xs
xsm
sm
md
lg

ภาคใต้ยากจน-ไฟฟ้าไม่พอ “วาทกรรม” หรือ “ความจริง”?! / มุหัมหมัด ล่าเม๊าะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
 
มุหัมหมัด ล่าเม๊าะ
ประธานกลุ่มออมทรัพย์พัฒนาบ้านพ้อแดง อ.จะนะ จ.สงขลา
--------------------------------------------------------------------------------
 
ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้เป็นช่วงกลางคืนที่พรุ่งนี้มีสอบ จึงน่าจะอ่านหนังสือมากกว่า แต่ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากับเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงอยากที่จะนำเสนอข้อมูลอีกมุมหนึ่งต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
 
ปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า ซึ่งทางฝ่ายรัฐบาลได้อ้างมาตลอดว่า ไฟฟ้าภาคใต้ไม่พอ จึงจำเป็นต้องพัฒนาไฟฟ้าเพื่อรองรับการขยายตัวอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล โครงการรถไฟขนสินค้าอุตสาหกรรมทางคู่ โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่กระบี่และที่เทพา และแม้กระทั้งโครงการไฟฟ้าพลังงานทางเลือก เช่นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะเกิดขึ้นอีกมากมาย
 
ล้วนแล้วแต่เป็นการพัฒนาที่ไปสร้างปัญหาความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ ระหว่างรัฐกับประชาชน ระหว่างทุนกับชาวบ้าน ระหว่างผู้นำกับคนในชุมชน ทำให้ทุกพื้นที่มีการแตกแยกกันเป็น 2 กลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย


โครงการเหล่านี้กว่าจะอนุมัติให้ดำเนินการก็ต้องผ่านกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และการศึกษาถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) เป็นต้น
 
EIA ความเข้าใจของประชาชนถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะให้ความยุติธรรมแก่ชุมชน ในด้านสิทธิชุมชน ในการักษาสิ่งแวดล้อม ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการจากงานรัฐหรือเอกชน ซึ่งตามความเป็นจริงมั่นก็เป็นเช่นนั้น
 
แต่ในทางปฏิบัติมันตรงข้าม เพราะในกระบวนการศึกษา EIA ที่ประสบมากับตัวเองนั้น มันไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความโปร่งใส ลักไก ฉ้อฉล ใช้กลลวง ใช้กลอุบายต่างๆ ใช้อำนาจรัฐ เจ้าหน้าข่มขู่ ใช้อำนาจเงินให้ยอมรับ มาแบ่งคนในชุมชน
 
การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาหรือทำ EIA อย่างตรงไปตรงมานั้นไม่มี
 
เวทีแสดงความคิดเห็นต้องมีทหาร ตำรวจ บางครั้งมากกว่าผู้ที่เห็นต่าง และในหลายกรณีก่อนที่ชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันแสดงพลังคัดต้าน ก็จะต้องผ่านการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาก่อน เมื่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ให้ความสำคัญ หรือแก้ปัญหาไม่ได้ ไม่รับผิดชอบ ก็มีการรวมตัวออกมาเรียกร้องเพื่อให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบได้รับรู้ ก็กล่าวหาว่าเป็นการชุมนุมคัดค้านโครงการ พวกต่อต้านการพัฒนา มีบุคคลที่สามอยู่เบื้องหลัง เขาจ้างมา มีคนนอกเข้าไปปลุกปั่น เหล่านี้เป็นต้น
 
EIA เป็นเครื่องมือที่อารยประเทศเขาใช้กันอย่างแพร่หลาย และรัฐให้ความสำคัญ เป็นเครื่องมือที่รักษาสิ่งแวดล้อม มีการศึกษากันอย่างจริงจัง เมื่อนำมาใช้ในประเทศไทยกลับทำให้ประชาชนไม่ยอมรับผลของการศึกษา EIA เป็นเพราะอะไร?

มีหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากการทำ EIA เช่น บริษัทที่ปรึกษาโครงการเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์กับเจ้าของโครงการในลักษณะนายจ้างกับลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างต้องทำงานให้ตอบสนองความต้องการของนายจ้าง ความเป็นอิสระในการทำงาน ผลการศึกษาไม่มีคุณภาพ การมีส่วนร่วมของผู้ส่วนได้เสีย ไม่มีหน่วยงานที่ติดตามตรวจสอบในกระบวรการศึกษา ปัญหาการมีส่วนร่วมของผู้ที่ได้ผลกระทบโดยตรง ฯลฯ เป็นต้น
 
ภาคประชาชนมองว่ากฎหมายนี้ถ้าเปรียบคนไข้ ก็อาการสาหัสมากถึงขึ้นที่จะต้องส่งเข้าห้องไอซียู หรือไม่ก็ต้องเข้าห้องผ่าตัดโดยด่วน จึงได้มีการเสนอให้มีการการปฏิรูปกฎหมายการศึกษา EIA ใหม่
 
หลายโครงการไม่สามารถศึกษา EIA ได้ เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการต่างๆ และเกิดการคัดค้านจนไม่สามารถเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ แต่ EIA ก็ผ่านจนได้ ทำไม่ถึงเป็นเช่นนั้น?
 
