xs
xsm
sm
md
lg

“สรส.สาขาหาดใหญ่” เคลื่อนทัพจี้ “รัฐบาลทอปบูต” หยุดกฎหมายเอื้อแปรรูปรัฐวิสาหกิจ-ปล่อยผีเปรตโกงบ้านกินเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “เลขาธิการ สรส.สาขาหาดใหญ่” นำตัวแทน 7 องค์กรสมาชิกรุดยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ สงขลา ค้าน “พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ” ที่รัฐบาลทหารกำลังเร่งผลักดัน ระบุหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านจะส่งผลให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ ชี้ไม่ต่างจากยุคนักการเมืองโกงบ้านกินเมือง
 
เช้าวันนี้ (15 ม.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้นำตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นสมาชิกรวม 7 องค์กร ที่มีสาขาอยู่ใน จ.สงขลา ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด การยางแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร การประปาส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวม 30 คน เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสาธิต ธรรมประดิษฐ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อส่งต่อไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ
 
ทั้งนี้ เนื้อหาในหนังสือที่ สรส.สาขาหาดใหญ่ ๐๐๒/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๕ ม.ค.๒๕๕๙ เรื่องขอแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... ระบุว่า รัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นโดยพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ แต่เนื่องจากนักการเมืองที่ไม่มีความซื่อสัตย์ ไม่จงรักภักดีต่อพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นบิดาของรัฐวิสาหกิจไทย ได้ใช้นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยโอนทรัพย์สินของแผ่นดินไปให้กลุ่มทุน และใช้โอกาสในทุกขั้นตอนทุจริตหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง และพวกพ้อง
 
“ใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซง ทำให้รัฐวิสาหกิจหลายแห่งต้องประสบปัญหาวิกฤตไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และบริการประชาชนที่เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และนำรายได้จากรัฐวิสาหกิจไปพัฒนาประเทศ เพื่อความมั่นคงของชาติ เป็นเครื่องมือของรัฐในการแก้ปัญหาเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน และพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืนตามพระราชปณิธานของพระองค์ท่านได้” เนื้อหาตอนหนึ่งระบุก่อนเพิ่มเติมว่า
 
รัฐบาลปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ มีความต้องการที่จะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้เหตุผล และแถลงต่อสื่อมวลชนว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเสียใหม่เพราะที่ผ่านมา มีการแทรกแซง แสวงหาประโยชน์จากนักการเมือง มีการทุจริต ทำให้ภารกิจของรัฐวิสาหกิจไม่สนองต่อความต้องการของประเทศชาติ และประชาชนได้อย่างเต็มที่” ซึ่งต่อมา ก็ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมายกร่างกฎหมาย เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าว
 
ซึ่งสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และได้เคยยื่นหนังสือแสดงเจตนารมณ์ และจุดยืนของ สรส.ต่อนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง กล่าวคือ “สรส.ขอสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่มีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน และจะคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ” ต่อมาหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจได้ผ่านความเห็นชอบสาระสำคัญของกฎหมายเมื่อวันที่ ๑๗ ก.ค.๒๕๕๘ ซึ่งสาระสำคัญมีสองส่วนคือ ส่วนการกำกับดูแล และส่วนของการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจ ดังที่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะไปแล้ว
 
เมื่อคณะยกร่างกฎหมายร่างเสร็จ และได้นำเสนอต่อสาธารณะครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ ธ.ค.๒๕๕๘ ที่โรงแรมคอนราด ถ.วิทยุ กรุงเทพฯ หลังจากที่ได้เห็นร่างกฎหมายได้ก่อให้เกิดข้อกังวลสงสัยในหลายประเด็น สรส.จึงได้เชิญนักวิชาการ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมาร่วมประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น และสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตามที่นายกรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อสาธารณะ
 

 
แต่เมื่อวิเคราะห์ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเห็นว่า มีหลายประเด็นที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ที่นายกรัฐมนตรีมีความต้องการตั้งแต่ต้น และในบางมาตราขัดต่อหลักการของร่างกฎหมายด้วยซ้ำไป ที่สุดแล้วเมื่อพิจารณาลงลึกถึงรายมาตราพบว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีนัยอย่างสำคัญที่อาจนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในที่สุด โดยมีประเด็นที่นำเรียนนายกรัฐมนตรี และคณะดังต่อไปนี้
 
