xs
xsm
sm
md
lg

ทนไม่ไหวแล้ว! กลุ่มผู้เดือดร้อนจาก “โรงไฟฟ้าขยะเครือ กฟผ.” ขีดเส้น “บิ๊กตู่-แม่ทัพ 4-ผู้ว่าฯ-นายกนครหาดใหญ่” แก้มลพิษให้สิ้นใน 30 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.เมธี สรรพานิช (ซ้าย) และ น.ส.รดาศา เพชรประสมบุญ (ขวา)
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจาก “โรงไฟฟ้าขยะในเครือ กฟผ.” ที่ จ.สงขลา ทนไม่ไหวกับ 3 ปี ที่ต้องจมอยู่กับมลพิษ เผยรวมตัวกันลุกฮืออีกระลอกแล้ว ร่อนหนังสือจี้ “บิ๊กตู่-แม่ทัพ 4-นายกฯ นครหาดใหญ่” ให้ช่วยแก้ไขภายใน 30 วัน พร้อมนัดบุกศาลากลางพบ “ผู้ว่าฯ สงขลา” จันทร์ 13 พ.ย.นี้
 
ผศ.ดร.เมธี สรรพานิช อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในฐานะประธานกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าขยะของบริษัท จีเดค จำกัด ในเครือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำคณะกรรมการกลุ่ม ประกอบด้วย รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล กรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) นางพิมพรรณ ตันสกุล อดีตอาจารย์คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. และ น.ส.รดาศา เพชรประสมบุญ นักธุรกิจ เข้าร้องเรียนต่อ “MGR Online ภาคใต้” เพื่อบอกเล่าว่า เวลานี้กลุ่มประชาชนที่ทนทุกข์จากมลพิษโรงไฟฟ้าขยะเครือ กฟผ.ใน จ.สงขลา ต่อเนื่องมาถึง 3 ปี ได้ตกลงกันว่าจะรวมตัวกันเคลื่อนไหวอีกครั้ง เพื่อเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการยุติปัญหาให้โดยเร็วที่สุด
 
ผศ.ดร.เมธี กล่าวว่า โรงไฟฟ้าขยะในเครือ กฟผ.แห่งนี้ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.4 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้รับอนุญาตให้นำขยะของเทศบาลนครหาดใหญ่ไปเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.2557 โดยถือเป็นคู่สัญญากับเทศบาลนครหาดใหญ่โดยตรง ช่วง 3 ปีมานี้ได้ก่อมลพิษให้แก่ประชาชนจำนวนมากมายที่อาสัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะหมู่บ้านจำนวนมากใกล้สนามบินหาดใหญ่ เช่น หมู่บ้านฉัตรแก้ว หมู่บ้านเออบานา หมู่บ้านศรีตรัง ม.อ. หมู่บ้านปริญญา รวมถึงโรงเรียน สำนักงานทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ร้านค้าต่างๆ มากมาย ซึ่งที่ผ่านมา เคยรวมตัวลุกขึ้นเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาให้มาแล้วหลายครั้ง ผู้บริหารบริษัทจีเดดเองก็เคยรับปากจะแก้ปัญหาให้ แต่สุดท้ายมลพิษจากโรงฟ้าขยะแห่งนี้ก็ยังเกิดขึ้นวนเวียนอย่างซ้ำซากแบบแทบจะหาจุดจบไม่ได้
 
รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล (ซ้ายสุด) และ นางพิมพรรณ ตันสกุล (ที่ 2 จากซ้าย)
 
“ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมาบ ริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้เอื้อเฟื้อสำนักงานที่ตั้งที่อยู่ติดกับโรงฟ้าขยะจีเดด ให้ตัวแทนประชาชนผู้เดือดร้อนกลุ่มต่างๆ ได้มาร่วมประชุมกันอีกครั้ง ซึ่งได้ข้อสรุปว่า พวกเราควรต้องตั้งกลุ่มประชาชนได้รับผลกระทบจากโรงฟ้าขยะแห่งนี้ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ พร้อมส่งตัวแทนเคลื่อนไหวใหญ่กันอีกครั้ง โดยให้ผมทำหน้าที่ประธานกลุ่ม แล้วทำหนังสือร้องเรียนส่งไปทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ที่เพิ่งย้ายมาใหม่ด้วย” ประธานกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าขยะเครือ กฟผ. กล่าวและว่า

