xs
xsm
sm
md
lg

“เทใจให้..คนเทพา” เรื่องราวของ “คนรากหญ้า” ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องไป / มุหัมหมัด ล่าเม๊าะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
มุหัมหมัด  ล่าเม๊าะ
ประธานกลุ่มออมทรัพย์พัฒนาบ้านพ้อแดง / นักศึกษาปริญญาโท ม.อ.ปัตตานี
 --------------------------------------------------------------------------------
 
 
ผมได้ติดตามข่าวคราวเรื่อง “โครงโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามา” ตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้
 
บางครั้งก็ได้ไปร่วมกิจกรรมที่พวกเขาจัดขึ้น เช่น การละหมาดฮะยัด การจัดเวทีอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พยายามได้ก็จะพยายามติดตามกิจกรรมต่างๆ ที่หน่วยงานอื่นๆ จัดจัดขึ้นด้วย เช่น สถาบันการศึกษาของรัฐ จากสื่อต่างๆ สอบถามหรือพูดคุยกับนักวิชาการ จากเวทีการประชุมสัมมนา โดยเฉพาะเวทีการตีแผ่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
 
รวมถึงจากการสอบถามคนพื้นที่ ทั้งรู้จักและไม่รู้จัก แต่เน้นบุคคลที่น่าชื่อถือและไม่เห็นแก่ได้ บางคนบอกว่า “เวลาแจกของเราก็รับ แต่ส่วนลึกแล้วเราไม่เห็นด้วย” จนในที่สุดผมเริ่มเห็นใจและเข้าใจพวกเขามากขึ้นๆ
 
หลายครั้งที่รับฟังข่าวจากสื่อกระแสหลัก มักจะไม่ตรงกับความเป็นจริงในพื้นที่ ทั้งที่พวกเขาเป็นคนดั่งเดิมที่เกิด แก่ เจ็บและตายอยู่ที่นั่น และยืนยันได้ว่าบรรพบุรุษหรือญาติพี่น้องของเขาก็ตายที่นั่นมามากแล้ว ซึ่งมีกุโบร์เป็นหลักฐานยืนยัน

พวกเขามีโรงเรียนมีปอเนาะเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เขามีมัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชนเป็นที่ทำอีบาด๊ะ(กิจกรรมทางศาสนบัญญัติ) เป็นศูนย์รวมที่พึ่งทางด้านจิตใจ และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมอื่นๆ ในชุมชน
 
มีทะเลที่อุดมสมบูรณ์จนบางคนบอกว่า “เป็นเหมือนตู้กับข้าวในครัว” หรือ “เป็นเหมือนตู้เอทีเอ็มยามที่ต้องการเงิน” หรือ “เป็นเหมือน กยศ.ที่พวกเขาใช้เป็นแหล่งเงินทุนการศึกษาของลูกหลาน” หรือ “เป็นแหล่งอาหารไม่เฉพาะคนในพื้นที่ แต่เป็นแหล่งอาหารให้กับคนไทยด้วยนะ” สารพันคำพูด หลากคำพรรณนาที่ได้ยินจากพวกเขา
 
ด้วยความที่บ้านบางหลิง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา มีท้องทะเลที่สมบูรณ์ จนชาวบ้านสามารถจับปลาด้วยมือเปล่าได้ เคยกะปิที่ทำจากกุ้งเคนบาหลิงอร่อยมาก และที่นั่นเป็นชุมชนที่ร่มเย็นเป็นสุข ผู้คนดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายตามวิถีชีวิตของมุสลิม ที่สำคัญเป็นชุมชนที่ยืนอยู่บนฐานของเศรษฐกิจพอเพียง
แต่มาวันนี้ที่ชุมชนบางหลิงกลับกำลังจะมีการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่มากๆ หรือขนาดกำลังผลิต 2,200 เมกกะวัตต์ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงวันละกว่า 22,000,000 กิโลกรัม ซึ่งจะสร้างบนเนื้อที่ประมาณ 2,850ไร่ อันเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนทั้งหมู่บ้าน เป็นพื้นที่ทำกินของพวกเขา
 