ประการที่ ๑ มีการกล่าวหาว่ารัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพ จากข้อมูลของ สคร.ระบุว่า ในระยะเวลา ๑๐ ปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ จนถึงปี ๒๕๕๗ สินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจเพิ่มสูงขึ้นจาก ๔.๗ ล้านล้านบาท เป็น ๑๑.๘ ล้านล้านบาท สูงขึ้นถึงร้อยละ ๑๕๙ และรายได้รวมจาก ๑.๕ ล้านล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นถึง ๕.๑ ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๒๔๐ ถือเป็นความเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกล่าวว่าไม่มีประสิทธิภาพคงมิใช่ข้อกล่าวหาที่ถูกต้อง นอกเสียจากผู้ที่เกี่ยวข้องบิดเบือน และจะเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากสินทรัพย์ และรายได้ในรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย
 
และทุกครั้งไปที่ประเทศชาติประสบปัญหา ประชาชนเดือดร้อนด้วยมหันตภัยของวิกฤตเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ ภาวะการขาดแคลน ขัดสน ประชาชนก็ยังได้พึ่งพารัฐวิสาหกิจในการแก้ปัญหาพาชาติบ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทุกครั้งเสมอมา และรัฐบาลไม่ว่าจะก้าวมาบริหารประเทศไม่ว่าด้วยวิธีการใด เสถียรภาพของรัฐบาลในการบริหารนโยบายก็ล้วนแล้วแต่ใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือทั้งสิ้น
 
ประการที่ ๒ ต้องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง และอำนาจทับซ้อนในมาตรา ๖ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รัฐมนตรีอื่น ๔ คน ตาม ครม.แต่งตั้ง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน ๕ คน ตามคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ รวมแล้วทั้งหมด ๑๕ คน และผู้ทรงคุณวุฒิก็มาจากการกำหนดคุณสมบัติ และ ครม.แต่งตั้ง สรุปแล้วมาจากการเมืองถึง ๑๐ คน ซึ่ง คนร.จะมีอำนาจมากดังที่จะกล่าวในประการต่อไป
 
“ซึ่งเจตนารมณ์ที่จะให้ปลอดจากการเมืองแทรกแซงคงเป็นไปได้ยาก อาจเสี่ยงต่อการครอบงำของอำนาจ กลุ่มทุนที่จะมากำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้องเช่นที่ผ่านมา” ข้อความในหนังสือระบุ และเสริมว่า
 
ประการที่ ๓ ต้องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีการกำกับ ดูแล ตรวจสอบ ถ่วงดุล ที่ดี ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวให้อำนาจ คนร.ในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจทุกแห่งในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ กำหนดนโยบายให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการ กำกับดูแลเรื่องการเงิน การประเมินผล กำหนดหลักเกณฑ์การสรรหาบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ เสนอให้มีการตรา หรือแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศ (มาตรา ๑๒)
 
และยังให้อำนาจ คนร.ไปมีอำนาจหน้าที่ในบรรษัทในการโอนรัฐวิสาหกิจให้แก่บรรษัท ควบ โอน ยุบ แยก เปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้น จนพ้นสภาพจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือทำให้เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยเสนอความเห็นต่อ ครม.ให้ความเห็นชอบกรอบเงินลงทุนแก่รัฐวิสาหกิจในบรรษัท (มาตรา ๑๓) และการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่บรรษัทถือหุ้น (ในส่วนที่ ๘ มาตรา ๗๒, ๗๓, ๗๔)
 
“ซึ่งอำนาจทั้งหมดจะอยู่ที่ คนร.และ ครม. และประธาน คนร. เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่นอีก ๔ คน อำนาจตรวจสอบ ถ่วงดุล อยู่ในกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว และมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ” ข้อความในหนังสือชี้ชัด
 