สำหรับหนังสือร้องเรียนขอความช่วยเหลือที่กลุ่มจะไปถึงนั้น ไล่เรียงตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา รวมถึงผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมในพื้นที่ด้วย สำหรับผู้ว่าฯ กลุ่มได้ประสานขอเข้าพบเพื่อให้ข้อมูลโดยตรงด้วยแล้ว ซึ่งได้รับประสานกลับมาว่าเป็นเวลา 14.00 น. วันจันทร์ที่ 13 พ.ย.นี้ 

ด้าน นางพิมพรรณ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงผลการประชุมกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบว่า นอกจากทำหนังสือร้องเรียนทุกหน่วยงาน และเข้าพบให้ข้อมูลผู้ว่าฯ แล้ว เรายังตกลงกันว่าจะมีการทำแบบฟอร์มให้ผู้ได้รับผลกระทบทุกคนจดบันทึกอาการผิดปกติของร่างกายจากมลพิษของโรงไฟฟ้าขยะไว้เป็นหลักฐานด้วย เช่น เป็นผด ผื่นคัน หายใจไม่สะดวก และอื่นๆ และจะมีการจัดประกวดภาพถ่ายที่สื่อแสดงถึงผลกระทบจากมลพิษของโรงไฟฟ้าขยะที่มีต่อประชาชน โดยมีเงินสนับสนุนให้ 3 รางวัล รวม 9,000 บาท
 

 
สำหรับเนื้อหาหนังสือที่กลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรงฟ้าขยะเครือ กฟผ.ใน จ.สงขลา จะทำถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระบุสำคัญไว้ด้วยดังนี้ โรงฟ้าขยะแห่งนี้เริ่มดำเนินการ 11 ธ.ค.2557 ต่อมา 8 ม.ค.2558 และ 7 ม.ค.2559 คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงานขายและบริการลูกค้าภูมิภาคที่ 4 บมจ.ทีโอที ขอให้ จ.สงขลา ตรวจสอบมลพิษ กลิ่นการเผาขยะ กลิ่นของขยะ ควันและฝุ่นของโรงไฟฟ้าขยะผ่านศูนย์ดำรงธรรม และอุตสาหกรรม จ.สงขลา
 
5 ก.พ.2559 จ.สงขลา นัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 1 เพื่อแก้ปัญหาได้ข้อสรุปว่า บริษัทจีเดค รับจะดำเนินการแก้ไขภายใน 3 เดือน แล้ว 27 เม.ย.2559 จ.สงขลาได้นัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 2 ติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหา ซึ่งบริษัทจีเดดรับจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน หรือภายใน 19 พ.ค.2559
 
21 พ.ค.2559 กรมควบคุมมลพิษ โดยการประสานงานของ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สงขลา ได้เข้าตรวจสอบเพื่อวัดค่ามลพิษต่างๆ จากนั้น 20 ต.ค.2559 ได้รายงานว่า ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างอากาศที่ระบายจากปล่องเตาเผาขยะของโรงไฟฟ้าว่า ปริมาณแคดเมียมในตัวอย่างที่ 2 มีค่ามากกว่าค่ามาตรฐานตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปริมาณสารประกอบไดออกซินที่ตรวจพบใน 2 ตัวอย่าง มีค่ามากกว่าค่ามาตรฐานเช่นกัน 
 
