xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มแล้วฟังความเห็นร่างธนาคารที่ดินภาคสุดท้ายก่อนสรุปส่ง สนช.พิจารณา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุราษฎร์ธานี - เริ่มแล้วเวทีประชาพิจารณ์ชี้แจงทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน ในพื้นที่ภาคใต้ ที่สุราษฎร์ธานี เป็นภาคสุดท้าย ก่อนสรุปส่ง สนช.พิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่อไป ด้านผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน วอนประชาชนสนับสนุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ดินทำกินระหว่างคนรวยกับคนจน

เมื่อเวลา 09.30 น. (30 มี.ค.) ที่ห้องประชุมห้องแก้วสมุยคอนเวนชั่นแก้ว โรงแรมแก้วสมุย รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ เป็นตัวแทนเปิดเวทีชี้แจงทำความเข้าใจ และระดมความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน พ.ศ. ... โดยมีตัวแทนธนาคารพาณิชย์ ธนาคาร ธ.ก.ส. ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้เข้าร่วมเสวนากว่า 200 คน

นางนัยร์รัตน์ เผดิมรอด ภู่งาม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กล่าวว่า การจัดโครงการชี้แจงทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดินในวันนี้ สืบเนื่องมาจากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. มีภารกิจที่ได้รับมอบหมายตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันตามความในมาตรา 7(1) ให้จัดตั้งธนาคารที่ดิน โดยธนาคารที่ดินนั้นจะเป็นกลไกของรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการบริหารที่ดินเพื่อเกษตรกร และผู้ยากจน การป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในการพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารที่ดินทำกินของเกษตรกร ตลอดจนมรภารกิจในการส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างเต็มศักยภาพ โครงการในวันนี้ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานรัฐ องค์กรชุมชม ภาคประชาสังคม ตลอดจนเกษตรได้ร่วมกันจัดทำขึ้น อย่างไรก็ดี เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดินมีความสมบูรณ์ เหมาะสม และสอดคล้องต่อแนวทางการบริหารจัดการที่ดินของประเทศไทย บจธ. จัดโครงการนี้ขึ้น

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในเนื้อหาบทบาทภารกิจหน้าที่ ตลอดจนขอบเขตในการดำเนินการของธนาคารที่ดิน พร้อมกับเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดินฉบับดังกล่าวจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปปรับแก้ไขเพิ่มเติมให้ร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน มีความเหมาะสมต่อการจัดตั้งธนาคารที่ดินในบริบทของประเทศไทย โดยดำเนินการในแต่ละภูมิภาค ทั้งสิ้น 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยเริ่มเสวนา และรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นครั้งแรก

ซึ่งการจัดโครงการในครั้งแรก บจธ. ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรชุมชม กลุ่มเกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินกิจการของธนาคารที่ดิน ตลอดจนผู้ที่ให้ความสนใจในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน แนวความคิดในการจัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในการสร้างความมั่นคงในฐานทรัพยากรที่ดินของประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีแนวทางในการที่จะจัดตั้งธนาคารที่ดินมาโดยตลอด ตั้งแต่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 19 มีนาคม 2511 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 49 ปี ที่คนไทยรอคอยการจัดตั้งธนาคารที่ดิน โดยร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน ที่ทุกท่านได้มีส่วนร่วมกันฟังและแสดงความคิดเห็นนี้เป็นร่างพระราชบัญญัติที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ได้จัดทำขึ้น โดยร่างเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การป้องกัน และแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดิน การกระจายการถือครองที่ดิน และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดิน และได้นำเสนอตามขั้นตอนมาโดยตลอด และปรับแก้ไขให้มีความสมบูรณ์เหมาะสมต่อบริบทของประเทศไทย โดยยึดถือหลักในการที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินอันเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศอย่างยาวนาน ซึ่งเรื่องธนาคารที่ดิน เป็นนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งเป็นวาระปฏิรูปที่สำคัญ และเร่งด่วน 27 ประเด็น โดยต้องขับเคลื่อนให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2560 นี้

ด้าน นายสถิตพงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ได้กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินเหมือนกับร่างของธนาคารของคนจน เพราะธนาคารที่ดินแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดินของประชาชน โดยช่วยผู้ไร้ที่ทำกินให้มีที่ทำกิน ช่วยให้เกษตรไม่สูญเสียสิทธิที่ดิน และที่สำคัญก็คือ ทำให้ประชาชนในประเทศใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการยึดครองที่ดิน และเป็นการช่วยเกษต รและผู้ยากจน เป็นการลดการเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม ร่าง พ.ร.บ.ปัจจุบันร่างเสร็จแล้ว และเปิดรับความคิดเห็นของประชาชนในภาคต่างๆ และภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นภาคสุดท้าย ก่อนจะสรุปเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกฏหมายต่อไป คาดว่ารัฐบาลอาจจะให้เสร็จสิ้นภายในปี 60 หรือไม่ก็ต้นปี 2561

ส่วนอุปสรรคยังมีประชาชนส่วนหนึ่งไม่เข้าใจ และอาจเข้าใจว่าจะไปกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ไปกระทบต่อคนที่มีที่ดินมาก ซึ่งตรงนี้ในระยะแรกคงไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวมากมายนัก เราจะช่วยในการแก้ปัญหาเรื่องหนี้จะหลุดมือ ในเรื่องของผู้ที่จะกระทบของที่ดินมากๆ คงจะเป็นเรื่องของภาษีก้าวหน้า แต่เราจะเข้าไปช่วยคนที่ถูกภาษีก้าวหน้าสามารถมาปล่อยที่ดินกับธนาคารได้ ธนาคารจะช้อนซื้อมาจ่ายให้คนจน อยากให้ประชาชนคนไทยสนับสนุนธนาคารที่ดินให้มีธนาคารที่ดินเกิดขึ้น ซึ่งที่จริงแล้วประเทศไทยควรจะมีธนาคารที่ดิน 30-40 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรจะได้มีที่ดินทำกิน มีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง
กำลังโหลดความคิดเห็น