หลักการที่ ๔ ขาดเอกภาพ และขาดความเป็นเจ้าของ รัฐวิสาหกิจทุกแห่งมีรัฐบาลเป็นเจ้าของโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด บางแห่งอาจเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และที่สำคัญรัฐวิสาหกิจล้วนแต่ประชาชนเป็นเจ้าของ โดยสัมพันธ์กับรัฐทางภาษี การบริหารจัดการดำเนินการตามภารกิจ และวัตถุประสงค์การจัดตั้งองค์กร ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและตามนโยบายของรัฐบาล
 
ดังนั้น ความสำเร็จความล้มเหลวก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล และแผนพัฒนาประเทศ หากมีรัฐบาลที่ดี มีวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ มีเจตจำนงทางการเมืองเพื่อประโยชน์แห่งประเทศชาติ และประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด มีระบบธรรมาภิบาล จัดระบบความสัมพันธ์ที่ดี บูรณาการด้วยกันอย่างเป็นระบบ ทั้งในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจให้เกื้อหนุนกัน ความเป็นเอกภาพจะเกิดขึ้น ประเทศชาติ ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล
 
แต่หากพิจารณาใน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ หลักทรัพย์ และภารกิจของรัฐวิสาหกิจจะถูกถ่ายโอนไปที่กระทรวงการคลัง แล้วจากนั้นจะถ่ายโอนไปยังบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ โดยจะเริ่มจากรัฐวิสาหกิจ ๑๒ แห่งก่อน จากนั้นหากจะโอนรัฐวิสาหกิจอื่นใดเข้าไปอีกเป็นอำนาจของ ครม.เพียงออกเป็นพระราชกฤษฎีกา การที่จะกำหนดให้แต่ละรัฐวิสาหกิจทำภารกิจอะไร อย่างไร หรือจะยุติ หรือยุบเลิก อยู่ที่มติ ครม. (มาตรา ๑๒, ๑๓, ๓๕, ๔๔, ๕๒)
 
“ซึ่งในอนาคตก็จะขึ้นอยู่กับเจตจำนงของนักการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศภายใต้หลักคิดระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจแบบไหน ไม่มีหลักประกันใดๆ ให้แก่ประชาชน และรัฐวิสาหกิจ เพราะที่ผ่านมา สังคม ประเทศชา ติ ประชาชนต้องลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลที่ทุจริต ฉ้อฉล ซึ่งส่วนมากการทุจริตล้วนเกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจ รวมถึงวิธีการที่จะสร้างจิตสำนึกความเป็นเจ้าของในรัฐวิสาหกิจให้เกิดขึ้น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ไม่ได้มีการพูดถึง”
 
ประการที่ ๕ หลักการที่บอกว่าจะไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แม้ในสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ออกมาเมื่อวันที่ ๑๗ ก.ค.๒๕๕๘ มีการระบุไว้ว่าจะไม่ให้มีข้อกังวลเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ในหลักการของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็มิได้บัญญัติไว้ และมีหลายมาตราที่กำหนดให้ คนร.เสนอต่อ ครม. เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อรัฐวิสาหกิจ และการโอน แยก ยุบเลิก และเปลี่ยนแปลงสัดส่วนในหุ้นที่บรรษัทถือครองจนพ้นสภาพจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ (มาตรา ๑๒(๘), ๑๓, ๔๙ วรรคสอง, ๕๒)
 
“ซึ่งความรับรู้ และความเข้าใจบวกกับประสบการณ์ที่เคลื่อนไหวเรื่องต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาอย่างยาวนานของ สรส. คงมองเป็นอย่างอื่นได้ยาก นอกเสียจากความพยายามผูกเงื่อน สร้างปม เพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในที่สุด”
 
ประการที่ ๖ การละเมิดสิทธิของพนักงานรัฐวิสาหกิจ และสหภาพแรงงาน นับตั้งแต่สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ออกมาสู่สาธารณะครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ ก.ค.๒๕๕๘ ระบุว่า เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการของบรรษัท ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ กฎหมายว่าด้วยพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ  และกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก็ยังคงสาระสำคัญนี้ไว้อย่างเหนียวแน่นในมาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๓
 
