไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ที่เป็นผลิตอาหารที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยที่ป้อนให้กับทั่วโลก สิ่งเหล้านี้จะเปลี่ยนแปลงไปชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้า

ผืนแผ่นดินด้ามขวานทองของไทยจะทยอยกลายเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งเรียงรายกระจายต่อเนื่องเต็มแผ่นดิน 2 ฝั่งทะเลอย่างแน่นอน ว่ากันว่าจะใหญ่โตมโหฬารกว่านิคมอุตสาหกรรมที่เห็นแจ้งเกิดให้ประจักษ์ในภาคตะวันออกมาแล้วหลายเท่าตัวเลยทีเดียว

เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินกระจายในหลายพื้นที่ของภาคใต้ และสังคมจะเปลี่ยนแปลงหน้ามือเป็นหลังมือไปตลอดกาล ขณะที่พื้นที่ทางภาคเหนือ อีสาน และภาคตะวันออก ก็จะมีสภาพไม่แตกต่างกัน

ณ เวลานี้สิ่งที่อ้างว่า “อุตสาหกรรมหนัก” จะนำมาซึ่ง “ความศิวิไลซ์” ที่ชุมชนในพื้นที่ คนภาคใต้ รวมถึงคนไทยทั้งประเทศจะจะได้รับนั้น ทำไมที่ผ่านมากลับเกิดการรวมตัวเคลื่อนไหวคัดค้านกันอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง หรือว่าแท้จริงแล้วมันคือการที่รัฐกำลังผลักดันให้แจ้งเกิด
 
 
“ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก”

เรื่องนี้ นายปิยะโชติ อินทรนิวาส บรรณาธิการข่าวภาคใต้เครือผู้จัดการ-NEWS 1 สื่อมวลชนที่ติดตามแผนพัฒนาภาคใต้มายาวนาน เปิดเผยว่า ภูมิภาคอาเซียนเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางของโลก เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในทุกๆ ด้านทั้งเศรษฐกิจ การทหารและพลังงาน

นักลงทุนในตลาดทุนเสรีทั่วโลกที่คุมโดยทุนใหญ่ไม่กี่กลุ่ม พวกเขาจ้องจะหาประโยชน์จากยุคสุดท้ายของพลังงานฟอสซิล และที่ภาคใต้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญเส้นสุดท้ายที่ยังไม่มีกลุ่มทุนไหนมามีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในบริเวณนี้ในด้านการบริหารจัดการโลจิสติกโลก ซึ่งจะสร้างกำไรมหาศาลให้กับการได้เป็นเจ้าของโครงการลงทุนขนาดใหญ่

ช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ที่ผานมาสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีกำหนดนำ “โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จึงเคลื่อนขบวนไปเคลื่อนไหวคัดค้านประชิดทำเนียบรัฐบาล

พร้อมกันนั้นได้เกิดปรากฎการณ์ถ่ายทอดสดการชุมนุมของภาคประชาชนผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คทางแฟนเพจ “MGR Online ภาคใต้” และ “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของภาคประชาชนภาคใต้

สถานการณ์การต่อสู้แบบอหิงสาของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ถูกแพร่ภาพสดสู่สังคมวงกว้างอย่างต่อเนื่อง แม้ถูกสกัดกั้นจากอุปกรณ์รบกวนสัญญาณอินเทอร์เน็ตบนเครื่องโทรศัพท์มือถือ แต่ประสิทธิภาพของเครื่องมือรัฐบาลก็ไม่สามารถหยุดยั้งสังคมข่าวสารยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้โดยสิ้นเชิง

จนกระทั่งเกิดการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม และจับกุมชาวบ้านตัวแทนภาคประชาชนที่ไปเคลื่อนไหว ข่าวสารได้เผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว สื่อกระแสหลักที่เทอะทะและไม่เป็นอิสระในการรายงานข่าว ด้วยเงื่อนไขของช่วงเวลาในการเผยแพร่ข่าวสารที่ขึ้นอยู่กับผังรายการของสถานีข่าว ภาพข่าวสดๆ ในช่วงเหตุการณ์สำคัญที่ชาวบ้านถูกกระทำจากอำนาจรัฐจึงปรากฏอยู่บนสื่อออนไลน์ของภาคพลเมืองเป็นส่วนใหญ่

แม้ประชาชนจำนวนมากจะมีทักษะทำได้เพียงนำกล้องเข้าไปอยู่ใกล้ๆ และบันทึกความจริงมาให้ได้มากที่สุด แต่นั่นก็เกินพอที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากจะไม่นิ่งเฉยอีกต่อไป

เมื่อภาคประชาชนที่อาจจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มว่า เป็นพวกเสื้อเหลืองถูกจับกุมไปในเวลาต่อมา มวลชนที่เหลือก็ถูกบีบให้มานั่งรวมกันอยู่บนถนนแคบๆ ริมคลองข้างทำเนียบรัฐบาล ในความว้าเหว่ที่เพื่อนร่วมขบวนประชาชนถูกจับไป กำลังใจในการต่อสู้กำลังจะถูกทำลายลงไปด้วยนั้น ปัญญาชนจากหลากหลายองค์กรที่ก่อนหน้านี้ถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดง พวกเขาต่างทยอยเดินทางมาถึงและดึงสิ่งที่กำลังจะสูญเสียไปนั้นกลับคืนมาสู่ขบวนเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมของประชาชนในที่สุด

