xs
xsm
sm
md
lg

ประชาธิปไตยชุมชน : การสร้างพลังในสนามใหม่ของการเปลี่ยนแปลง / รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์ 
คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดประชุมวิชาการระดับชาติ ในหัวข้อการจัดการชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเชิญ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ปาฐกถานำเรื่อง “ประชาธิปไตยชุมชน : การสร้างพลังในสนามใหม่ของการเปลี่ยนแปลง”
 
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ออกตัวว่าหัวข้อของการปาฐกถาเป็นเรื่องที่ยากมากๆ เพราะเป็นการพูดถึงสองหัวข้อหลักที่สำคัญ คือเรื่อง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “ประชาธิปไตย” โดยเห็นว่า
 
เฉพาะเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เรากำลังเห่อของใหม่ จากการที่องค์การสหประชาชาติ ได้เสนอเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เรียกว่า “Sustainable Development Goals (SDGs) ” เพื่อเป้าหมายเชื่อมโยงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้สามารถขจัดความยากจน อดอยาก ความหิวโหย ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ผสมกลมกลืนสมดุลกับโลกธรรมชาติ การป้องดูแลโลก-ทรัพยากร และระบบนิเวศ ภูมิอากาศ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่ง 193 ประเทศที่ร่วมลงนามรับรองเป้าหมายการพัฒนาอันนี้ด้วย
 
ท้ายที่สุดก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นเพียง “คารมและลมปาก” ของรัฐและบรรดาเทคโนแครต ผู้กุมยังเหียนการพัฒนาประเทศ ที่มักหยิบยกประเด็นเหล่านี้เป็นดอกไม้ประดับตกแต่งเพื่อความสวยงาม มากกว่าจะปรับแปลงไปสู่การขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพราะมีรายงานงานชัดว่า ประเทศไทยสอบตกเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้เป้าหมาย MDG ที่ผ่านมา พูดอีกแบบหนึ่ง SDG จะเป็นเพียง “วาทกรรมใหม่” ภายใต้รัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ เท่านั้นหรือไม่
 
ขณะที่บรรยากาศประชาธิปไตยในสังคมการเมืองไทยก็ยังมืดมน ไร้ความหวัง มีการใช้อำนาจที่ทำให้ผู้คนในสังคมหวาดกลัว และดูเหมือนว่าประตูประชาธิปไตยจะถูกปิดใส่หน้าประชาชนพลเมืองมากขึ้นทุกวัน 
 
เพราะการบริหารโดยรัฐบาลทหารและกองทัพ ได้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเข้มงวด ด้วยข้ออ้างเรื่องความสงบเรียบร้อย/ความมั่นคง มีการนำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว (แม้จะการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ม. 44 ก็ยังคงอยู่นะครับ) ทำให้ประชาชนหรือผู้ที่ลุกขึ้นมาคัดค้าน เห็นต่างถูกจัดการด้วยอำนาจพิเศษ ที่ไร้การตรวจสอบ มีการดำเนินคดีโดยที่กระบวนการยุติธรรมและระบบตุลาการ อันเป็นเสาหลักค้ำจุนความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็อ่อนแอเกินกว่าจะทำหน้าที่ วันนี้เราจึงไม่เห็นกลไกการตรวจสอบในเชิงสถาบัน หรือจะพูดว่าไม่มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ก็ไม่ต่างกันมากนัก
 
ยิ่งในสถานการณ์ของการเร่งรุกคืบดำเนินนโยบายทางการเมืองและการพัฒนาประเทศ ภายใต้วาทกรรมประเทศไทย 4.0  ซึ่งหากพูดให้ถึงที่สุดแล้ว ผมคิดว่ายังเป็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยละเลยปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในระดับชุมชน ท้องถิ่น และสังคมไทยในภาพรวม ไม่ว่านโยบายทวงคืนผืนป่าในภูมิภาคต่างๆ โครงการพัฒนาภาคใต้ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองแร่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น
  
จะยิ่งเป็นการปิดประตูประชาธิปไตย เพิ่มการกรุยทาง-สร้างความชอบธรรมในการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้ความรุนแรงและการสร้างความหวาดกลัวทั้งในทางตรงและทางอ้อม 
 
การเปลี่ยนผ่านสังคมไทยไปสู่สังคมการเมืองใหม่ที่พึงปรารถนาร่วมกันได้นั้น ต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อรองรับความต้องการอันหลากหลาย และเร่ง “คืนความเป็นประชาธิปไตย” โดยด่วน เพื่อประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และได้ “ผนึกผสานพลัง” ร่วมกันสร้างสังคมปรองดอง ที่ให้คุณค่ากับประชาธิปไตย และความเป็นพลเมือง
 
อย่างไรก็ตาม เรียกร้องให้คืนประชาธิปไตย ก็เหมือนคำตอบในสายลม พอๆ กับความหวังอันลมๆ แล้ง จากระบบและระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน หรือประชาธิปไตยจากข้างบน ที่วันนี้กำลังเผชิญกับ “สภาวะถดถอย” เสื่อมทรุด และวิกฤตศรัทธาอย่างหนักหน่วง อันเนื่องมาจากประสิทธิภาพและความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อสร้างความเหลื่อมล้ำ ขจัดความเป็นธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิต การตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน การรับรองสิทธิเสรีภาพ และการขาดนิติธรรมในการบริหารประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกนะครับ
 
แม้แต่ในสังคมไทยเอง เราทั้งหลายพูดกันว่าอยู่ในช่วงของการปฏิรูปเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจนักว่าเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านหรือยัง) ก็ยังให้ความสำคัญกับการสร้างประชาธิปไตยจากข้างบน ด้วยความคิดแบบแช่แข็งสังคมไทยไว้ ในระบบ โครงสร้าง กลไก และความสัมพันธ์ทางสังคมหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมๆ 
 
