xs
xsm
sm
md
lg

ทัพเรือภาค 3 ให้การช่วยเหลือลูกเรือประมงโบลิเวีย หลังนายจ้างชาวไต้หวันลอยแพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ทัพเรือภาคที่ 3 ให้การช่วยเหลือลูกเรือเรือประมงต่างชาติสัญชาติโบลิเวีย ที่ถูกควบคุมไว้ที่ภูเก็ต 10 คน หลังถูกนายจ้างชาวไต้หวันลอยแพ ไม่ยอมจ่ายเงินเดือน และส่งกลับประเทศ ลูกเรือระบุเรือประมงทั้งหมดเข้าออกภูเก็ตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง โดยนำปลาที่จับได้จากพม่ามาขึ้นที่ภูเก็ต เพื่อส่งออกและเข้าโรงงานแปรรูป

เมื่อเวลา 16.30 น.วันนี้ (30 ธ.ค.) พล.ร.ท.สุรพล คุปตะพันธ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต 3 (ศรชล.เขต 3) พร้อมด้วย พล.ร.ท.วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานและเลขานุการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้ให้การช่วยเหลือลูกเรือประมงต่างชาติ จำนวน 10 คน ที่เป็นชาวอินโดนีเซีย 9 คน และชาวฟิลิปปินส์อีก 1 คน โดยลูกเรือทั้งหมดนี้เป็นลูกเรือของเรือประมงสัญเบ็ดราวทูน่าสัญชาติโบลิเวีย ที่ถูกศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต 3 ควบคุม และดำเนินคดีไว้ที่ภูเก็ตจำนวน 7 ลำ เนื่องจากสวมทะเบียนเรือเป็นสัญชาติโบลิเวีย และเข้ามาโดยผิดกฎหมาย โดยได้มอบผ้าปูละหมาด ให้ชาวอินโดนีเซีย น้ำ อาหารแห้ง และเงินสดคนละ 500 บาท พร้อมทั้งตรวจสุขภาพ และให้ลูกเรือทั้ง 10 คน พักอาศัยอยู่ภายในบ้านรับรองของทัพเรือภาคที่ 3 จนกว่าพนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนลูกเรือทั้ง 10 คน แล้วเสร็จในฐานะพยานในคดี

โดยหลังจากที่เรือประมงสัญชาติโบลิเวียได้ถูกควบคุมไว้ที่ภูเก็ต เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2559 ที่ผ่านมา ทำให้ลูกเรือทั้ง 10 คน ไม่สามารถที่จะเดินทางกลับประเทศได้ เนื่องจากทางนายจ้างคือ เจ้าของเรือยังไม่จ่ายเงินเดือน ทำให้ลูกเรือไม่สามารถซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับประเทศได้ ประกอบกับการสอบสวนของพนักงานสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จึงให้ลูกเรือพักอยู่ในเรือประมง แต่สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างที่จะลำบาก ขาดอาหาร จึงได้ย้ายไปอยู่ยังบ้านมิตรไมตรี ในฐานะพยานของคดีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทางนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทางกองทัพเรือเข้ามาดูแลให้การช่วยเหลือลูกเรือทั้ง 10 คน ตามหลักมนุษยธรรม เพราะลูกเรือทั้ง 10 คน เข้ามาทำงานในเรือประมงดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้มีการลักลอบเข้ามาทำประมงแต่อย่างใด จึงได้ย้ายลูกเรือทั้ง 10 คน เข้ามาพักในบ้านรับรองของทัพเรือภาคที่ 3 จนกว่าจะสอบสวนแล้วเสร็จ และนายจ้างจ่ายเงินเดือนที่ยังค้างอยู่ โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของอาหารทั้ง 3 มื้อ

พล.ร.ท.สุรพล คุปตะพันธ์ กล่าวว่า ลูกเรือทั้ง 10 คน เป็นลูกเรือที่ตกค้างจากเรือประมงสัญชาติโบลิเวีย หลังจากที่ทางราชการได้ควบคุมเรือประมงสัญชาติโบลิเวียทั้ง 7 ลำมาทำการตรวจสอบ ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งลูกเรือทั้ง 10 คนนี้ไม่ได้เป็นผู้ต้องหาแต่อย่างใด เพราะเข้ามาทำงานในเรือประมงถูกต้องผ่านทางนายหน้าจัดหาคนงาน โดยก่อนหน้านี้ ทางเจ้าของเรือประมงดังกล่าวได้จัดซื้อตั๋วเครื่องบิน และจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกเรือเพื่อเดินทางกลับประเทศไปแล้วบางส่วน ยังเหลืออีก 10 คน ที่นายจ้า งหรือเจ้าของเรือยังไม่จ่ายค่าจ้างและขณะนี้เจ้าของเรือซึ่งเป็นชาวไต้หวันได้หายตัวไปแล้ว เหลือแต่เพียงพนักงานที่เป็นคนไทยซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นเพียงพนักงานของบริษัท หรือเป็นหุ้นส่วนบริษัทดังกล่าว

