xs
xsm
sm
md
lg

รองปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ รับหนังสือจากตัวแทนเครือข่าย “ปกป้องเทพา” จี้ระงับรายงานที่ไร้ซึ่ง “ความชอบธรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas) และเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยื่นเรื่องขอระงับ และตรวจสอบรายงานผลการศึกษา EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ไร้ซึ่ง “ความชอบธรรม”

วันนี้ (24 ส.ค.) ที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มารับหนังสือจากชาวเทพา ที่เดินทางมานั่งอย่างสงบอยู่หน้ากระทรวงฯ เพื่อคัดค้าน “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ด้านตัวแทนชาวบ้านเผยจะนั่งรอคำตอบอยู่หน้ากระทรวงฯ

โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า
จากการที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ หรือ คชก.ได้พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และได้อนุมัติผ่านรายงาน EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไปแล้วนั้น ถือเป็นกระบวนการอนุมัติที่ขาดความชอบธรรมในหลายประการ และไม่มีความรอบด้านในการสืบค้นข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่ และมากไปกว่านั้น คือ การเปิดพื้นที่เข้าไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่จริงจังทั่วถึงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งที่โครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าทั่วไป ซึ่งมีกำลังการผลิตมากถึง 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งจะก่อผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนหลายจังหวัด

รัฐบาลจะต้องให้ความสนใจ และให้ความสำคัญต่อทุกขั้นตอนในกระบวนการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะรายงานฉบับนี้ขาดความถูกต้องในหลายประการ เครือข่ายเห็นว่าการทำหน้าที่อนุมัติรายงานของ คชก.ยังขาดมิติขององค์ประกอบต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว โดยเฉพาะการนำหลักวิชาการ และหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในกระบวนการพิจารณาอนุมัติ
 

 
นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลเชิงประจักษ์ที่สังคมไม่อาจจะยอมรับต่อการทำหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทที่รับปรึกษาโครงการฯ ดังนี้

1.จุดที่ตั้งโรงไฟฟ้ามีชุมชน และประชาชนอยู่อาศัยที่ไม่ใช่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าอย่างที่กล่าวอ้าง เพราะในเนื้อที่ 3,000 กว่าไร่ อันเป็นที่ตั้งโครงการ มีบ้านเรือนจำนวนมากถึง 250 หลังคาเรือน มีศาสนสถาน คือ วัด 1 แห่ง มัสยิด 3 แห่ง และมีโรงเรียนปอเนาะ (สอนศาสนาเอกชน) 1 แห่ง กุโบร์ (สุสาน) 2 แห่ง ซึ่งถือเป็นชุมชนที่มีวิถีวัฒนธรรมอย่างสงบมาอย่างยาวนาน

2.กระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่เริ่มต้น การเร่งเดินหน้าโครงการก็ยิ่งเกิดความผิดพลาดเรื่อยมาตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทั้งนี้ กฟผ.อาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่อง “กระบวนการมีส่วนร่วม” ซึ่งไม่ได้ตรงตามเจตนาของระเบียบ หรือข้อกฎหมายที่มีไว้ต่อเรื่องนี้ และตลอดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกครั้งไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง คือ การสั่งสมปัญหา และความผิดพลาด

3.การเอื้อประโยชน์อันเป็นการสร้างแรงจูงใจ เพียงเพื่อให้ผู้คนเข้ามาลงชื่อเพื่อรับของแจก คือ ข้าวสาร และการแจกเสื้อโต๊บ ซึ่งเป็นชุดสวมใส่เฉพาะของผู้ชายมุสลิม (ซึ่งได้มีการแจกจ่ายไว้ก่อนหน้านี้แล้ว) จึงเห็นได้ว่า ผู้มาเข้าร่วมเวทีถึงจะมีจำนวนมาก แต่ก็มาด้วยเจตนาที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดเวที และเห็นได้ว่าเมื่อมีการลงทะเบียนรับข้าวของเสร็จเรียบร้อยแล้ว คนส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับในทันที โดยไม่ได้สนใจที่จะรับฟังเนื้อหาสาระจากเวทีแต่อย่างใด
 