ความหวังในท่ามกลางความมืดมนอนธการ จึงอยู่ที่การตื่นรู้และแสดงออกถึงความกล้าหาญเชิงจริยธรรม ในการลุกขึ้นมาสร้างสนามการเคลื่อนไหว ปฏิบัติการในชุมชน สังคมการเมืองในระดับล่าง ที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยจากข้างล่าง” 
 
ที่ไม่เพียงสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับฐานโครงสร้างสังคมเท่านั้น หากคือการหนุนสร้าง ผลักเคลื่อน เลื่อนเปลี่ยนโครงสร้างส่วนบนให้เข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย และท้ายที่สุดคือ การเป็นสังคมที่ให้คุณค่า-มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย
 
จึงขอชวนคุยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้อง คาบเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยชุมชน ในมิติที่เรียกว่า ประชาธิปไตย “ของชุมชน” การฟื้นพลังชุมชนในสนามต่างระดับ พลังผู้หญิงกับการพัฒนา(ประชาธิปไตย)  
 
*** ประชาธิปไตย “ของ” ชุมชน 
 
เมื่อพูดถึงชุมชน ภาพลักษณ์ การรับรู้ ความรู้สึกนึกคิดและจิตสำนึกของผู้คนโดยทั่วไปมักมองต่างกันออกใน 2 แบบ แบบสุดขั้วคือ เป็นชุมชนอุดมคติแบบสังคมชนบท “นิ่งๆ” ดั้งเดิมในอดีต กับเป็นชุมชนที่มีลักษณะสังคมแบบโครงสร้างหลวมและการตกอยู่ในวัฒนธรรม “โง่ จน เจ็บ” โฆษณา “จนเครียดกินเหล้า” คือตัวอย่างของการตอกย้ำ “หมุดหมาย” ความคิด จิตสำนึกอันส่งผลต่อการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาชุมชนเสมอมา  
 
ชุมชนจึงเป็นความชอบธรรมโดยรัฐในการเข้าไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองต่อนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายการพัฒนาในภาพรวม มากกว่ามุ่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าของชุมชน บ่อยครั้งที่ชุมชนต้องเผชิญกับการถูก “แย่งชิง” และถูกทอดทิ้งให้ภายใต้วาทกรรมการพัฒนากระแสหลัก พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ชุมชนไม่เคยถูกนับในกระบวนการพัฒนา ซ้ำร้ายยังมองว่าเป็น “ราคาที่ต้องจ่าย” แลกกับ “ความเจริญ” “ความมั่งคั่ง” และ “ความร่ำรวย” ของคนเพียงหยิบมือ, ชุมชน- ผู้คนในชุมชน จะมีตัวตนปรากฏขึ้นมาบ้างก็ในยามถูกรียกร้องให้เสียสละ ยอมรับการพัฒนาเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม วิวัฒนาการและการเติบโตของชุมชนอย่างขนานใหญ่ในการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว เรียกร้อง จัดการตนเองด้วยกิจกรรม โครงการ และแนวคิดการพัฒนา จากกระบวนทัศน์ใหม่ๆ ในช่วงหลายปีมานี้ ด้วยความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้นๆ ได้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ขึ้นอย่าช้าๆทว่ามั่นคง
 
เพราะหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยคือ การทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นเจ้าของ” ในเรื่องราวสามัญในชีวิตประจำวัน หรือที่เรียกว่าประชาธิปไตยในความหมาย “ของ” ประชาชน อันเป็นประชาธิปไตยที่ถูกสร้าง ออกแบบเพื่อชุมชน แล้วยังทำให้ชุมชน ผู้คนชีวิตสาธารณะ มีจิตสำนึกแบบพลเมือง ที่ผูกพันกับเรื่องราวของสาธารณะ กระตือรือร้นต่อเรื่องราวของสาธารณะแม้ไกลข้ามพ้นพรมแดนชุมชนสังกัด ความรู้สึกเป็นเจ้าของทำให้ประชาชนลุกขึ้นมา “กระทำการเปลี่ยนแปลง” จำให้    
 
ที่ “ชุมชนท่าข้าม” ในจังหวัดสงขลา ชุมชนได้เรียนรู้การเป็น “เจ้าของ” ชุมชน ผ่านประชาธิปไตยแบบที่ผมเรียกว่า “ย่องเงียบ”  เพราะค่อยๆ เปลี่ยนจิตสำนึกและความคิดของผู้คนอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ผ่านกิจกรรมของกลุ่มที่เป็นรูปธรรม อันแตกต่างหลากหลาย เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ การจัดสวัสดิการชุมชน กลุ่มเครื่องแกงสมุนไพร ศูนย์เรียนรู้โรงปุ๋ยชีวภาพ แหล่งเรียนรู้พลังงานทดแทน  ชมรมท่าข้ามใจดีสัมพันธ์ ชมรมผู้พิการ ชมรมผู้สูงอายุ สมาคมฌาปนกิจตำบล วิทยุชุมชน ฯลฯ
 
ความน่าสนใจของการเกิดขึ้นกลุ่มเหล่านี้ คือ แนวโน้มข้ามพ้นการเป็นกลุ่ม/ องค์กร เพื่อเติมเต็มความเสี่ยง ความขาดแคลน และปัจจัยยังชีพพื้นฐาน หรือการทำแทนรัฐเท่านั้น หากพลวัตไปสู่การพัฒนาในมิติและแง่มุมที่หลากหลาย เช่น การจัดระบบสวัสดิการ กลุ่มเศรษฐกิจและสวัสดิการบ้าน กลุ่มการจัดการระบบสุขภาพ กลุ่มการจัดการสิ่งแวดล้อม กองทุน ฯ
 
ภายใต้ระบบการพัฒนาที่เรียกว่า “ท่าข้ามโมเดล” ที่เป็นการผนึกกำลังร่วมกันของกลุ่ม องค์กร โดยมีองค์ปกปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำหน้าที่สำคัญในการเป็น “ข้อต่อ” และ “กระดุมเชื่อม” ขับเคลื่อนกิจกรรมที่กล่าวมาในข้างต้น โดยเฉพาะบทบาทของนักการเมืองท้องถิ่นหน้าใหม่ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น
 
เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงความคาดหวังของประชาชนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ก็เป็นประเด็นสำคัญที่เกิดโอกาสการแจ้งเกิดของ “หน้าใหม่” แต่ประเด็นที่อยากเน้นก็คือ การเชื่อมร้อยหลอมรวมกลุ่ม องค์กรต่างๆ ในชุมชน เข้ากับกลไกทางการเมืองเชิงสถาบัน คือ ท้องถิ่น-ท้องที่ โดยเฉพาะการแสดงบทบาทเป็น “ร่มเงา” ให้กับกลุ่ม/องค์กรเหล่านี้ ทำให้ด้านหนึ่งเป็นการ “สลายเครือข่ายเก่า/ ดั้งเดิม” และเป็นการสร้าง “เครือข่ายแบบใหม่” ที่สามารถโยงท้องถิ่นเข้ากับปัจเจกบุคคลได้ กลุ่ม และองค์กร แล้วทำให้ต่างฝ่ายแสดงบทบาท ตัวตน ได้มากขึ้นในพื้นที่/สนามชุมชน และการเมืองท้องถิ่น เพราะต่างฝ่ายต่างแสดง “พลัง” ที่ต่อรองกันได้อย่าง “เทียมหน้าเทียมตา” 
 
เครือข่ายแบบใหม่ที่ต่อรองกันได้อย่างเทียมหน้าเทียมตาที่ว่านี้ ด้านหนึ่ง “การทลายโครงสร้างอำนาจที่ค้ำจุนความไม่เท่าเทียมและการอุปถัมภ์” ที่มีมาอย่างยาวนานในชุมชน ท้องถิ่น (และสังคมไทย) จึงไม่แปลกใจที่เราจะพบว่าบทบาทและอำนาจผู้นำท้องที่ ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะไม่สามารถใช้อำนาจแบบเขื่องขลัง สั่งการได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเช่นในอดีต เพราะอำนาจได้แผ่ซานออกไปหลายศูนย์กลาง/หลายทิศทาง ขณะที่ชาวชุมชนก็แสดงความเป็น “พลเมือง” “กล้า”แสดงออกอย่างเปิดเผยในการต่อล้อต่อเถียง กระทำการสิ่งที่คาดหวังและปรารถนา “ไม่ใช่ไอ้เท่ง ไอ้ทอง” หรือ “ชี้โพ” ได้อีกต่อไป
 
สำนวน “ไม่ใช่ไอ้เท่ง ไอ้ทอง” สำนวนนี้หยิบมาจากบุคลิกของเท่งและทอง ซึ่งเป็นตัวเอกในการแสดงหนังตะลุงที่ได้รับความนิยมในภาคใต้ โดยเท่งเป็นคนพูดจาโผงผาง ไม่เกรงใจใคร ขู่สำทับผู้อื่น ส่วนทองชอบนิสัยคุยโว โม้โอ้อวด ใจเสาะ ขี้ขลาด ในความสำนวนโดยมากสื่อความหมายการไม่ได้รับการยอมรับ ไม่มีความหมาย/ไร้ตัวตนและต่ำต้อยในสายตาของคนทั่วไป
 
“ชี้โพ” ในความหมายทั่วไปหมายถึง การจำได้ หมายรู้ ในลักษณะเฉพาะของบุคคลที่สามารถคาดเดา ทำนาย การแสดงออกได้อย่างแม่นยำ ในแง่พฤติกรรมหมายถึงการเป็นคนเด็ดขาด สามารถชี้นิ้ว สั่ง พูดคำไหนคำนั้น และการเป็นนักเลงใหญ่ที่ผู้คนเกรงใจ ให้ความเคารพยำเกรง ที่สำคัญเขาเหล่านั้นก็เรียนรู้ที่จะปรับตัวที่จะอยู่รอดในสนามใหม่เหล่านี้
 
คำพูดของอดีตผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่ง ที่ว่า “ลูกบ้านเดี๋ยวนี้รู้มากกว่าผู้ใหญ่บ้าน หัวหมอขึ้น ไม่เหมือนในอดีตที่เชื่อฟังผู้ปกครอง ไม่หาญกับนาย แต่นอนนี้โต้แย้งได้ง่าย ชาวบ้านรู้มากขึ้น เราเป็นนายบ้าน ถ้ามีปัญหาตอบไม่ได้ มันไร้น้ำยา หมดมู๊ดผู้นำไปเลยที่เดียว” 
 
ซึ่งก็เกิดไปพร้อมๆ กับการที่ชุมชนได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ดังที่นักวิชาการหลายท่านพยายามนิยามและให้ความหมายใหม่เกี่ยวกับชุมชนในหลายลักษณะ เช่น สังคมหลังชาวนา ชนบทใหม่ ชนชั้นกลางระดับล่าง ชุมชนผู้ประกอบการ แต่มีสิ่งที่ร่วมกันชัดเจนมากคือ สังคม/ชุมชนข้างล่างได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ภายใต้ระบบและความสัมพันธ์ทางการผลิต และการเป็นผู้ประกอบการใหม่ ที่เชื่อมต่อกับระบบตลาดอย่างซับซ้อนและหลากหลาย ส่งผลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ โครงสร้างความรู้สึก สำนึก ตัวตนที่สัมพันธ์กับการเมือง และความเป็นพลเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนแล้ว
 
ผู้นำท้องที่ท่านหนึ่งเปรยออกมาว่า “คนเปลี่ยนไป เราใช้วิธีการสั่งการอย่างแต่ก่อนไม่ได้แล้ว...เป็นเถ้าแก่กันหมดแล้ว ตัดยางจ้างยังขับกระบะ...” ย่อมฉายชี้ให้เห็นฐานะทางเศรษฐกิจของชาวชุมชนได้เป็นอย่างดี แม้อาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่ไม่ใช่การย่ำอยู่ในปลักความยากจนที่ตายตัว เปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกต่อไป ชาวสวนยางพาราแห่งหนึ่งบอกว่า “เขา-ที่ไม่ต้องกรีดยางผ่าใบ” (หมายถึงการกรีดยางช่วงผลัดใบในฤดูร้อน ที่โดยปกติชาวสวนจะหยุดกรีดเพื่อให้ยางได้พักฟื้น แต่หากมีความจำเป็นเดือนร้อน ต้องการเงิน ฯลฯ ชาวสวนย่อมจำใจกรีด แม้รู้ว่าจะส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำยางในระยะยาวก็ตาม)
 
