xs
xsm
sm
md
lg

คน “สงขลา-สตูล” จี้ “คสช.” ยุติ “แลนด์บริดจ์” ปกป้องแหล่งอาหาร “อันดามัน-อ่าวไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ประชาชน จ.สงขลา และสตูล ร่วมเปิดเวทีอภิปรายแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจสงขลา-สตูล ประกาศไม่ยอมให้ภาคใต้กลายสภาพเป็นเขตอุตสาหกรรมหนักที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตทั้งระบบ ซ้ำรอยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง พร้อมร่างหนังสือถึงหัวหน้า คสช.ให้ช่วยปกป้องทะเลอ่าวไทย และอันดามัน ที่เป็นฐานทรัพยากร และแหล่งอาหาร เพื่อเป็นการคืนความสุขให้แก่คนใต้ทั้งหมด

วันนี้ (24 มิ.ย.) ที่ห้อง E-101 คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสงขลา-สตูล ประกอบด้วยประชาชนจากพื้นที่เส้นทางผ่านของเส้นทางลำเลียงสินค้าและพลังงาน ระหว่าง จ.สงขลา กับ จ.สตูล ร่วมกันเปิดเวทีอภิปรายติดตามความเคลื่อนไหวในแผนพัฒนาภาคใต้ โครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจอันดามัน-อ่าวไทย หรือแลนด์บริดจ์ ในชื่อเวที ‘วิทยาลัยวันศุกร์ภาคพิเศษ : คืนแหล่งอาหารทะเลสงขลา-สตูล คือการคืนความสุขให้ประชาชน’ เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนภาคใต้ทั้งหมด

สำหรับเวทีอภิปรายในวันนี้ มีตัวแทนนักวิชาการ นักอนุรักษ์ และสื่อมวลชน ร่วมให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการ ประกอบด้วย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ นายปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าว ASTVผู้จัดการภาคใต้ นายสมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องแหล่งผลิตอาหารภาคใต้ นายกิติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์แหล่งอาหารทะเลจะนะ และนายวิโชค รณรงค์ไพรี ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า ตอนนี้มีความเป็นห่วงว่าในอนาคตข้างหน้าหากพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.สตูล ถูกพัฒนาให้เป็นเขตอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่ง คือ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 กำหนดพื้นที่ก่อสร้างบริเวณบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ขณะที่ท่าเรือน้ำลึกปากบารา กำหนดพื้นที่ก่อสร้างที่บ้านปากบารา ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล จากนั้นจะตามมาด้วยการก่อสร้างคลังน้ำมัน และนิคมอุตสาหกรรมปริโตรเคมีตามมา โดยข้อมูลในส่วนนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าหากทิศทางการพัฒนาเป็นไปในลักษณะเปลี่ยนภาคใต้ไปเป็นเขตอุตสาหกรรม ผลกระทบที่จะตามมาก็จะไม่แตกต่างจากผลกระทบที่เกิดกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ใน จ.ระยอง

“ผลกระทบที่ขัดเจนคือ เรื่องสุขภาพของประชาชนทั้งผู้ที่ทำงานในโรงงานต่างๆ รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้กับเขตอุตสาหกรรม ทุกวันนี้พบว่า มีผู้ป่วยที่เจ็บป่วยด้วยอาการทางระบบหายใจเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก หน่วยงานภาครัฐเบี่ยงเบนข้อมูลว่าเกิดจากอาการภูมิแพ้ แต่แท้จริงแล้วมันคือ อาการของคนเป็นโรคมะเร็งนั่นเอง แน่นอนว่าหากเราพัฒนาภาคใต้ไปในทิศทางนี้ ประชาชนก็จะตกอยู่ในชะตากรรมไม่แตกต่างกับที่ชาวมาบตาพุดพบเจออยู่ในขณะนี้”

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องแหล่งผลิตอาหารภาคใต้ กล่าวว่า ภาครัฐสร้างวาทกรรมว่าหากโครงการแลนด์บริจด์เกิดขึ้นก็จะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม แต่แท้จริงแล้วเรื่องนี้เป็นมายาคติ เพราะประชาชนที่พึ่งพาวิถีเกษตรกรรม และการประมงจะสูญเสียพื้นที่ทำกินโดยสิ้นเชิง

“ผมคิดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะใหญ่มากกว่ากรณีมาบตาพุด ถ้าสมมติว่าโครงการนี้ลงทุน 1 แสนล้าน หากนำเงินในส่วนนี้มาพัฒนาภาคการเกษตรและประมง หากรัฐบาลหวังดีต่อประชาชนภาคใต้จริงเงิน 1 แสนล้านนี้ก็จะสามารถสร้างรายได้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนในภาคใต้ได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน แต่หากนำเงิน 1 แสนล้านไปทำโครงการอุตสาหกรรม ก็จะช่วยได้เพียงคนกลุ่มเดียวเท่านั้นคือ นักลงทุน ขณะที่ชาวบ้านกว่า 10 ล้านคนนั้นจะต้องได้รับผลกระทบทางอาชีพ และการดำเนินชีวิตไปตลอดจนชั่วลูกชั่วหลาน การบอกว่าอุตสาหกรรมช่วยคนมีรายได้เป็นเรื่องโกหก เพราะตัวเลขจากการศึกษาวิจัยที่มาบตาพุดชี้ชัดว่า รายได้หลักของประชาชนมากจากภาคการเกษตร ประมง และการท่องเที่ยว”

นายกิติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์แหล่งอาหารทะเลจะนะ กล่าวว่า บทเรียนที่ผ่านมาจากการต่อสู้กับโครงการขนาดใหญ่ คือ โรงแยกก๊าซจะนะ นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา พบว่าก่อนหน้านี้มีเพียงประชาชนใน อ.จะนะ เพียง 8 หมู่บ้านที่มาร่วมกันคัดค้านโครงการ ขณะที่ประชาชนพื้นที่อื่นถูกวาทกรรมว่าสร้างโรงแยกก๊าซ ประชาชนจะได้ใช้ก๊าซราคาถูก ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องหลอกลวง วันนี้เราจึงเห็นประชาชนจากหลากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันมาร่วมกันรับฟังข้อมูล เพราะต่อจากนี้ประชาชนทุกคนจะต้องร่วมกันกำหนดอนาคตของเราเอง

“17 ปีที่ผ่านมา ผมไประยอง 9 ครั้ง พาพี่น้องภาคใต้ไปดูนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ให้เขาได้ศึกษาด้วยตนเองว่าอุตสาหกรรมทำอะไรกับชาวบ้านบ้าง ไปครั้งแรกบางคนถึงกับต้องวิ่งขึ้นรถเพราะทนรับสภาพมลพิษทางอากาศของที่นั่นไม่ไหว เมื่อหันมาดูที่ภาคใต้บ้านเรา นิคมอุตสาหกรรมแบบเดียวกับที่ระยอง กำลังจะย้ายมาก่อสร้างในภาคใต้เนื่องจากที่ จ.ระยอง ไม่สามารถขยายพื้นที่อุตสาหกรรมได้อีกต่อไปแล้ว แต่คนใต้ต้องกลับมาคิดว่าเราจะยอมให้มันเกิดขึ้นหรือไม่ จะยอมให้ภาครัฐเข้ามาปลุกปั่นทำให้คนใต้แตกแยกเหมือนเมื่อครั้งโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซ เราจะยอมอีกหรือไม่ ที่จะให้พวกเขามาทำลายศักยภาพในพื้นที่ ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าที่เรามี นั่นก็คือเรามีทะเลมีทรัพยากรที่เป็นแหล่งอาหารแหล่งประกอบอาชีพ และแหล่งรายได้หลักของเรา เราจะยอมหรือไม่”

ด้าน นายปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าว ASTVผู้จัดการภาคใต้ กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลแผนพัฒนาภาคใต้มาโดยตลอด พบว่า การคุกคามพื้นที่ภาคใต้ด้วยโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่นั้นเกี่ยวพันกับการเคลื่อนไหวของประเทศมหาอำนาจตะวันตก หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า ขณะนี้สหรัฐอเมริกา กำลังนำเรือรบเข้ามาในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งพื้นที่อ่าวเปอร์เซียคือพื้นที่ผลิตน้ำมันแหล่งใหญ่ของโลก ในขณะที่ภาคใต้ของประเทศไทยเป็นทางผ่านที่สำคัญในการขนถ่ายพลังงานจากอ่าวเปอร์เซีย ไปยังประเทศตะวันตก ฉะนั้น มหาอำนาจตะวันตกและกลุ่มทุนที่มีผลประโยชน์ร่วมกันจึงต้องการที่จะแย่งชิงพื้นที่ทางภาคใต้ของไทยในฐานะการเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญของการขนถ่ายพลังงานเพราะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าทางช่องแคบมะละกา

ขณะที่ นายวิโชค รณรงค์ไพรี ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวว่า ประชาชนที่จะร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องภาคใต้ไม่ให้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก จะต้องร่วมกันคิด และจัดเครือข่ายให้เกิดดุลยภาพ เพื่อประสิทธิภาพของการเคลื่อนไหว

“เราจะต้องรู้เท่าทันสถานการณ์ ต้องเกาะติดสถานการณ์ว่าขณะนี้พัฒนาไปถึงไหนมีข้อมูลเกี่ยวข้องอย่างไร ต้องเริ่มจากการเรียนรู้ และมีความกล้าหาญในการต่อสู้”

สำหรับบทสรุปของการอภิปรายในช่วงเช้า ทางเวทีอภิปรายได้ขอมติจากที่ประชุม โดยประชาชนที่เข้าร่วมเวทีอภิปราย จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้พิจารณายกเลิกโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจสงขลา-สตูล และโครงการต่อเนื่องทั้งหมด เพื่อเป็นการคืนความสุขให้แก่ประชาชนในภาคใต้ทั้งหมด



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น