ขณะที่สังคมออนไลน์สุดกลั้น ถึงขนาดมีคำว่า “ทรราช” เกลื่อนหน้าเฟซบุ๊กและไลน์ รุ่งเช้าวันต่อมาผู้ถูกจับกุมตัวทั้งหมดได้รับอิสรภาพ และกลับคืนเรือนอย่างปลอดภัย

ตอกย้ำคำพูดของ นายกาจ ดิษฐาอภิชัย ปราชญ์ชาวบ้าน จ.พัทลุง ที่เคยถูกพะยี่ห้อแกนนำแดงภาคใต้ เขาได้กล่าวไว้เมื่อราวปี 2555 ว่า "เรื่องปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของบ้านเมืองไว้ให้ลูกหลาน ไม่มีเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง"

ทั้งนี้ผลจากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินในวันนั้น จุดประกายอะไรบางอย่างให้สังคมภาคประชาชนได้มีความหวัง ว่าวันนั้นจะมาถึงสักวันในไม่ช้า...
 

 
*** 2560 ปีแห่งการลุกฮือท้าทายอำนาจที่ไม่เป็นธรรม

กล่าวโดยสรุป ตลอดห้วงปี 2560 ต้องนับว่าคือ "ปีแห่งการลุกฮือของภาคประชาชน" เพื่อเคลื่อนไหวในเรื่องเดิมๆ ที่เรียกร้องมานาน ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจับกุมคุมขังหรือข่มขู่คุกคามเพียงใด แต่การเคลื่อนไหวในประเด็นที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบและสร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาลต่อชุมชนชายขอบ แต่สิ่งเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถทะลวงให้ไปถึงหัวใจของประชาชนที่รักความเป็นธรรมได้ตามที่ผู้มีอำนาจคาดหวังไว้

หลังเหตุการณ์ม็อบต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ต่อมารัฐผลักดัน“โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ที่ฝั่งอันดามันในพื้นที่ อ.ละงู จ.สตูล เพื่อเชื่อมกับ “โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” ทางฝั่งอ่าวไทยในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานแพ็คเกจเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา และเขื่อน 9 แห่งในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง

โดยมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ขึ้นสำหรับโครงการท่าเรือน้ำปากบาราที่โรงเรียนในพื้นที่ ขณะเวทีรับฟังความคิดเห็นของโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 จัดในโรงแรมหรูกลางเมืองสงขลา แต่ทว่าประชาชนจำนวนมากที่คัดค้านโครงการได้เดินทางไปไปก่อนหน้าการประชุมจะเริ่ม เพื่อประกาศว่าจะไม่ให้มีโครงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด นำมาสู่ชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
 

 
ขณะที่ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้ทำกิจกรรม “เทใจ..ให้เทพา” เดินเท้าจากชุมชนบางหลิง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา อันเป็นชุมชนเป้าหมายที่บ้านเรือนนับพันจะถูกไล่รื้อย้ายออก เพื่อนำพื้นที่ไปใช้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น พวกเขาเดินเท้าเพื่อไปขอเข้าพบพูดคุยและยื่นหนังสือคัดค้านโครงการต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้นำ ครม.มาสัญจรที่ จ.สงขลา ช่วงใกล้จะล่วงพ้นปี 2560 ช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

แต่ปรากฏว่าถูกตำรวจปราบจลาจลเข้าสลายขบวนและจับกุมผู้ร่วมเดินเท้าไป 16 คน ในจำนวนนี้มีกระทั่งเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเดินเรื่องส่งฟ้องศาล จ.สงขลา

คำสั่งสลายการชุมนุมจากรัฐบาล คสช.ครั้งนี้ก็เช่นกัน ภาพการปราบปรามถูกเผยแพร่สดตลอดเวลา ประชาชนรับรู้รับทราบตลอดปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ เห็นเด็กสาวที่วิ่งพลาง ร้องไห้พลาง ตามพ่อที่ถูกตำรวจรัดคอ รัดมือ รัดแขน คุมตัวขึ้นรถยนต์ไป โดยทำราวกับเป็นอาชญากรตัวร้ายถึงปานนั้น

“เราจะไม่ทนอีกต่อไป”

นี่คือประโยคที่พลเมืองออนไลน์หลากหลายสาขาอาชีพ ผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ ยึดมั่นในความยุติธรรม และเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศได้ประกาศไว้เป็นกระแสดังสนั่นไว้ในสื่อสังคมออนไลน์

บรรยากาศการบริหารประเทศและชะตามกรรมของคณะรัฐบาล คสช.ในช่วงท้ายปี 2560 จึงดูว้าเหว่และวังเวงยิ่งนัก เนื่องเพราะ 3 ปีพ้นผ่านไปที่รัฐบาลทำได้แต่สร้าง “ความขมขื่นใจ” โดยแทบไม่มีการ “คืนความสุข” ให้กับภาคประชาชนเลยก็ว่าได้
 


กำลังโหลดความคิดเห็น