ในอีกด้านหนึ่งที่สำคัญมากๆ อันเป็นผลมาจาการเกิดเครือข่ายใหม่ ที่ช่วยทลายโครงสร้างการอุปถัมภ์และความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม ก็คือ เครือข่ายใหม่จะมีส่วนสำคัญในการทำให้ประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น หรือพูดให้ชัดว่า “การปกครองท้องถิ่น” ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทตนเองเพื่อรองรับความจินตนาการ ความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คน 
 
จึงไม่แปลกในที่หลายๆ ท้องถิ่นวันนี้จะมี “หน้าใหม่” จากเครือข่ายใหม่ เช่น ผู้ที่มาจากฐานผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจใหม่ และผู้นำธรรมชาติที่มีบทบาทในกลุ่มสวัสดิการ/สัจจะออมทรัพย์ กลุ่มเศรษฐกิจอาชีพเข้ามาโลดแล่น และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น
 
ในแง่นี้ การทำให้ชุมชนเรียนรู้ว่าการเมืองท้องถิ่นได้เข้ามามีผลต่อชีวิตอย่างไร หรือจะเข้าไป “ตรวจสอบ ควบคุม และกำกับ ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล กลุ่ม องค์กร ทำให้ “การเมืองท้องถิ่นเปิด-เปิดท้องถิ่นให้กว้าง” สำหรับผู้ที่ปรารถนาเข้าโลดแล่นบนถนนการเมือง และ “ทำงานการเมือง” (ย้ำว่าทำงาน ไม่ใช่เล่นการเมือง) อย่างจริงจัง จึงเท่ากับเปิดพื้นที่การเมืองให้กับบรรดาผู้นำใหม่ ได้เข้ามามีบทบาทในพื้นที่การเมืองขององค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง “เล่นเอง” “ผ่าน” จากการได้รับเลือกตั้ง การมีที่ทาง/ตำแหน่งแห่งที่ในองค์การบริหารส่วนตำบลในรูปกรรมการชุดต่างๆ
 
เมื่อชาวชุมชนเห็นว่า การเมืองได้เข้ามีบทบาทต่อการชะตาการดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมในชีวิตประจำวันมากขึ้นเท่าไร? ยิ่งเป็นการเสริม-แรงผลักดันอันมหาศาลต่อการตื่นตัวและการแสดงออกของความเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้มากขึ้น จนอยากเข้าไป “กำกับ ตรวจสอบ ควบคุม” มากขึ้นเท่านั้น นั่นเท่ากับเป็นการยืนยันสิ่งอาจารย์อเนก เหล่าธรรมทัศน์ เรียกว่า ประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น ที่หนุนเนื่องกันและกัน มีการปะทะ ต่อรอง สร้างสรรค์ ร่วมมือ
 
พิจารณาในแง่นี้ การเมืองทั้งในและนอกสถาบันจึงต่างแสดงตัวการเป็นองค์กรประชาสังคมในพื้นที่การเมืองระดับชุมชน ท้องถิ่น และสูงขึ้นไป มีการต่อรองด้วยกระบวนการ วิธีการแบบใหม่ อันเกิดจากมองเห็นช่องทาง สร้างโอกาสในการเข้าถึง/ดึงดูดทรัพยากรกันและกัน หรือออาจไปไกลถึงการสร้างนโยบายสาธารณะในระดับชุมชน หรือสูงขึ้นไป
 
กระบวนการและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับท้องถิ่น ทำให้ต่างฝ่ายต่างต้องเรียนรู้ ปรับตัว ผ่านการปฏิบัติการจริงในชีวิตประจำวัน และทำให้การเมืองท้องถิ่นเป็น “สนาม/ โรงเรียนประชาธิปไตย” ที่เคลื่อนเข้าสู่ความคาดหวัง ต้องการ และแรงปรารถนาของชุมชน ที่ถือกันว่าเป็นหัวใจและพื้นฐานสำคัญที่สุดของการสร้างประชาธิปไตย Appadurai นักวิชาการชื่อดังก็เชื่อว่า ด้วยกระบวนการดังกล่าวท้ายที่สุดแล้วจะนำไปสู่การสร้างสิ่งที่เขาเรียกว่า “ประชาธิปไตยแนวลึก (Deep Democracy) ”
 
เพราะการปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน อันเกิดจากการเรียนรู้ การเชื่อมต่อกับโลกชีวิต ข้อมูลข่าวสาร และการประทะประสานที่กว้าง ลึกซึ้งและชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติการอย่างแข็งขันผ่านการกลุ่ม/องค์กร ได้เปลี่ยนโครงสร้างความรู้สึกของชาวบ้าน ที่ไม่เพียงเคลื่อนไหวสร้าง “พื้นที่สาธารณะใหม่ๆ” สำหรับการสนทนา ต่อรองกับอำนาจในระบบจารีต อำนาจใหม่ที่เป็นของรัฐ [บาล] ท้องถิ่น อำนาจการเมือง การเลือกตั้ง และการระดมทรัพยากรให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นผลประโยชน์สาธารณะเท่านั้น แต่คือการสร้างพลเมืองที่กระตือรือร้น กล้าหาญ เชื่อมั่นต่อการเปลี่ยนแปลง
 
จึงนับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าไม่น้อยกับการที่ คสช. พยายาม “แช่แข็ง” การเมืองท้องถิ่น (หรือแม้แต่ระดับที่สูงขึ้นไป) ด้วยการ “คิดแทน-ทำแทน” และ “อคติอันเก่าก่อน” โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งชะลอการบริหารและการเลือกตั้งท้องถิ่น ความพยายามในการยุบ ควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การยกฐานะ อบต.ทั่วประเทศให้เป็นเทศบาล จัดลำดับชั้นของเทศบาลเป็นเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร (การควบรวมดังกล่าวทำให้ อบต.ลดเหลือครึ่งหนึ่งของจำนวนเดิม) และ/หรือจัดทำโครงการพัฒนาตำบล โดยใช้กลไกและ “เครือข่ายเดิม” อันแสดงถึงความไม่เชื่อมั่นชุมชน/ท้องถิ่นอย่างชัดเจน
 
ทั้งนี้ ชุมชนบนความเคลื่อนไหวอาจไม่สามารถรักษากฎกติกา และความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบเดิมได้อีกต่อไป ชุมชนจึงพัฒนาระบบโครงการสร้างความสัมพันธ์ และการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมและอำนาจใหม่ที่จะทำให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียมในการต่อรองกับอำนาจต่างๆ ทั้งในระบบจารีตดั้งเดิม อำนาจใหม่ที่เป็นของรัฐ [บาล] ท้องถิ่น อำนาจการเมือง การเลือกตั้ง และการระดมทรัพยากรให้สอดคล้องไปในทิศทางที่เป็นผลประโยชน์ของชุมชนและสาธารณะ เช่น ธรรมนูญชุมชน ซูรอ อูกุมปากัต เป็นต้น
 
กระนั้นอำนาจใหม่และเก่า จากฐานเครือข่ายเก่า-ใหม่ จะยังคงปะทะประสานไปอีกระยะหนึ่ง กว่าจะเข้าที่เข้าทางหรือลงรูปลงรอยได้ 
 
*** ฟื้นพลังชุมชนในสนามต่างระดับ
 
จะขอยกตัวอย่างถึงพลังของคนเล็กคนน้อยในฟากฝั่งทะเลอันดามัน หลังเกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่มาพร้อมกับโศกนาฏกรรมที่เจ็บปวด บาดลึกความรู้สึกของผู้คนทั้งสังคม และการช่วยเหลืออันล้นทะลักจากสังคม อันเป็นการตอกย้ำว่า ถึงที่สุดสังคมก็ไม่ทอดทิ้งกันในยามลำบาก กระนั้นความคิดความเชื่อในโครงสร้างความรู้สึกของสังคมที่มักมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เป็นเรื่องราวที่ถูกลิขิตกำหนดไว้แล้วอย่างตายตัว อันเนื่องมาจากบุญ บาป กรรม วาสนาแต่เก่าก่อน ทางออกคือ การก้มหน้าก้มตายอมรับชะตากรรม ยอมจำนน ทนฝืน ในฐานะเครื่องประโลมโลกชีวิต ไม่ให้เจ็บปวดรวดร้าวจนเกินไปนัก
 
บ่อยครั้งของเหตุการณ์โศกนาฏกรรรมในสังคม จึงเป็นเพียงการสงเคราะห์ อันเนื่องมาจากความรู้สึกสงสารที่ฉาบฉวย หรือการลดทอนให้เป็นเพียงการแผ่ใบบุญให้แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากเท่านั้น 
 
ทว่าผู้ประสบภัยกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า กลุ่มชาติพันธ์ชาวเล ได้ให้ความหมายใหม่ของการฟื้นฟู เยียวยาที่นำไปสู่การสร้างพลังอำนาจและการมีส่วนร่วมให้เขาและ/เธอเหล่านั้นลุกขึ้นมาจัดการ รังสรรค์ชีวิตใหม่อย่างมีความหวัง ที่สำคัญคือการการธำรงไว้ซึ่งคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เขาและ/เธอเหล่านั้นได้ริเริ่มกระบวนการพลิกฟื้นพลังชีวิต พลังชุมชนขึ้นมาใหม่ ทั้งในแง่การเยียวยา แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ระยะสั้น ระยะยาว รวมถึงการผลักดันการแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบาย
 
เพราะด้านหนึ่งคลื่นยักษ์สึนามิได้สาดฉายให้เห็นถึงถึงความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรม ที่ถูกปิดทับ อำพรางมาอย่างยาวนาน การสู้รบปรบมือกับรัฐและทุนที่สมคบคิดลิดรอนแย่งชิงที่ดินชุมชน ปฏิบัติการอันเข้มแข็งด้วยความหวัง ความรัก และมิตรภาพที่เกี่ยวเนื่องโยงใยผู้คนอันหลากหลาย ทั้งจากผู้ประสบปัญหา อาสาสมัคร นักจัดระบบชุมชน  นักวิชาการ นักพัฒนาสังคม ฯลฯ ได้ก้าวข้าม/พังทลายกำแพงแห่งการกีดกัน และการสร้างหน้าต่างแห่งโอกาสของชุมชน
 
กระทั่งเข้าร่วมใน “ขบวนการชุมชน”  ที่ไปไกลถึงขั้นเสนอให้มี  “เขตวัฒนธรรมพิเศษสำหรับชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์”
 
พื้นที่วัฒนธรรมชาวเล คือความหวังว่าจะทำให้สามารถใช้ชีวิตภายใต้วิถีของชาวเลอย่างปกติสุข เด็กๆ จะได้เรียนรู้ภาษาชาวเล พอโตขึ้นพวกเขาจะได้เรียนรู้วิธีการหาปลาอย่างชาญฉลาดตามแบบฉบับชาวเล ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาจะสามารถปกป้องวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษไม่ให้สูญหายไปพร้อมกับการพัฒนา ผู้นำท่านหนึ่งพูดผ่านสื่อมวลชนฉบับหนึ่งดังๆ ด้วยความมุ่งมั่นว่า
 