15 ธ.ค.2559-15 ม.ค.2560 บริษัทจีเดค ได้ปิดปรับปรุงโรงงานตามคำสั่งของสำนักงานอุตสาหกรรม จ.สงขลา ต่อมา 15 ม.ค.2560 ก็ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินใหม่ แต่ครั้งนี้กรมควบคุมมลพิษ ไม่ได้เข้าตรวจสอบวัดค่ามลพิษต่างๆ ทั้งนี้ กล่าวว่าไม่มีงบประมาณดำเนินการในการตรวจวัด จากนั้น 19 เม.ย.และ 12 ก.ย.2560 นายเริงชัย ตันสกุล ได้ขอความอนุเคราะห์ศูนย์ดำรงธรรม จ.สงขลา ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจวัดค่าสารไดออกซินบริเวณปลายปล่องโรงไฟฟ้าขยะเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อชุมชนในพื้นที่
 
7 ก.ค.2560 หลังเที่ยงคืน เกิดอุบัติเหตุถุงกรองฝุ่นและมลพิษของโรงไฟฟ้าขยะรั่ว ทำให้ฝุ่นผสมน้ำมันจากปล่องโรงงานกระจายตกบริเวณหมู่บ้านอิงกมล และเออบานา ทำความเสียหายต่อตัวบ้าน รถยนต์ บุคคล และสัตว์เลี้ยง ถัดมา 8 ก.ค.และ 15 ก.ค.2560 ศูนย์ดำรงธรรม จสงขลา และเทศบาลเมืองควนลัง ได้จัดประชุมชี้แจงการแก้ไขปัญหาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ณ หมู่บ้านอิงกมล 
 
“จากเหตุการณ์ปัญหามลพิษ และการแก้ไขของโรงไฟฟ้าขยะที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนนั้น พบว่า ชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าและชุมชนอื่นที่เกี่ยวข้องยังได้รับผลกระทบต่างๆ เช่นเดิมตั้งแต่ ม.ค.2557 ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ลุล่วง ด้วยสาเหตุต่างๆ ที่ท่านอาจได้รับรายงานจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยเฉพาะการขาดงบประมาณในการดูแลควบคุมตามกฎหมายของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง” เนื้อหาในหนังสือระบุ และตบท้ายว่า
 
“จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับประเด็นต่อไปนี้ภายใน 30 วัน 1.ขจัดกลิ่นขยะและกลิ่นจากการเผาขยะ 2.สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าตรวจวัดมลพิษ บริเวณปลายปล่องเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และ 3.กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่ออกมาจากโรงงาน ซึ่งไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติผ่านชุมชนที่บริเวณท้ายน้ำ”

 
สำหรับบริษัทจีเดค เป็นบริษัทลูกของเครือบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ “เอ็กโก” เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่รายแรกของไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 12 พ.ค.2535 โดย กฟผ.ตามนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล เพื่อสร้างต้นแบบของการแปรรูปรัฐ วิสาหกิจด้านพลังงานไฟฟ้า ด้วยการบริหารงานแบบเอกชน และเพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ปี 2537 ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
 
สำหรับ เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจในรูปบริษัทโฮลดิ้ง โดยการถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ รายได้หลักของเอ็กโก กรุ๊ป มาจากเงินปันผลในบริษัทย่อย และกิจการร่วมค้า ซึ่งประกอบธุรกิจสอดคล้องต่อแผนธุรกิจของเอ็กโก กรุ๊ป ที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับลูกค้าทั้งในประเทศ และในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนธุรกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องต่อการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า รวมไปถึงกิจการที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ได้ปรากฏข่าว ก.ล.ต.กล่าวโทษ นายภูษณ ปรีย์มาโนช อดีตกรรมการ และผู้บริหารอินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง หรือ IEC กับพวกรวม 25 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังทรัพย์สิน และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ IEC เสียหาย ตลอดจนจัดทำหรือยินยอมให้มีการจัดทำบัญชีของ IEC ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงต่อความจริง เพื่อลวงบุคคลใดๆ ทั้งนี้ IEC ได้ถือหุ้นในบริษัทจีเดด เจ้าของโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ด้วย และ 1 ในข้อกล่าวหาเกี่ยวข้องต่อความไม่ชอบมาพากลที่ทำการแก้มลพิษไม่สำเร็จด้วยนั่นเอง
 

กำลังโหลดความคิดเห็น