ในมาตรา ๕๓ เพียงแค่บรรษัทรับโอนหุ้นจากกระทรวงการคลัง แล้วสถานะของพนักงานที่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจอยู่จะสิ้นสุดทันที สิทธิที่จะรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจก็ไม่สามารถทำได้ เพราะขัดต่อกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ๒๕๔๓ จะรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงานเอกชนก็เป็นไปไม่ได้ เพราะสถานะของบรรษัทเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการ (มาตรา ๔๐)
 
ซึ่งถือเป็นการทำลายขวัญ กำลังใจ และความมั่นคงของพนักงาน เป็นละเมิดสิทธิของสหภาพแรงงาน ขัดต่อหลักการทางสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ และขัดต่อหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว และการเจรจาต่อรอง (อนุสัญญาที่ ๘๗ และ ๙๘)  ซึ่งในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญต่อการกล่าวหาจากนานาชาติ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะตรากฎหมายในลักษณะดังเช่นที่กล่าวมา
 
และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๕๗ มาตรา ๔ ที่ระบุว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
 

 
จากการร่วมประชุมหลายครั้งขององค์กรสมาชิก เพื่อพิจารณาถึงผลดี ผลเสีย ของร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... ด้วยหลักการทั้ง 6 ประการที่กล่าวมาข้างต้น สรส.สาขาหาดใหญ่ โดยองค์กรสมาชิกมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วย ต่อ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... และเรียกร้องให้คณะทำงานในการยกร่างกฎหมาย คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ไม่มีความต้องการที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 
 
และสิ่งที่ สรส. องค์กรสมาชิกมีความกังวลใน 6 ประการที่กล่าวมาข้างต้น และได้นำเสนอต่อประธานคณะทำงานยกร่างที่มี นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล และนายระพี สุจริตกุล ไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๑ ม.ค.๒๕๕๘ ณ ห้องประชุม ๖ อาคาร ๔ ธนาคารแห่งประเทศไทย คือ
 
๑.ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... ต้องไม่เขียนไปในลักษณะที่ก่อให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปลี่ยนแปลงสถานะของรัฐวิสาหกิจจนพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจทั้งในปัจจุบัน และอนาคต โดยต้องตระหนักถึงพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ๒.ต้องสร้างระบบการกำกับ ตรวจสอบ ดูแล ให้โปร่งใส มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ และถ่วงดุลกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการได้ง่าย เท่าเทียม และเป็นธรรม ๓.ต้องไม่ลิดรอนสิทธิของพนักงานรัฐวิสาหกิจ และสิทธิสหภาพแรงงาน ๔.ขอให้นำร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจแห่งชาติ พ.ศ. ... (ฉบับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) ไปประกอบการพิจาณาในการเปลี่ยนแปลงแก้ไข
 
สรส.ขอยืนยันในเจตนารมณ์ และจุดยืนที่ได้กระทำและแสดงออกเสมอมาว่า “สรส. เห็นด้วยต่อการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงหาประโยชน์ ต้องการให้มี การบริหารงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ปราศจากการทุจริต มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ให้ประชาชนได้ใช้บริการที่ดี เกิดความมั่นคงแก่ประเทศ เพื่อนำประเทศชาติสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
 
สรส.ขอกราบเรียนมายังนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดระงับร่างฉบับนี้ไว้ก่อน และขอโอกาสให้ สรส.ส่งผู้แทนเข้าร่วมตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และสร้างความสมานฉันท์ โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นหลักสำคัญ พร้อมกันนี้ เพื่อยืนยันในเจตนารมณ์และจุดยืนของ สรส. จึงได้แนบร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจแห่งชาติ พ.ศ. ... (ฉบับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) เพื่อประกอบการพิจารณา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อคิดเห็น และข้อแนะเสนอที่กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.ของ สรส.ที่แนบมาด้วยนี้จะได้รับการพิจารณาจาก พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป  จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ผลเป็นประการใดโปรดแจ้งให้ สรส.ทราบต่อไปด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น