“สิ่งหนึ่งที่พวกเราจำเป็นจะต้องรักษาคือ พื้นที่ฝังศพของบรรพบุรุษที่วันนี้ที่ดินอันเคยเป็นสุสาน ถูกแปรสภาพเป็นสถานตากอากาศของคนรวย ที่เราก็รู้ว่าคนที่มาพักเขาคงไม่รู้หรอกว่า พื้นที่นั้นเคยมีไว้ทำอะไร แต่ความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการที่นายทุนเข้าจับจอง โดยมีรัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดหาที่ดินให้ ทั้งนี้พวกเราก็ได้แต่หวังว่า ภายหลังจากการผลักดันพื้นที่ทางวัฒนธรรมแล้วเสร็จ พื้นที่ที่มีไว้สำหรับเป็นสุสานจะได้รับการปกป้อง” 
 
วันนี้แม้เขตวัฒนธรรมพิเศษชาวเลตามมติคณะรัฐมนตรีจะยังไม่บรรลุถึงเจตนารมณ์ และนโยบายการฟื้นฟูวิถี วัฒนธรรมชาวเล และกลุ่มชาติพันธุ์ แต่การสร้างสนามการเคลื่อนไหวและปฏิบัติการอย่างน้อย 3 สนาม จากการ (1) สร้างรูปธรรมกิจกรรมในฐานที่มั่นชุมชนอย่างมั่นคง ผ่านการออมทรัพย์ การจัดตั้งกองทุน ฯลฯ (2) การรุกเข้าไปในโครงสร้าง/กลไกรัฐในช่องทาง/กลไกต่างๆ ของรัฐท้องถิ่นและระดับชาติ และ (3) การเรียกร้องความเห็นใจจากสังคมด้วยเครื่องมือทางสังคมวัฒนธรรม ทำให้เขาและ/เธอเป็นผู้กำหนดกติกา สร้างวาทกรรม “ผู้บุกเบิก ไม่ใช่ผู้บุกรุก” หรือ “จากเหยื่อมาเป็นผู้กอบกู้” ในสนามนั้นๆ อย่างน่าอัศจรรย์
 
ในหนังสือสึนามิ คลื่นแห่งการปฏิรูป เขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความงอกงามของขบวนการประชาชนหลังสึนามิ ทีละก้าว ทีละขั้นคนเล็ก คนแล้วคนเล่า ลุกขึ้นมายืนหยัด รวมใจสานพลังเป็นเครือข่าย ภาคประชาชน แก้ปัญหาของตนเอง ชุมชน ขยายสู่การช่วยเหลือผู้อื่น และผู้ที่ยากลำบากกว่า เป็นขบวนการชุมชนที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนก้าวสู่การปฏิรูปสังคมให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ที่สะสมมาอย่างยาวนานในสังคมไทย เพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่และเป็นสุขร่วมกัน” 
 
วันนี้พวกเขาได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมกับชุมชนชายขอบทั่วประเทศกว่า 10 เครือข่าย แล้วจัดตั้งเป็น “เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง” มีขอบเขตการทำงานที่สร้างผลสะเทือนทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้มีจุดเล็กมาจากการออมทรัพย์ เป็นการออมเพื่อเปลี่ยนโลกจริงๆ
 
และก้าวไปไกลถึงขั้นเสนอกฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายคนจร-4 Laws for Poor” เพื่อสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดิน โดยร่วมกับภาคีและเครือข่ายที่รวมตัวกันในนาม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” หรือ “พีมูพ” กฎหมายที่ว่านี้ก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ภายใต้สโลแกนที่ว่า “4 Laws for Poor เพื่อไทยเท่ากัน
 
หรือในภาคใต้ที่วันนี้ต้องเผชิญกับโครงการแผนพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ โรงไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ แลนด์บริดจ์ รถไฟรางคู่ ปิโตรเคมี ถ่านหิน เหมืองแร่ ฯลฯ ที่หากว่าโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ จะทำให้ จะทำให้เกิดสิ่งที่ผมเรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ภาคใต้อย่างถอนรากถอนโคน” 
 
ที่สำคัญคือ การทำให้เกิด “ผลกระทบสะสม” ที่เป็นลูกโซ่อันสลับซับซ้อน เชื่อมโยงทั้งด้านสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม ชุมชนจึงได้ลุกขึ้นมาสร้างสนามในหลายระดับ เพื่อการปกป้องทรัพย์สาธารณะเหล่านี้ มีการ “การประกอบสร้างพลังการเคลื่อนไหวจากการผนึกกำลังอันหลากหลาย” ไม่ว่าจะเป็นของชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อ นักวิชาการ ฯลฯ เข้าด้วยกัน
 
ปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และ สมบูรณ์ คำแหง อดีตเลขาธิการ กป.อพช.ใต้ เสนอไว้ตรงกันว่า จุดชี้ขาดของการเคลื่อนไหวจะอยู่ที่ภาคีของความร่วมมือที่การผสมผสาน ประสานกันอย่างลงตัว การมีระบบฐานข้อมูลที่เป็นชัดเจน และที่สำคัญที่สุดคือ การทำงาน “จัดตั้งและการกำหนดประเด็นงานในชุมชน” ให้เป็นรูปธรรม การรวบรวมและยกระดับข้อมูลแล้วทำให้ “ข้อมูลถ่ายเทสู่การรับรู้ทุกระดับ และดันเข้าสู่ช่องทางต่างๆ” 
 
ซึ่งก็คล้ายกับที่ได้เสนอไว้ในงาน “สมัชชา กป.อพช. ภายใต้ปฏิญญา 30 ปี กป.อพช.จับปลาต้องลงน้ำ” เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมาว่า
 
ทิศทางการทำงานพัฒนา และการปฏิบัติการเคลื่อนไหว การผสมผสานข้อมูลเชิงวิชาการ การจัดเวทีสาธารณะ การทำฐานข้อมูลผ่านสื่อ สาธารณะและการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างแรงเกาะเกี่ยวกับโครงสร้างส่วนบน จัดทำข้อเสนอนโยบายและผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ พัฒนาระบบข้อมูลวิชาการ การประสานวิชาการ โดยมีรูปธรรมการเรียนรู้จากชุมชน และพื้นที่รองรับและสนับสนุน จะทำให้เกิดการสร้าง-ค้น-เส้นทางสังคม-ชุมชนใหม่ ที่มีประสิทธิภาพ และสั่งสมความชอบธรรมในการปฏิบัติการ”  
 
