xs
xsm
sm
md
lg

มวลน้ำไหลท่วมบ้านเรือนริมแม่น้ำตรัง ชาวบ้านหวั่นถนนถูกตัดขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ชาวบ้านตรังลุ้นระทึกมวลน้ำจาก อ.ทุ่งสง ไหลเข้าสมทบมวลน้ำเดิม รวมกับปริมาณน้ำฝนที่มากอยู่ก่อนแล้ว ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนริมแม่น้ำตรัง เฝ้าระวังถนนหลายจุดอาจถูกน้ำตัดขาด

วันนี้ (29 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม อันเนื่องมาจากมวลน้ำที่ไหลมาจาก อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ไหลเข้าสู่ตัวเมืองตรัง สมทบกับมวลน้ำที่มีอยู่เดิม รวมกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักก่อนนี้ ทำให้มวลน้ำเพิ่มขึ้นไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านต้องช่วยกันเก็บข้าวของขึ้นไปไว้บนถนนที่ทางหน่วยงานได้จัดเตรียมเต็นท์เอาไว้ให้อยู่เป็นการชั่วคราว

โดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำตรัง เช่น หมู่ที่ 6 ต.บางรัก อ.เมืองตรัง ในขณะนี้มวลน้ำในคลองมากจนเอ่อล้นข้ามถนน เข้าท่วมบ้านเรือน และสวน ซึ่งด้วยกระแสน้ำที่แรงทำให้กัดเซาะถนนริมแม่น้ำตรังยุบตัวเป็นบริเวณกว้างถึง 20 เมตร และกระแสน้ำได้ตัดถนนถึง 3 จุด จนชาวบ้านหวั่นหากมวลน้ำเพิ่มมากขึ้นคงไม่พ้นคืนนี้ถนนขาดอย่างแน่นอน ต่างทยอยกันขนทรัพย์สินไปไว้พื้นที่สูง
 

 
ทั้งนี้ จากการสอบถามชาวบ้าน พบว่า ปัญหาที่มวลน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน มาจากหมู่ที่ 6 ตำบลบางรัก มีประตูน้ำถึง 3 แห่ง แต่ปัญหาอยู่ที่เจ้าหน้าที่ปิดประตูน้ำไม่สนิท น้ำสามารถเข้าได้แต่น้ำไหลออกไม่ได้ เพราะไม่มีทางระบาย แต่หากเจ้าหน้าที่ลงมาดูแลแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังก็น่าจะบรรเทาปัญหาน้ำท่วมลงไปได้บางส่วน

นายคำรณ นกเอี้ยง สมาชิก อบต.บางรัก กล่าวว่า ปีนี้น้ำท่วมถึง 3 ครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้มีมวลน้ำมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา หากกระแสน้ำเพิ่มมากขึ้นก็อาจตัดถนนริมแม่น้ำตรังขาดเหมือนครั้งที่ผ่านมาได้ ตนเองจึงเตือนชาวบ้านให้เฝ้าระวังตลอดเวลา

ในขณะที่หลายพื้นที่ก็มีมวลน้ำจำนวนมากไหลเข้าท่วมบ้านเรือนริมแม่น้ำตรัง หมู่ที่ 2 ตำบลหนองตรุด อำเภอเมืองตรัง มีกระแสน้ำตัดผ่านถนนสูงเกือบ 2 เมตร และยังได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านหมู่ที่ 1, 2, 3, 4, 7 และ 9 ชาวบ้านเดือดร้อนประมาณ 400-500 ครัวเรือน
 

 
นายสมโภชน์ เซ่งย่อง สมาชิก อบต.หนองตรุด หมู่ที่ 2 กล่าวว่า น้ำได้เข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านเฉพาะหมู่ 2 จำนวนกว่า 200 หลังทั้งหมด โดย อตบ.ได้จัดเตรียมเต็นท์วางไว้ที่พนังกั้นน้ำ ให้ชาวบ้านอพยพข้าวของมาอยู่เป็นการชั่วคราว บางบ้านที่มี 2 ชั้น ก็ให้อาศัยอยู่ข้างบน ส่วนช่วงน้ำท่วมสิ่งที่ชาวบ้านมีความต้องการมากที่สุดก็คือ ที่พักอาศัย ส่วนอาหารก็มีหน่วยงานมาแจกให้

สำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากนั้น ตนมองว่า มันแก้ยาก มีอยู่อย่างเดียวคือ ขุดคลองเพื่อการระบายน้ำ แต่โครงการมันใช้เวลานานกว่าจะจบ ถ้าระบายน้ำเร็วน้ำก็ไม่ท่วมขัง ปัญหาอยู่ที่ระบายน้ำช้า น้ำลงทะเลช้า สำหรับโครงการแก้มลิงตนมองว่า น่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้บ้าง เพราะสภาพน้ำที่เยอะตอนนี้ คือ สภาพพื้นที่ลุ่มต่ำ อย่างถนนตรัง-สิเกา มีการถมที่กันหมด จึงไม่มีที่เก็บน้ำตามธรรมชาติ
 
กำลังโหลดความคิดเห็น