xs
xsm
sm
md
lg

“ลุงตู่” ทำการบ้านนี้ให้เสร็จก่อนประชุม “ครม.ประยุทธ์ 5 สัญจรใต้” จะดีไหม? / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
----------------------------------------------------------------------------------------
 
 
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าในระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย.2560 นี้จะมีปรากฏการณ์ “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” เกิดขึ้นใน จ.ปัตตานี และ จ.สงขลา เนื่องเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนำคณะและส่วนงานที่เกี่ยวข้องมาประชุม ครม.สัญจรที่ จ.สงขลา โดยจะเดินทางไปติดตามความก้าวหน้าโครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่ จ.ปัตตานีก่อน


ว่ากันว่านอกจากจะเป็นการประชุม ครม.สัญจรครั้งแรกหลังจากที่มีการปรับ ครม.ครั้งใหญ่แล้ว ยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับในวันที่ 27 พ.ย.เป็นวันลงคะแนน “เลือกตั้ง” คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ แต่สำหรับในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหมายถึง จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส การเลือกตั้งอาจจะมีปรากฏการณ์พิเศษที่ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งในจังหวัดอื่นๆ ของประเทศ
 
ดังนั้นจึงเชื่อว่าคนในพื้นที่จะได้เห็น “การคุ้มกัน” หรือ “การรักษาความปลอดภัย” คณะของนายกรัฐมนตรีที่จะต้อง “อึกทึกครึกโครม” กว่าทุกๆ ครั้ง


ประเด็นสำคัญที่หน่วยงานในพื้นที่อย่าง กก.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. ต้องการที่จะโชว์เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงคือ ความก้าวหน้าของ “โครงการสามเหลี่ยมมั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” หรือ “เมืองต้นแบบ” ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
 
ซึ่งโครงการนี้มีการ “โฆษณาชวนเชื่อ” ทั้งจาก ครม.ส่วนหน้า ที่มี พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รมช.กลาโหม เป็นหัวหน้า พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาได้ทุ่มเทโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างหนักหน่วงถึง “ความวิเศษ” ของเมืองต้นแบบที่เป็นทั้งโครงการเกษตรและอุตสาหกรรมครบวงจร
 
ประหนึ่งว่าโครงการนี้จะเป็นการ “พลิกฟ้า พลิกผ่ามือ” ให้ อ.หนองจิก ซึ่งเป็น “พื้นที่ยากจน” ติดอันดับ กลับกลายเป็นเมืองที่ “มีอันจะกิน” ในพริบตา


แต่สิ่งที่กลับกันคือ ประเด็นของคนสงขลาและคนสตูลที่ไม่ยอมรับ “การแบ่งกลุ่มจังหวัดใหม่” ของกระทรวงมหาดไทยและส่วนงานที่เกี่ยวข้อง
 
ที่ในเวลานี้มีการประกาศแบ่งพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ออกเป็น 2 ส่วนคือ “กลุ่มจังหวัดภาคใต้” รวม 11 จังหวัดคือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สงขลาและสตูล กับ “กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน” แค่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส


เป็นการจัดแบ่งกลุ่มหรือแบ่งโซนพื้นที่โดยเอาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่าง สงขลาและสตูลไปรวมอยู่ในกลุ่ม 11 จังหวัดที่ไม่มีชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ทั้งที่โดยภูมิศาสตร์และโดยกายภาพของทั้งสงขลาและสตูลเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน


ซึ่งการจัดแบ่งโซนหรือแบ่งพื้นที่ครั้งนี้ ตัวแทนจากทุกภาคส่วนของ จ.สงขลา และ จ.สตูล ได้มีการประชุมและแสดงการคัดค้านไม่เห็นด้วยแล้ว เพราะหากมีการให้สงขลาและสตูลไปอยู่ใน 11 จังหวัดภาคใต้ นั่นต้องกระทบกับแผนการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงอย่างไม่พักสงสัย


โดยมีการถามหาเหตุผลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนได้ความกระจ่างว่า ที่ให้ไปขึ้นอยู่กับกลุ่ม 11 จังหวัดภาคใต้ เพราะฝ่ายความมั่นคงต้องการที่จะเอาสงขลาและสตูลออกจากพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ก็เพื่อ “สร้างภาพลักษณ์ใหม่” ในด้านความมั่นคงให้ดูดีเท่านั้น