จึงอยากสรุปในชั้นนี้ว่า ประชาธิปไตยชุมชน ด้านหนึ่งคือการใช้รูปแบบประชาธิปไตยแบบอ้อมๆ แต่อีกด้านที่สำคัญคือประชาธิปไตยทางตรง ในแง่การสร้างทางเลือกการพัฒนา การระดมมวลชน การเคลื่อนไหว และการปฏิบัติการที่เชื่อมต่อในหลายระดับ หลายสนามด้วยกัน เพื่อให้เข้าสู่การจัดการตนเอง สร้างความเชื่อมั่นต่อการเปลี่ยนแปลง การลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาและการสถาปนาอำนาจ “ของ” ประชาชนที่สามารถสร้างการต่อรอง เรียกร้องได้ หรือสร้างอนาคตของตนเองได้    
 
*** พลังผู้หญิงกับการพัฒนา(ประชาธิปไตย) 
 
เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยชุมชน เราไม่อาจละเรื่องผู้หญิงไปได้ ผมอยากเชิญชวนลงไปที่ชายแดนใต้ ในท่ามกลางปัญหาความไม่มั่นคงและความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อ ยาวนานและทวีความรุนแรงต่อเนื่องเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ได้นำมาซึ่งความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอย่างขนานใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสังคมไทยในภาพรวม
 
แต่ในด้านหนึ่งของสถานการณ์ความไม่มั่นคงและความรุนแรง ได้มีการรวมตัวขององค์กรชุมชนเป็นเครือข่ายความร่วมมือในชื่อ “เครือข่ายชุมชนศรัทธา” หรือ “กำปงตักวา (Kampung Taqwa)” วัตถุประสงค์เพื่อ (1) การพัฒนาวิถีชุมชนให้สอดคล้องกับหลักการและแนวทางศาสนา (2) การพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนให้เกิดสันติสุข (3) การฟื้นฟูวิถีและวัฒนธรรมชุมชน และ (4) เพื่อวางรากฐานการพัฒนาแบบพึ่งตนเองของชุมชน
 
โดยใช้กลไก 4 เสาหลัก ประกอบด้วย ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และผู้นำตามธรรมชาติ เพื่อสร้างชุมชนและการพัฒนาชุมชนที่เรียกว่า “ความเป็นชุมชนศรัทธา” ครอบคลุมมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง และจิตวิญญาณ
 
การดำเนินงานของเครือข่ายชุมชนศรัทธา ทำให้เกิดผลสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานอัตลักษณ์ชุมชนและวัฒนธรรม การพัฒนากิจกรรมใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความคาดหวังและความต้องการของชุมชน การคิดค้นกิจกรรมสู่ความยั่งยืนและการพึ่งตนเอง ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในแนวทางการพัฒนา หน่วยงานภายนอกให้การยอมรับและมีทัศนคติที่ดีในการส่งเสริม/สนับสนุนการดำเนินงานของชุมชนมากขึ้น
 
ความน่าสนใจในการดำเนินงานของเครือข่ายชุมชนศรัทธาคือ “ผู้หญิง” ที่เรียกขานตัวเองว่า “ผู้หญิงศรัทธา” เดิมทีผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนใหญ่ถูกเขียน พูด และนำเสนอในแง่ภาพลักษณ์ของความน่าเห็นใจและน่าสงสาร ในฐานะผู้สูญเสียจากความรุนแรง และถูกทำให้หายไปในกระบวนการพัฒนา
 
แต่บทบาทผู้หญิงกลุ่มนี้น่าสนใจว่า แม้ในระยะแรกๆ ยังไม่เปิดกว้างมากนัก การก้าวออกมาจากครอบครัว สู่กิจกรรมการพัฒนาเชิงสาธารณะมักเริ่มต้นจากกิจกรรมเล็กๆ ที่ผู้ชายส่วนใหญ่มองข้าม หรือมองว่าไม่ใช่งานของผู้ชาย โดยใช้กระบวนการพื้นฐานคือ การสร้างความสัมพันธ์พื้นฐานผ่านการพูดคุย สนทนาในชีวิตประจำวัน การสร้างความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน การริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆ ใกล้ๆ ตัว เช่น การออมทรัพย์ อสม. กลุ่มอาชีพ กลุ่มสิ่งแวดล้อม
 
จากนั้นจึงยกระดับการประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่สามารถถ่ายเทและจัดสรรทรัพยากรให้ชุมชนได้ ซึ่งในท้ายที่สุดทำให้ผู้นำชายและชาวชุมชนให้การยอมรับ อันส่งผลต่อการปรับความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ในระดับชุมชนและภายนอก ที่สำคัญคือ ปัญหาและความรุนแรงในชุมชนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
 
แกนนำผู้หญิงท่านหนึ่งบอกกับผมอย่างมั่นใจว่า “ชุมชนศรัทธาเหมาะสมกับชาวบ้าน ทำให้ปัญหาในชุมชนลดลงและเกิดสันติภาพ...สันติภาพที่ไม่ใช่เพียงแค่การเยียวยาเท่านั้น แต่คือความพยายามในการสร้างพื้นที่เสรีภาพในชุมชน กิจกรรมใดก็แล้วแต่ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้หญิงก็ไปไม่รอด กระแสเรียกร้องผู้หญิงมีมากขึ้นในชุมชน ที่สำคัญเป็นการเรียกร้องจากผู้ชายที่ครั้งหนึ่งมองว่าผู้หญิงไม่มีพลังไม่มีศักยภาพ แต่วันนี้สันติภาพอยู่ในกำมือผู้หญิง”
 
ช่างสอดคล้องกับแถลงการณ์ของเครือข่ายผู้หญิงขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เมื่อวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา
 
“ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ยึดโยงครอบครัวและชุมชนให้อยู่ได้  เป็นผู้นำตัวจริงในการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งในระดับครอบครัวและชุมชนทั่วประเทศ นอกจากนั้นผู้หญิงยังมีบทบาทในการคลี่คลายความขัดแย้ง เป็นคนสร้างและรักษาทุนทางสังคม วัฒนธรรมในชุมชน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันผู้หญิงกำลังถูกคุกคามและถูกกระทำความรุนแรง อันเนื่องมาจากมาตรการและนโยบายที่กีดกัน ซ้ำเติม ไม่ให้ผู้หญิงเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน เพื่ออยู่อาศัยและทำกิน ทำให้ไม่สามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้...
 
