xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศชัด! ขอยุติโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ “ปลายด้ามขวาน” บนเวทีเสวนาโครงการฯ “EIA EHIA กับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ ม.อ.หาดใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เวทีเสวนาวิชาการด้านสันติศึกษาและความขัดแย้งประเด็นปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ “EIA EHIA กับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ยืนกรานประชาชนทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการยกเลิกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาครัฐทั้งหมด

วานนี้ (9 มี.ค.) ที่ห้อง LRC1 ชั้น 8 อาคารศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.หาดใหญ่) รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ ผอ.สถาบันสันติศึกษา เปิดการเสวนาวิชาการ และบรรยายพิเศษเรื่อง “EIA EHIA กับระบบธรรมาภิบาลของโครงการพัฒนาจากภาครัฐ” ต่อด้วยการระดมความคิดเห็น เรื่อง “กระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA EHIA) ต่อโครงการพัฒนาจากภาครัฐในพื้นที่ภาคใต้”
 

 
โดย นายเอกชัย อิสระทะ นักวิจัยอิสระ ผู้ดำเนินรายการ อาจารย์ดิเรก เหมนคร ตัวแทนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา นายประวิทย์ ทองประสม ตัวแทนพื้นที่สายส่งไฟฟ้า (ผาดำ) นายรุ่งเรือง ระหมันยะ ตัวแทนโครงการท่าเรือน้ำลึกสวนกง นายไกรวุฒิ ชูสกุล ตัวแทนโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา นายมูฮำหมัด สาเมาะ ตัวแทนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลบ้านคู นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้

โดยการเสวนาครั้งนี้ เนื่องจากพบว่าปัญหาของชุมชนที่เกิดขึ้นจาก EIA กับ EHIA มีมากมาย ทั้งในรายละเอียดทางเทคนิค ที่ว่าโดยรวมการศึกษาที่ไม่ครอบคลุมในประเด็นที่ประชาชนต้องการ การไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร การไม่เข้าถึงข้อมูล การที่ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของโครงการ แล้วก็มีแนวโน้มที่จะเข้าข้างผู้ที่จะว่าจ้าง เพื่อให้ผลการศึกษาออกมาตามแนวทางนั้น
 

 
ประเด็นที่ประชาชนเห็นต่าง และไม่มีโอกาสในการศึกษา หรือการให้ข้อมูล หรือการศึกษาแบบ EIA และ EHIA ในแบบคู่ขนาน การกำหนดขอบเขตการศึกษาที่มีข้อจำกัดไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงของสภาพการภูมิประเทศ หรือสภาพการทางสังคม เรื่องของกรณีการศึกษาที่เกิดขึ้นในพื้นที่กลับพบว่า EIA เป็นไปแบบเร่งรีบ เป็น EIA ที่มีการใช้โครงสร้างอำนาจรัฐเข้าหนุน เพื่อให้กระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามแนวทางนโยบายของภาครัฐ

โดยมีการปักหมุดฟันธงจากภาครัฐก่อนให้เป็นนโยบาย แล้วจึงมาทำการศึกษาทีหลัง มีการสร้างมวลชนเทียม แจกของเกณฑ์คน และกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ในการรับช่องทางเพื่อที่จะไปสู่เป้าของการอนุมัติ EIA เรื่องราวเหล่านี้มีผลกระทบทั้งในเชิงโครงสร้าง แล้วก็เชิงรูปธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่
 

 
ซึ่งได้ข้อสรุปบนเวทีร่วมกันว่า เรื่องแรกคือ ประชาชนทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการยกเลิกโครงการในชุดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ทั้งหมดของภาครัฐ ยกตัวอย่างกรณีโครงการของภาครัฐทั้ง 2 ฝั่งทะเลทั้งอันดามัน และอ่าวไทย เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โรงไฟฟ้าชีวมวล สายส่งไฟฟ้าที่ผาดำ รถไฟรางคู่ เหมืองหิน

เรื่องที่สอง คือ นอกจากยกเลิกชุดโครงการเหล่านี้แล้ว ภาครัฐควรไปปรับแก้กฎหมาย กฎระเบียบให้สอดคล้องตรงกับเจตนารมณ์ของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมถึงปรับกระบวนการให้ชัดเจนว่า ก่อนที่จะมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในรายชิ้นโครงการนั้นๆ ควรมีการประเมินสถานะขนาดใหญ่ รวมไปถึงระเบียบการรับฟังความคิดเห็น และการทำประชาพิจารณ์ที่น่าจะต้องปรับปรุงให้เป็นแบบอารยประเทศที่ได้ทำกัน
 

 
เรื่องที่สาม คือ ที่ประชุมมีความคิดเห็นร่วมกันว่าข้อเสนอ หรือทางออกทางแก้ในการพัฒนาโครงการดังกล่าวนี้ ประชาชนควรเป็นผู้กำหนด ทั้งกรณีของโรงไฟฟ้า กรณีของการพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืนที่เป็นชุมชนชายฝั่ง ชุมชนประมง ชุมชนทะเล แล้วก็รวมทั้งพื้นที่ที่ติดเขตภูเขา

พร้อมกันนี้ ยังได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ “เดินด้วยรักจาภูผา ถึงทะเล” เพื่อหยุดโครงการขนาดใหญ่ที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจะร่วมกันเดินทางจาก เขาคูหา จ.สงขลา ถึง ปากบารา จ.สตูล บนระยะทางประมาณ 101 กิโลเมตร ในระหว่างวันที่ 10-16 มีนาคม 2560
 


กำลังโหลดความคิดเห็น