รัฐได้อ้างว่าเวลานี้ภาคใต้มีไฟฟ้าไม่พอใช้ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่จะตามมา โดยอ้างเพื่อการพัฒนาภาคใต้ ซึ่งจะต้องให้พวกเขาต้องย้ายบ้านเรือนและชุมชนออกไปจากที่นั่น โดยจะให้ไปอยู่ที่ไหนก็ยังไม่มีใครรู้
 
จากประสบการณ์ที่รับรู้ได้ผ่านกิจกรรม ผ่านเวทีการพูดคุย คนบางหลิงบอกว่า ไม่เคยมีที่ไหนที่มีการดำเนินการแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้จริง มีความพยายามให้ร้ายกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย จนเวลานี้คนในชุมชนไม่เชื่อลมปากของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองไปแล้ว
 
เหล่านี้คือเรื่องราวที่เราทั้งหลายควรต้องมาช่วยกันหาทางออก ซึ่งก็เหมือนเป็นปริศนาธรรมแห่งยุคสมัยเลยด้วย
 
นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องผลกระทบที่เกิดจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำในทะเลและในแม่น้ำลำคลอง ทำลายวงจรชีวิตของสัตว์เล็กสัตว์น้อย ทำลายแหล่งอาหารของสัตว์น้ำจำพวกแพลงตอน ทำลายระบบนิเวศ ทำลายวิถีชีวิตชุมชน ทำลายแม้กระทั้งศาสนสถาน เช่น วัด มัสยิด สร้างมลพิษทางอากาศและในน้ำ เช่น ฝุ่นละลองขนาดเล็ก กระทั่งขนาด 2.5 ไมครอนที่เล็กมากจริงๆ ก็ยังมีมากมาย
 
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา เคยกล่าวไว้ว่า ฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอนนี้จะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ง่ายทางระบบหายใจ แถมเล็กจนสามารถทะลุทะลวงผ่านไปยังกระแสเลือดได้ด้วย หากเข้าไปสะสมในส่วนใดของร่างกายมนุษย์มากๆ ก็จะทำให้อวัยวะส่วนนั้นเป็นง่อย เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
 
มลพิษเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตผู้คน โดยเฉพาะคนในรัศมีที่กว้างมาก เพราะพื้นที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินติดกับทะเล บางฤดูกาลมีมรสุม มีกระแสลมแรง ซึ่งจะพัดฝุ่นละอองดังกล่าวไปไกลแสนไกลและในวงกว้าง
 
และด้วยเหตุผลอื่นๆ อีกมากที่เป็นปัจจัยที่ทำให้คนเทพา รวมถึงคนสงขลาและคนปัตตานี จึงต้องออกมาประกาศว่า พวกเขาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินทุกวิธีการ เช่น ยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานรัฐต่างๆ ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ ไปจนถึงจังหวัด
 
จากเทพาเคยต้องยกขบวนเดินทางไกลเข้าสู่กรุงเทพฯ มาแล้วหลายครั้ง จัดกิจกรรมการสัมมนาแลกเปลี่ยนรู้กับบรรดานักวิชาการ เพื่อจะสื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบได้รับรู้ ได้เข้าใจ ต่อสิ่งที่คนเทพาเขากังวลว่า มลพิษมากมายจะเกิดขึ้นกับพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
แต่ที่ผ่านๆ มากลับแทบไม่เคยได้รับการสนใจจากหน่วยงานไหน ไม่เคยได้รับการแก้ปัญหาใดๆ หนำซ้ำยังมีการกล่าวหาพวกเขาไปในทางเสียหาย ทั้งที่ยังไม่เคยได้รับการตรวจสอบใดๆ
 