“ดังนั้น รัฐบาลต้องทบทวน ปรับปรุง มาตรการและนโยบาย ที่กีดกัน ซ้ำเติม สร้างความรุนแรงต่อผู้หญิง และชุมชน และต้องมีมาตรการในการสนับสนุนผู้หญิงในการพัฒนา... 
 
“สุดท้ายนี้ เครือข่ายผู้หญิงขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธารรม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องไม่มีมาตรการและนโยบายในการกีดกัน คุกคาม จำกัดสิทธิในการเคลื่อนไหวตามกรอบประชาธิปไตย จงปล่อยเราให้เป็นอิสระจากพันธนาการ ให้เราได้ส่งเสียงเรียกร้อง เคลื่อนไหวอย่างอิสระ เพื่อปกป้องบ้าน ปกป้องชุมชน ปกป้องวิถีชีวิต ค้ำจุณดำรงวิถีวัฒนธรรม ที่กำลังถูกคุกคาม ทำลาย พวกเราขอพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง เพื่อร่วมสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคม”
 
นับเป็นการผนวกรวมกับวาทกรรมหลักโดยรัฐ ถือเป็นการกำหนดนับในสนามที่บางครั้งไม่จำเป็นต้องสร้างเอง แต่ย้อนศรในสนามของอำนาจนำก็ได้ 
 
คิดว่าวันนี้ “ชุมชน” ได้แสดงพลัง บทบาทในการสร้างสรรค์การพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม มีการเคลื่อนไหวและการปฏิบัติการทางสังคมและการเมือง จากการเกี่ยวร้อย “เครือข่าย” หลายหลากภาคี มีปัญญาปฏิบัติและรูปธรรมเชิงพื้นที่ ทำให้สามารถพัฒนารูปการจิตสำนึกใหม่ ตำแหน่งแห่งที่ ตัวตนที่สัมพันธ์กับการเมือง-ความเป็นพลเมือง การเปลี่ยนแปลงการจัดตั้งทางสังคมในสถาบันและนอกสถาบันการเมือง และเครือข่ายความสัมพันธ์ในแนวราบที่เทียมหน้าเทียมตาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ “ชุมชน” สามารถเป็นส่วนหนึ่งของ “การพัฒนาที่ถูกนับ” และลุกขึ้นมา “กำหนดนับ” อย่างตื่นตาตื่นใจ (ทว่าอาจไม่คุ้นเคยในระบบ-โครงสร้างสังคม การเมืองที่สถาปนา ยึดกุมอำนาจนำ [Hegemony] การพัฒนาที่ไม่ถูกนับ)
 
สิ่งเหล่านี้จะเป็นการเสริมแรงอันมหาศาล ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสู่ประชาธิปไตยที่สูงขึ้นไปอันเป็นประชาธิปไตยที่เสมอภาค  เท่าเทียม และเป็นธรรมสำหรับทุกชั้นชนในสังคม 
 
มหาวิทยาลัยน่าจะได้มีบทบาทสนับสนุนการศึกษาเพื่อสร้างประชาธิปไตยชุมชนได้บ้าง ในวันที่ชุมชนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นักวิชาการ นักศึกษา ต้องละสายตาการมอง/วิเคราะห์ชุมชนในกรอบการวิเคราะห์แบบโครงสร้างหลวม หรือวัฒนธรรมชุมชน แบบที่ผ่านมา เพราะซึ่งทั้ง 2 กรอบคิดนี้ยังมองชุมชนแบบหยุดนิ่ง ตายตัว และแข็งตัว ทำให้ไม่สามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงอันสลับซับซ้อนของชุมชน 
 
แต่การศึกษาประชาธิปไตยชุมชน (และสูงขึ้นไป) จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ ทำความเข้าใจและมองเห็นความสำคัญของการวิเคราะห์ชุมชน และพัฒนากระบวนการพัฒนาที่มีพลังมากยิ่งขึ้น แต่เราจะทำแบบนี้ได้ก็ต่อเมื่อเปลี่ยนวิธีการสอน-วิธีการเรียนรู้ชุมชนกันใหม่
 
การศึกษาชุมชนจะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าไม่สามารถการเชื่อมโยงเรื่องราวชีวิตของผู้คนในชุมชน และคนอื่นที่ไกลออกไปได้ ในฐานะผู้สอนต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้นักศึกษา เรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่ผูกพันตนเรากับแรงปรารถนาของผู้คนในชุมชน
 
สามารถวิเคราะห์วิเคราะห์ สังเคราะห์ปรากฏการณ์หรือข้อมูลจำนวนมากพอที่จะ “ยกระดับ” ให้เป็นคำอธิบายที่ครอบคลุมได้มากขึ้น การเรียนรู้ชุมชนในรูปแบบนี้จะช่วยให้เกิดความงอกงามทางปัญญา เกิดการมองโลกที่เป็นจริง มีมุมมองความคิด เชิงวิพากษ์ มีความเห็นอกเห็นใจตัวตนและเคารพผู้อื่น มีสำนึกแบบพลเมือง เห็นอกเห็นใจ ให้ความสำคัญกับความมนุษย์ ที่สำคัญคือ “การมีจิตวิญญาณประชาธิปไตย ที่พร้อมปฏิบัติการอย่างอย่างสร้างสรรค์....”
 
คาดหวังเราทั้งหลายจะเดินไปบนเส้นทางนี้อย่างเชื่อมั่นครับ?!?! 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น