“ลูกเรือเป็นผู้เสียหาย ในช่วงที่ผ่านมา มีการติดต่อประสานงานกับกงสุลอินโดนีเซีย ประจำจังหวัดสงขลา มาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการร้องขอว่าให้ช่วยสนับสนุน ในระหว่างที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำ เพื่อคลี่คลายคดีเกี่ยวกับเรือประมงเบ็ดราวทูน่า น้ำลึก เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้ เนื่องจากลูกเรือทั้งหมดถือว่าเป็นพยานในคดี และเป็นผู้เสียหายในคราวเดียวกัน เพราะเหมือนกับถูกลอยแพ คือ นายจ้างไม่ได้ดูแลอีกต่อไป ดังนั้น ทัพเรือภาคที่ 3 จึงพยายามช่วยเหลือตามศักยภาพที่มีอยู่โดยจัดห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควร ให้พักในระหว่างการสอบปากคำเพิ่มเติม และรอทางการอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์มารับตัวกลับประเทศต่อไป เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ถึงแม้จะมีหนังสือเดินทางถูกต้อง แต่พิธีการเข้าเมืองตามขั้นตอนของชาวเรือต่างประเทศเข้ามาในน่านน้ำไทย หรือตรวจคนเข้าเมือง หมดอายุตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา”

ด้าน พล.ร.ท.วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานและเลขานุการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กองทัพเรือสนับสนุนช่วยเหลือลูกเรือต่างประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการประมงระหว่างประเทศ และหรือถูกควบคุมเอาไว้เพื่อตรวจสอบแล้วดำเนินการในคดีเนื่องจากเป็นเรือที่กระทำผิดตามพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทยอย่างชัดเจน
และทราบว่าในขณะนี้เจ้าของเรือหลบหนีไปแล้ว ทางกองทัพเรือ และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรวิชิต กำลังหารือกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานแรงงานจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือดูแลตามความจำเป็นต่อไป

ในขณะเดียวกัน ในแนวทางการสืบสวนของพนักงานสอบสวน พบว่า บริษัทที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 3 บริษัท มีนักธุรกิจ หรือนายทุนทั้งที่เป็นชาวไต้หวัน และชาวไทย ภูมิลำเนาจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมหุ้นอยู่ด้วย กำลังอยู่ระหว่างการสอบปากคำลูกเรือทั้งหมด 10 คน จึงทราบข้อมูลที่ชัดเจนที่จะดำเนินการต่อเนื่องต่อไป

ทางเจ้าหน้าที่มีหลักฐาน ระบุว่า เรือประมงเบ็ดราวทูน่าน้ำลึกบางส่วนเจ้าของเดิมเป็นชาวมาเลเซีย แต่มีการซื้อขายให้แก่ชาวไต้หวัน และได้เข้ามาทำการประมงอย่างถูกต้องตามกฎหมายบริเวณ 200 ไมล์ทะเลห่างจากฝั่งประเทศพม่า แต่เมื่อได้สัตว์น้ำแล้วจะต้องนำไปขึ้นที่ประเทศพม่า แต่เลือกที่จะเดินทางเข้ามาในน่านน้ำจังหวัดภูเก็ตแทน และก่อนที่จะถูกควบคุมไว้เรือเหล่านี้ได้เข้าออกภูเก็ตอย่างน้อย 3 ครั้ง จนกระทั่งถูกตรวจสอบ และถูกควบคุมในที่สุด ในเบื้องต้นถือว่าเป็นเรือไร้สัญชาติ เพราะมีการตรวจสอบไปยังประเทศโบลิเวียแล้วแต่ไม่พบว่าเรือทั้งหมดมีการจดทะเบียนที่ประเทศโบลิเวียแต่อย่างใด

พล.ร.ท.วรรณพล กล่อมแก้ว กล่าวอีกว่า ในเรื่องนี้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะแหล่งที่มาของสัตว์น้ำ เพราะประเทศไทยต้องการที่จะปลดล็อกปัญหาความถูกต้องของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไม่ผิด IUU จึงจำเป็นที่จะต้องระบุที่มาของสัตว์น้ำอย่างถูกต้อง การดำเนินการของเรือดังกล่าวเสมือนเป็นการนำสัตว์น้ำเข้ามาไม่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประเทศไทย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น