เหมือนกับการจับโจรมาเปลี่ยนชื่อและ เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเสียใหม่ ปลูกบ้านหลังใหม่ให้อยู่ แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนพฤติการณ์ของการเป็นโจรของคนผู้นั้นแต่อย่างใด ซึ่งสุดท้ายแล้วการแบ่งกลุ่มให้สงขลากับสตูลใหม่ นอกจากเพิ่ม “ความสับสน”  และการทำแผนโครงการพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมใหม่ ก็ไม่ได้ทำให้ สถานการณ์ความมั่นคงดีขึ้นแต่อย่างใด
 
โดยกลุ่มองค์กรภาคเอกชนที่เป็นผู้นำในด้านเศรษฐกิจและสังคมของทั้ง 2 จังหวัดได้เตรียมการที่จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีแล้ว เพื่อแสดงความคิดเห็นในการที่จะให้สงขลาและสตูลยังอยู่ในกลุ่ม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนเดิม
 
แต่ผู้นำภาคเอกชนทุกคนก็ “หวั่นไหว” ว่าจะได้ผลหรือไม่ เพราะคนที่เป็น “ทหาร” มาตลอดชีวิตอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต้องเชื่อและให้น้ำหนักกับฝ่ายความมั่นคงมากกว่าองค์กรอื่นๆ อยู่แล้ว
 
พวกเขาก็ได้แต่หวังลึกๆ ว่าเสียงของภาคเอกชนและรวมเสียงของตัวแทนภาคประชาชนจะไม่แผ่วเบา หรือเป็นเสียงที่ไร้น้ำหนักเหมือนกับ “ขนนก” เพราะองค์กรภาคเอกชนและตัวแทนภาคประชาชนย่อมเข้าใจในเรื่องการพัฒนา เรื่องเศรษฐกิจและเรื่องของสังคมมากกว่าเหล่า “ขุนทหาร” อย่างแน่นอน


สำหรับในเรื่องของจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น การลงพื้นที่ของ ครม.สัญจรครั้งนี้คงจะเน้นที่ด้านการพัฒนาตามโครงการสามเหลี่ยม มั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มากกว่าในเรื่องของปัญหาการก่อการร้ายหรือการก่อความไม่สงบของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
 
เนื่องจากเหตุผลที่แม่ทัพนายกองในพื้นที่ต้องออกมาประสานเสียงถึงความก้าวหน้าของโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “พาคนกลับบ้าน” เรื่อง “กำปงตักวา” และเรื่อง “การพูดคุยสันติสุข” เพื่อทำความเข้าใจกับผู้เห็นต่างที่ได้ผล และงานด้านการพัฒนาพื้นที่ที่เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งจะสามารถดึงมวลชนมาอยู่กับภาครัฐได้มากขึ้น


แต่โดยข้อเท็จจริง “ระเบิดแสวงเครื่อง” และ “เสียงปืน” ที่มีความถี่น้อยลงในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย  ในห้วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาอาจจะมาจากสาเหตุในพื้นที่มีการ “หาเสียง” เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดดังกล่าว
 
ซึ่งพบว่ามีความเคลื่อนไหวของ ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ อย่างคึกคัก เพราะการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็น “งานการเมือง” ที่สำคัญยิ่งของบีอาร์เอ็นฯ ถ้าในพื้นที่มีการก่อเหตุร้ายมากขึ้น ย่อมกระทบกับงานการเมือง รวมถึงงานการวางฐานผู้นำศาสนาในแต่ละพื้นที่ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องเข้าปิดล้อม ตรวจค้นและลาดตระเวน อันเป็นอุปสรรคขัดขวางงานการเมืองของบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งปัจจัยตรงนี้ต่างหากที่ทำให้ “เหตุร้ายรายวัน” ลดน้อยลง


จึงเชื่อว่าในห้วงที่ พล.อ.ประยุทธ์นำ ครม.มาประชุมสัญจรที่ จ.สงขลา และลงพื้นที่ จ.ปัตตานี จะไม่มีทั้งเสียงปืนและเสียงระเบิดรบกวนขุ่นข้องหมองใจอย่างแน่นนอน แต่หลังจากพ้นวันที่ 27-28 พ.ย.ที่จะถึง และรู้ผลการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามแล้วนั่นแหละ จึงจะได้เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ของการก่อการร้ายอีกครั้ง
 