 
4.ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบตัวจริง ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ที่อาจจะใช้ความรุนแรง ก่อความไม่สงบเสมือนเป็นโจรร้ายชายแดนใต้ จึงถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าร่วมเวที โดยการออกคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้มีการประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเพื่อรักษาความสงบบริเวณโดยรอบของเวที ให้ได้ส่งกองกำลังทหาร และตำรวจจำนวนมากในการคุ้มกันพื้นที่อย่างเข้มข้น พร้อมด้วยอาวุธหนักพร้อมมือ ถือเป็นการจัดบรรยากาศเสมือนจะไม่ใช่เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

5.การจัดเวที ค.2 คือ การจัดรับฟังเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้มีการรับรู้ข้อมูลที่เป็นบริบทของชุมชน ซึ่งต้องจัดเวทีรับฟังอย่างกระจาย ทั่วถึง และเปิดเผย แต่กลับพบว่าไม่ได้มีการเข้ามารับฟังความคิดเห็นคนในพื้นที่แต่อย่างใด และไม่เป็นที่รับรู้ว่ามีการจัดเวทีเหล่านี้หรือไม่ แบบไหน อย่างไร และการที่ กฟผ.ได้ออกมาให้เหตุผลถึงกลวิธีดังกล่าวว่า เป็นการให้ผลตอบแทนแก่ผู้เข้าร่วมประชุมถือเป็นปกติ การแจกข้าวสารคือการสนับสนุนชาวนา จึงไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ เพราะแทบจะไม่มีเวทีการรับฟังความคิดเห็นใดที่ใช้วิธีการเช่นนี้ จึงเห็นได้ว่า “การมีส่วนร่วม” ในความหมายตามวิธีดังกล่าวนั้น คือ ความผิดเพี้ยนของกระบวนการนี้ตั้งแต่ต้น

6.ผลจากการศึกษาเหล่านั้นกลายเป็นข้อบกพร่องของเนื้อหาสาระอย่างเห็นได้ชัดอย่างเช่น ในรายงาน EHIA ที่ระบุว่า พื้นที่เทพา มีป่าเต็งรัง ในคลองน้ำเค็มมีปลากระดี่ ปลาช่อน และมีจอกแหนด้วย ป่าชายเลนเทพาไม่มีต้นโกงกาง สัตว์หน้าดินมีความหนาแน่นต่ำมาก จนเสมือนที่นี่เป็นทะเลเสื่อมโทรม จึงถือเป็นข้อมูลที่มีความขัดแย้งต่อสภาพความจริงในพื้นที่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะยังมีความน่าเชื่อถือของเนื้อหาสาระในส่วนอื่นของรายงานทั้งหมดได้อย่างไร และจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า รายงานฉบับนี้คือการคัดลอกจากรายงานของโครงการอื่น และไม่ได้สะท้อนเนื้อหาของพื้นที่จริง
 

 
รัฐบาลจะต้องมีการติดตามตรวจสอบในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างความถูกต้องให้เกิดขึ้นแก่สังคม และไม่ปล่อยให้ความผิดพลาดอันนี้กลายเป็นชนวนเหตุแห่งความขัดแย้ง แบบไม่มีที่สิ้นสุดหลังจากนี้

รัฐบาลจึงต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมดังต่อไปนี้

1.รัฐบาลจะต้องสั่งระงับรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ที่ได้ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ไว้ก่อน

2.ให้มีการตั้งคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับทั้งสองฝ่าย เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรายงาน ทั้งในมิติของเนื้อหาสาระ และกระบวนการที่ทำให้ได้มาซึ่งรายงานทั้งหมด และจะต้องเปิดเผยให้สาธารณะรับรู้อย่างตรงไปตรงมา หากมีความไม่ชอบในการจัดทำรายงานชิ้นนี้ ไม่ว่าในด้านเนื้อหาสาระ หรือกระบวนการได้มาซึ่งเนื้อหาสาระ ก็จะต้องยกเลิกรายงานฉบับนี้ทั้งหมด

เครือข่ายฯ ในฐานะของประชาชนในพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ขอแสดงเจตนาบริสุทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น และขอยื่นข้อเสนอนี้เพื่อให้รัฐบาลได้พิจารณาหาทางออกที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น และจะรอติดตามความคืบหน้าต่อเรื่องนี้จนกว่าจะได้รับคำตอบ โดยหวังว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อเหตุผลดังกล่าวเบื้องต้น ที่พยายามจะสื่อสารให้เห็นถึงความผิดปกติของโครงการดังกล่าวทั้งหมด
 










กำลังโหลดความคิดเห็น