xs
xsm
sm
md
lg

สนช.บุกจังหวัดชายแดนใต้ เร่งปั้นสตาร์ทอัพ บูมเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จับมือศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ (ศอบต.) ขับเคลื่อนนวัตกรรมพื้นที่ชายแดนใต้หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้กลุ่มธุรกิจและรูปแบบนวัตกรรมมีโอกาสเติบโตสูงในพื้นที่ เผยนวัตกรรมอุตสาหกรรมฮาลาล ท่องเที่ยวและวัฒนธรรม นวัตกรรมด้านช่องทางการค้า และนวัตกรรมด้านการเกษตรมาแรง มั่นใจนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเกิดการลงทุนในพื้นที่ชายแดนใต้

นายปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
เปิดเผยถึงงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมจังหวัดชายแดนใต้ครั้งที่ 2 (STIF : Southernmost Technology and Innovation Festival) ว่า โครงการนี้เมื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในหลายภาคส่วนโดยเฉพาะจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งยังมีความต้องการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจและรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้พร้อมแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมจัดงานดังกล่าวขึ้นเพื่อนำนวัตกรรมมาบ่มเพาะธุรกิจ พร้อมจัดหาตลาดส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกันเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการให้ความสนใจเป็นจำนวนมากหลายร้อยราย ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ รวมถึงนักศึกษาเด็กรุ่นใหม่ก็ให้ความสนใจในการเป็นผู้ประกอบการและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจ

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอีในจังหวัดชายแดนใต้ ถือว่าผู้ประกอบการมีความกระตือรือร้นและมีโอกาสที่จะพัฒนาได้อีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มท่องเที่ยว ด้านการเกษตร และการบริการ ที่เริ่มมีการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เข้ากับท้องถิ่น

ด้านนายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเห็นความสามารถของผู้ประกอบการไทยในจังหวัดชายแดนใต้ จึงต้องการกระจายโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการ ที่ผ่านมาพบผู้ประกอบการยังขาดเครือข่ายในการประกอบธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำปรึกษาด้านการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่มีความได้เปรียบและมีศักยภาพมากในแง่ศิลปวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงยังเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีความตื่นตัว รวมถึงยังมีการแพร่กระจายงานวิจัยและองค์ความรู้จากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการเข้าถึงเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น

"งาน STIF จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้พิจารณาให้ทุนผู้ประกอบการ 10 ราย แบ่งเป็น กลุ่มสตาร์ทอัพ 6 ราย และเอสเอ็มอี 4 ราย โดยให้การส่งเสริมให้เกิดการค้าในพื้นที่ให้มากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการทำการตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเน้นให้การพัฒนาด้านนวัตกรรม เครื่องจักร เพื่อช่วยลดความล้มเหลวในการเริ่มต้นธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งต่อไปจะมีการเชื่อมโยงกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อประสานการทำงานด้านการท่องเที่ยวและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่มากขึ้น" นายวิเชียรกล่าว


ทั้งนี้ ประเภทกลุ่มธุรกิจหรือรูปแบบนวัตกรรมที่มีโอกาสเติบโตในพื้นที่ ได้แก่ นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล เนื่องจากมีพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีคุณค่าและการเติบโตสูง รวมถึงความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมมาผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น แพลตฟอร์มเชื่อมนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ธุรกิจบริการนำท่องเที่ยวชุมชน ระบบจองโรงแรมและที่พัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและกระจายรายได้สู่ผู้คนในท้องถิ่นได้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมด้านการเกษตรโดยธรรมเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่จะมีประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีการนำแนวคิดสมาร์ทฟาร์มเข้ามาช่วย และยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์การทำเกษตรยุคใหม่ได้ โดยเฉพาะการรับรู้ข้อมูลที่แม่นยำ การลดอุปสรรคการทำเกษตรกรรม

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น