ดังนั้นในการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.สงขลาครั้งนี้ ประชาชนจะได้เห็นการทุ่มเทให้กับโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย “เงินนับแสนล้านบาท” ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ไม่ใช่ยาหอม อันเป็นไปตามแนวทางใช้การพัฒนาเพื่อสยบงานด้านการเมืองของบีอาร์เอ็นฯ
 
แต่สำหรับความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่เมื่อได้ฟังได้เห็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ถึง “เม็ดเงิน” จำนวนหมื่นล้านแสนล้านที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทุ่มเทเพื่อใช้เป็นแนวทางในการ “ดับไฟใต้” ด้วยงานด้านการพัฒนา สิ่งแรกที่คนในพื้นที่เห็นชัดไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันมะพร้าว และอุตสาหกรรมประมงครบวงจร หรือความเขียวขจีของสวนปาล์มน้ำมันและสวนมะพร้าวที่ เมืองต้นแบบอย่าง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
 
โครงการเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์กว่า 1,000 ล้านที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หนาหู
 
เพราะสิ่งที่คนในพื้นที่เห็นคือ “เสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์” งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ที่ยืนต้นโด่เด่มากกว่า 10,000 ต้น โดยที่ไม่มีแสงไฟแสงสว่างมาเกือบปีแล้วถึงกว่า 4,000 ต้น ได้เห็น “สนามฟุตซอล” ในโครงการ 1 ตำบล 1 สนามที่สร้างแล้วไม่มีหลังคาคลุม รวมทั้งดันไปสร้างในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมหลายร้อยล้านบาท ซึ่งถูกทิ้งให้ชำรุด กลายเป็นสนามร้างที่ใช้การไม่ได้เป็นจำนวนมากในแผ่นดิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
รวมทั้งโครงการอื่นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ “ผลาญงบประมาณ” หรือเป็นการใช้งบการพัฒนาที่ “ไม่คุ้มค่า” และ “ไม่เอื้อประโยชน์” กับประชาชน 
 
รวมถึงการได้เห็นข่าวการทุจริตใน “โครงการเซฟตี้สคูล” หรือการติดตั้งกล้อง CCTV ในโรงเรียนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องของ “เรือเหาะ” มูลค่า 800 ล้านที่ขึ้นบินเพียง 6 ครั้งแล้วต้องถูกปลอดระวาง “โครงการปรับภูมิทัศน์มัสยิด 300 ปี” ที่ได้ผู้รับเหมาที่ถูกฟ้องล้มละลาย จนกลายเป็นประเด็นขัดแย้งกับหลายภาคส่วน
 
ซึ่งทั้งหมดคือ “โครงการพัฒนาเพื่อการดับไฟใต้” ที่สุดท้ายแล้วกลายเป็นการ “ประจาน” ถึงความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานในพื้นที่ และกลายเป็นช่องทางก็การทำมาหากินของคนกลุ่มหนึ่งที่ร่ำรวยกับ “เงินทอน” ที่มาจากวิกฤตไฟใต้ทั้งสิ้น


นี่แค่เรื่องจิ๊บๆ ที่ยกมาเป็นเพียง “หนังตัวอย่าง” ที่เกิดขึ้นที่บนแผ่นดินปลายด้ามขวานเท่านั้น ความจริงยังมีอีกสารพัดเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์จากงบพัฒนาและงบความมั่นคงใน 13 ปีของไฟใต้
 
อันน่าจะเป็น “การบ้าน” ให้กับทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และ ครม.ในการประชุมสัญจรในครั้งนี้ เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะทุ่มเม็ดเงินเพื่อการพัฒนาอย่างไร ถ้าไม่สามารถป้องกันการทุจริตอย่างได้ผล คนที่ร่ำรวยหรือมั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ย่อมเป็น “นายทุน” และ “ข้าราชการ” หาใช่รากหญ้าที่เป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่แต่อย่างใด
 

กำลังโหลดความคิดเห็น