xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ ศอ.บต.มั่นใจดึงองค์กรประชาสังคมร่วมแก้ปัญหา หนุนพูดคุยสันติภาพรัฐบาล-มาราปาตานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
นราธิวาส - “ศุภณัฐ สิรันทวิเนติ” เลขาธิการ ศอ.บต.สุดมั่นใจ ดึงองค์กรประชาสังคมร่วมแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เชื่อจะช่วยหนุนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาล กับมาราปาตานี

วันนี้ (25 ส.ค.) นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า โครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ จะเป็นกำลังหลักในการเสริมบทบาทของภาครัฐ ขับเคลื่อนเชื่อมโยงเรื่องความคิด ความเชื่อว่าประชาชนในพื้นที่รักสันติสุข ไม่ต้องการความรุนแรง และจะสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ระหว่างผู้แทนรัฐบาล กับกลุ่มมาราปัตตานี

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกว่า 400 องค์กร ซึ่งส่วนหนึ่งช่วยเหลือรัฐอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ส่วนหนึ่งอาจอยู่กลางๆ และอีกส่วนหนึ่งอาจมีความคิดต่างบ้าง แต่ยืนยันว่า องค์กรเหล่านี้เป็นภาคส่วนที่สำคัญในการแก้ปัญหา เพราะเป็นองค์กรที่มาจากภาคประชาชน จึงรู้ปัญหาพื้นที่อย่างแท้จริง
 

 
“การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ขณะนี้ต้องอาศัยคนเหล่านี้ ซึ่ง ศอ.บต.ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) นำโดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ประธานคณะผู้แทนฯ และ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้แทนพิเศษฯ ซึ่งรับผิดชอบภารกิจที่ 7 คือ แสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ที่ริเริ่มเรื่องนี้ว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรประชาสังคมเข้มแข็ง โดยให้ ศอ.บต.เป็นผู้ขับเคลื่อน สนับสนุนเบื้องต้น 50 ล้านบาท เพื่อให้มีการทำงานที่เข้มแข็ง และเป็นกำลังหลักในการเสริมแนวทางแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้” เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวด้วยว่า ภารกิจในภาพรวมของ ศอ.บต.ได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการศึกษา ให้ได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งในเรื่องของทุน และการสร้างอาชีพ การแก้ปัญหาที่ดินทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด ซึ่งออกโฉนดที่ดินไปแล้ว 2-3 หมื่นแปลง การสนับสนุนด้านการศาสนา ส่งเสริมคนดีให้ได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ที่นครเมกกะ และกลับมาสร้างความดีต่อเนื่อง การแก้ปัญหายาเสพติด โดยการสร้างบุคคลต้นแบบเพื่อขยายผลในการเลิกเสพยา

แม้แต่การสร้างเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา ให้เป็นเมืองต้นแบบที่มีการพัฒนาในลักษณะพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะ ให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนที่สามารถสร้างงาน และสร้างรายได้ไปยังพื้นที่ใกล้เคียง และเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุนสนใจจะมาลงทุนตั้งโรงงานมะพร้าว โรงงานปาล์ม และกิจการขนส่งทางทะเล
 
กำลังโหลดความคิดเห็น