บ่อยครั้งเราจะเห็นความปากไวของผู้อำนาจที่ไร้ความรับผิดชอบ อย่างกรณีของที่เกิดขึ้นกับ “แบมุส” หรือนายมุสตาร์ซีดีน วาบา ที่ถูกกล่าวหาอย่างไร้ยางอายในทำนองทำให้เข้าใจว่า พาหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาไปเที่ยวหาความสำราญ หลังจากหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ไปได้ช่วงการประชุม ครม.สัญจรภาคใต้ไม่กี่วันมานี้
 
การต่อสู้ที่ยาวนานของชาวเทพาเป็นการต่อสู้อย่างสันติวิธี แบบอารยประเทศเขาทำกัน จนล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2560 ที่ผ่านมา พวกเขารวมกันจัดกิจกรรม “เดินเทใจ...ให้เทพา” โดยออกเดินทางด้วยเท้าระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร จากสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.เทพา ด้วยความยากลำบาก ด้วยความอดทน ฝ่าสายลม แสงแดดและห่าฝน เพื่อจะยื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ในวันที่ 28 พ.ย.2560 ในการประชุมสัญจรภาคใต้ที่ อ.เมือง จ.สงขลา
 
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่กฎหมายบังคับว่า จะต้องทำรายงาน EHIA ซึ่งพวกเขากล่าวว่าเป็นกระบวนการที่ฉ้อฉล ไม่มีความเป็นธรรม มีการแจกสิ่งของ แจกข้าวสาร พาคนไปเที่ยว อาศัยจุดอ่อนของสังคมเพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้โครงการ เพราะ EHIA  ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สร้างความชอบธรรมให้กับนายทุน เป็นใบเปิกทางในการขออนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ
 
ในรายงานการศึกษา EHIA พวกเขาเล่าให้ฟังว่า มีข้อมูลมากมายไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ บอกว่าทะเลเทพาไม่อุดมสมบูรณ์ ทะเลเสื่อมโทรม มีคนเพียงไม่กี่คนที่หากินอยู่กับทะเล มีเรือไม่กี่ลำ แล้วสรุปว่าการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสร้างความคุ้มค่ามากกว่า ซึ่งไม่จริงเลย จึงทำให้พวกเราไม่ยอมรับใน EHIA ฉบับนี้
 
พวกเขาบอกว่า คนเทพาจะทำหน้าที่นี้เพื่อลูกหลานแทนคนไทย พวกเขาจะต่อสู้ต่อไปเพื่อปกป้องบ้านเกิด เรื่องราวของคนเทพากำลังเป็นดั่งเช่นประวัติศาสตร์การล่าอานานิคมของประเทศตะวันตกในอดีต เหมือนประวัติศาสตร์อินเดียแดงในอเมริกา
 
หญิงสูงอายุคนหนึ่งได้ฝากคำพูดสั้นๆ ไว้ว่า
 
“อยากขอกำลังใจและความเข้าใจจากคนไทยด้วยกัน ที่เราต้องทำเช่นนี้เพียงเพื่อปกป้องทรัพยากรของชาติตามกำลังความสามารถ และจะสู้ต่อไปจนลมหายใจสุดท้าย”
 
หลายคนพูดว่าการพัฒนาในทิศทางเยี่ยงนี้ เป็นการพัฒนาที่กำหนดมาจากข้างบน เป็นความต้องการของคนข้างบน แต่คนข้างล่างเขาไม่ต้องการ เป็นการไปทำให้คนในพื้นที่เดือดร้อน สังคมแตกแยก จึงไม่ควรนับเป็นการพัฒนา เพราะการพัฒนาต้องขึ้นไปจากข้างล่าง ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ภาครัฐต้องส่งเสริมในสิ่งที่ชุมชนมี โดยพัฒนาในสิ่งที่ชุมชนเห็นด้วย
 
เรื่องราว “คนเทพา” กับ “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” เป็นเรื่องราวที่มีการต่อสู้กันในสนามวิชาการระหว่างรัฐที่มีอำนาจ กับราษฎรที่อยู่กับความจริงบนวิถีชีวิตที่ผู้พันกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม...เราจึงรอดูกันต่อไป
 
กำลังโหลดความคิดเห็น