เรื่องพลังงานไฟฟ้า ทำไมที่มาเน้นหนักกับถ่านหินเพียงอย่างเดียว พลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น พลังงานลม พลังงานจากแสงแดด(โซลาร์เซลล์) ทำไมรัฐไม่ส่งเสริมให้มีการศึกษากันอย่างจริงจังว่า ในระยะยาวมีความคุ้มทุนอย่างไร ผลกระทบต่อสังคมชุมชนและสิ่งแวดล้อมอะไรบ้าง เพราะมีหลายประเทศที่กำลังจะลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และมีหลายประเทศที่หันมาพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์กันอย่างจริงจังและมากขึ้น เช่น ประเทศอินเดีย เป็นต้น
 
ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/releases/23-countries-and-states-to-phase-out-coal-as-US432-billion-of-capital-leaves-the-industry/
 
การลดความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่จะทำได้เลย เช่น รัฐจะต้องส่งเสริมหน่วยงานราชการ สนับสนุนให้มีการใช้ไฟฟ้าระบบโซลาร์เซลล์ติดตั้งบนหลังคา เพราะราชการทำงานเฉพาะตอนกลางวัน หากทำเช่นนี้  ความต้องการไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันก็จะลดลง และไฟฟ้าที่อยู่ในปัจจุบันก็จะเหลือ รัฐไม่ต้องเสียงบประมาณไปกับผลักดันเพื่อจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณกับการศึกษา EIA ไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจนนำไปสู่ความรุนแรง
 
อย่างเช่นกรณีการสลายการชุมชมที่นำไปสู่ความรุนแรงในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ระหว่างประชาชนที่ไม่เอาโรงไฟฟ้าถานหินเทพากับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะไม่เกิดขึ้น
 
หากรัฐมองว่าคนนอกไปปลุกปั่นชาวบ้าน รัฐมีทุกอย่างเหนือชาวบ้าน แล้วทำไมรัฐไม่ใช้การปลุกปั่นชาวบ้านบ้าง แทนที่จะใช้อำนาจบาตรใหญ่ ข่มขู่ เพื่อให้ชาวบ้านยอมรับ แต่ที่ผ่านมารัฐไม่ได้ทำเช่นนี้ และรัฐก็ไม่ได้ยินคำพูดกลุ่มคนที่ได้รับความเดือนร้อน ไม่ได้เห็นความจริงและปัญหาของคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงว่าเป็นอย่างไร หลายพื้นที่เมื่อเกิดปัญหา ขาดผู้ที่ออกมารับผิดชอบและแก้ไขไม่ได้ เป็นบทเรียนที่ประชาชนเห็นปัญหาและเรียนรู้มา


การสมมุติฐานจากฝ่ายรัฐบาลต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ข้อหนึ่งรัฐมองว่าเกิดจากความยากจนของคนในพื้นที่ ซึ่งความจริงแล้วเป็นพื้นที่ของปัญหาความยากจนจริงหรือไม่ หากคิดอีกมุมข้อมูลที่รัฐได้จาก จปฐ.ตรงกับความเป็นจริงหรือไม่  ทำไมถึงคิดอย่างนี้ ก็เพราะประวัติศาสตร์คนในพื้นนี้ ยังมีปัญหาเรื่องความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจต่อฝ่ายรัฐ เป็นความคิดที่สืบต่อมาจากอดีต แต่รัฐกลับใช้วิธีแก้ปัญหาโดยให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ซึ่งคิดว่าเป็นการกระจายรายได้สู่ประชาชน ให้นักลงทุนนำเงินมาลงทุนในพื้นที่ให้มากจะได้ช่วยให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ เมื่อประชาชนมีรายได้ปัญหาความไม่สงบก็จะหมดไป
 
การตั้งสมมุติฐานเช่นนี้น่าไม่ถูกต้องนัก เมื่อการตั้งสมมุติฐานผิด กระบวนการแก้ปัญหาก็ผิดๆ ตามมา จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เกิดปัญหาเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา รัฐต้องใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาภาคใต้ไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท แต่ปัญหายังคงอยู่
 
สิ่งนี้น่าจะเป็นคำอธิบายต่อวิธีการแก้ปัญหาที่ฝ่ายรัฐที่ดีว่า น่าจะต้องทบทวนให้มากและมากที่สุด
 
ภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรทางทะเล ป่าไม้ ภูเขา แหล่งน้ำ จึงเหมาะสมกับที่รัฐจะต้องสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ สินค้าจากภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้ประเทศคือ ยางพารา ที่ปัจจุบันราคาตกต่ำมาก จนส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวมของภาคใต้ จนเกษตรกรอยู่ไม่ได้ เริ่มเห็นการรวมตัวของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในหลายพื้นที่
 
นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า กำลังจะเป็นอีกหลายกลุ่มที่จะออกมาเรียนร้องสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาล  เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวปากท้องของประชาชน


เศรษฐกิจของภาคใต้ขึ้นอยู่กับภาคเกษตรกรรม หากราคาพืชผลทางการเกษตรราคาดี ประชาชนก็จะอยู่ดีกินดี ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม การบริการและการท่องเที่ยวอื่นๆ ตามมา สังคมก็จะมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
 
กำลังโหลดความคิดเห็น