xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเจ้าภาพประชุมอาเซียน หามาตรการลดขยะในทะเลร่วมกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ไทยเจ้าภาพจัดประชุมระดับอาเซียน เรื่อง การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน ผู้บริหารขององค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ชื่นชมรัฐบาลไทยจริงจังในการจัดการปัญหาขยะทะเล พร้อมเผยขยะทะเล ร้อยละ 80 มาจากขยะบนบก

เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (22 พ.ย.) ที่ห้องประชุมโรงแรม เจดับบลิว แมริออท ภูเก็ต รีสอร์ท แอนด์สปา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติประเทศไทย (IUCN) จัดการประชุมระดับอาเซียน เรื่อง การลดปริมาณขยะในทะเลในกลุ่มอาเซียน (ASEAN conference on Reducing Marine Debris in ASEAN Region 2017) เพื่อหาแนวทาง และมาตรการร่วมกันในการลดปริมาณขยะลงทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องขยะทะเลให้เป็นที่รับทราบ และเกิดการขับเคลื่อนร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน

โดยมี นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนจากสมาชิกกลุ่มอาเซียน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนเข้าร่วมกว่า 200 คน

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ขยะทะเลกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติกำลังให้ความสำคัญ เพราะได้กำหนดให้การจัดการทรัพยากรทางทะเลเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ เนื่องจากทะเลทั่วโลกที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ที่ต่างคนต่างตักตวงใช้โดยไม่คำนึงผลที่เกิดขึ้นในระยะยาว ว่า กำลังเผชิญต่อขยะที่ล่องลอยจากแผ่นดินออกสู่ทะเล และจากฝั่งออกสู่ท้องทะเล รวมทั้งกิจกรรมในทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกได้สร้างปัญหามากมาย

ขยะพลาสติกขนาดใหญ่ เช่น แห อวน หรือซากสิ่งของ เป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ โดยทำให้แนวปะการัง และ พื้นท้องทะเลเสื่อมโทรม ทำลายทัศนียภาพของชายหาด ส่งผลต่อการประมง และการท่องเที่ยวของหลายประเทศ

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ขยะทะเลที่ย่อยสลายเป็นชิ้นเล็กๆ จนมองแทบไม่เห็น หรือที่เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” ได้ผ่านเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหารสัตว์ในทะเล และผ่านจากอาหารทะเลสู่มนุษย์ ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว การแก้ปัญหาขยะทะเลจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) จึงได้คิดริเริ่มที่จะแก้ปัญหานี้เพราะขยะทะเล เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ประเทศในอาเซียนต่างก็กำลังประสบปัญหา และเผชิญต่อความท้าทายร่วมกัน จึงได้หารือกับสำนักเลขาธิการอาเซียน ในการริเริ่มสร้างความร่วมมือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว การจัดการประชุมระดับอาเซียน เรื่อง การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ ASEAN Conference on Reducing Marine Debris in ASEAN Region จึงเกิดขึ้น โดยกระทรวงทรัพยากรฯ มอบให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รับผิดชอบ

“การที่ประเทศไทยริเริ่มจัดการประชุม เรื่อง การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้ประเทศอาเซียน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมกันกำหนดแนวทางในการจัดการปัญหาขยะทะเลเพื่อเป็นกรอบในการจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน เพราะขณะนี้หลายๆ ประเทศได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการปัญหาขยะทะเล เช่น จีน เพิ่งจัดการประชุมการจัดการขยะทะเลในเขตเมืองชายฝั่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไปเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ขณะที่อินโดนีเซีย อยู่ระหว่างเตรียมงานจัดการประชุมเกี่ยวกับเรื่องขยะทะเลเช่นกัน สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาขยะทะเล พบว่า ร้อยละ 80 ของขยะทะเลมาจากบนบก ส่วนขยะจากกิจกรรมทางทะเลมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ดังนั้น การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่ง

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ปัญหาขยะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญโดยกำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยเน้นจัดการขยะตกค้าง 30 ล้านตัน ให้หมดไป และจัดการขยะใหม่ปีละ 27 ล้านตัน ต้องลดที่ต้นทาง นำมาใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ ในปี 2561 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 3Rs Forum ในกลุ่มประเทศเอชีย-แปซิฟิก รวมทั้งการออกกฎหมาย และการสร้างวินัยคนในชาติ

ขณะที่กระทรวงทรัพยากรฯ ยังร่วมมือกับทุกภาคส่วน และภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพลาสติก ผลักดันการขับเคลื่อนแผนการจัดการพลาสติกขยะพลาสติก โดยเน้นหลักการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติก รีไซเคิลพลาสติก นอกจากนี้ ยังร่วมกับภาคเอกชนที่ผลิตน้ำดื่ม การลดและเลิกใช้ cap seal หรือพลาสติกที่หุ้มฝาขวด โดยข้อมูลในปี 2559 พบว่า มีน้ำดื่มที่ใช้ cap seal ถึง 2,600 ล้านขวด/ชิ้น

สำหรับเรื่องขยะทะเล กระทรวงทรัพยากรฯ กำหนดให้เขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่งปลอดจากถุงพลาสติก และเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้เริ่มโครงการนำร่องกับหน่วยงานใน 15 จังหวัดชายฝั่งทะเล กำหนดพื้นที่ชายหาด 24 แห่ง ให้เป็นชายหาดปลอดจากการสูบบุหรี่ และทิ้งก้นบุหรี่ และขยะอื่นๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น