xs
xsm
sm
md
lg

NIA หนุนธุรกิจเพื่อสังคม เปิดตัว “Trawell PASS” แพลตฟอร์มนำเที่ยววิถีชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ชี้โอกาสการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมกำลังเป็นสิ่งที่น่าจับตา โดยเฉพาะในกลุ่มนวัตกรรมสำหรับการแก้ปัญหาที่เกิดจากการขยายตัวของสังคมเมือง พร้อมโชว์ความสำเร็จการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมในย่านรัตนโกสินทร์ “Trawell PASS” (ทราเวล พาส) แพลตฟอร์มนำเที่ยววิถีชุมชน และ “MuV” รถตุ๊กตุ๊กคนเมืองพลังงานไฟฟ้า ยานพาหนะที่จะช่วยเปลี่ยนเมืองกรุงให้เป็นเมืองกรีน


ดร. สุภาพ อัจฉริยศรีพงศ์ กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า นวัตกรรมเพื่อสังคมในบริบทของ NIA คือ การประยุกต์ใช้ความคิดใหม่และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่ความเท่าเทียมกันในสังคม และสามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมา NIA ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกการสนับสนุนใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ การริเริ่มโครงการ การบ่มเพาะโครงการ การดำเนินโครงการนำร่อง และการขยายผลโครงการ โดยมีการพิจารณาภายใต้เกณฑ์ความเป็นนวัตกรรม ไตรกำไรสุทธิ (คน สิ่งแวดล้อม ธุรกิจ) และความยั่งยืนของโครงการ ซึ่งที่ผ่านมา 3 ปี มีการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมไปแล้วกว่า 140 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนรวมกว่า 146 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนรวม 860 ล้านบาท
ดร.สุภาพ อัจฉริยศรีพงศ์ กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมของ NIA แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ โครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่มีผลกระทบสูง โดยเป็นโครงการที่ NIA ริเริ่มและกำหนดโจทย์ในการพัฒนาขึ้นเพื่อมุ่งให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการที่มีผลกระทบเชิงสังคมสูง ภายใต้ในวงเงินไม่เกินโครงการละ 1.5 ล้านบาท ผ่าน 2 โครงการหลัก คือ 1. โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Village) ที่เน้นแก้ไขปัญหาจากชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย โดยอาศัยรูปแบบกลไกการขยายผลนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Diffusion) ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาด้านสังคมปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ด้วยนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ ที่มีการพัฒนาต้นแบบหรือโมเดลที่สำเร็จแล้ว ให้สามารถกระจายสู่ชุมชน หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นให้เกิดการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในจังหวัดยากจนของประเทศ หรือพื้นที่เป้าหมายนำร่อง

และ 2. โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน (City & Community Innovation Challenge) ที่สามารถผลักดันไปสู่การใช้งานจริง เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นในสังคมเมืองและชุมชน โดยเปิดรับข้อเสนอแนวคิดการพัฒนาในหลากหลายมิติ จากนั้นจะมีการตัดสินแนวคิดที่ดีและมีโอกาสในการขยายผล ซึ่งองค์กรที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุนเพื่อนำไปดำเนินการจริงในพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะในการขยายผลแนวคิด เทคโนโลยี โอกาสทางสังคมและธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นต่อไป โดยในปีนี้มี 3 หัวข้อ ได้แก่ นวัตกรรมการจัดการภัยพิบัติ นวัตกรรมการบริการสาธารณะ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบาง
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สำหรับ Trawell PASS (ทราเวล พาส) : แพลตฟอร์มนำเที่ยววิถีชุมชน ได้รับการสนับสนุนจาก NIA ภายใต้โครงการ city & community innovation challenge 2018 ด้านเมืองแห่งความเท่าเทียม โดยเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกับคนท้องถิ่นเพื่อใช้นำเสนอและบริหารจัดการการท่องเที่ยววันเดียว กิจกรรม สินค้า และการเดินทาง รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการของคนท้องถิ่นให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวท้องถิ่น (hidden gems) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นได้สะดวกมากขึ้น ส่วน MuV : รถตุ๊กตุ๊กคนเมืองพลังงานไฟฟ้า เป็นนวัตกรรรมรถตุ๊กตุ๊กระบบไฟฟ้า ลดการใช้พลังงานน้ำมัน ใช้งานง่าย ปลอดภัย และสะดวกต่อการเดินทาง ซึ่งเป็นธุรกิจการเดินทางตอบโจทย์กับเศรษฐกิจสีเขียว และยังนำเอกลักษณ์ของรัตนโกสินทร์มาพัฒนาเป็นธุรกิจได้อย่างดีเยี่ยม
ช่องชาร์จไฟฟ้าในรถตุ๊กตุ๊ก
ทั้งนี้ “ย่านรัตนโกสินทร์” ถือเป็นย่านที่เต็มไปด้วยแหล่งงานสร้างสรรค์ (Creativity) ศิลปะ (Art) วัฒนธรรม (Culture) ตลอดจนประวัติศาสต์ของประเทศไทยที่สำคัญและโดดเด่นอย่างมีอัตลักษณ์ กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในหารพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมภายในย่าน คือ กลุ่มธุรกิจทางด้านศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยในแต่ละชุมชนมีอัตลักษณ์ความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป เช่น พื้นที่ท่าเตียน ย่านศูนย์กลางการค้าขายนับแต่อดีต พื้นที่ปากคลอง บทบาทของปากคลองซึ่งเป็นแหล่งค้าส่งผักและผลไม้ ตลาดค้าปลีกที่ได้เชื่อมโยงสินค้าไปสู่ตลาดเล็กๆ ในพื้นที่ชั้นในของ กทม. จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กลายเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก พื้นที่ท่าช้าง การค้าภายในย่านนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา ผ่านการปรับปรุงอาคารที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น พื้นที่ท่าวังและท่าพระจันทร์ เป็นสถานศึกษา รายล้อมด้วยโบราณสถานอันทรงคุณค่า พื้นที่บางลำพู ย่านที่มีองค์ประกอบของพื้นที่อย่างหลากหลายทั้งที่อยู่อาศัยและการค้า
คาราวานรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

สำหรับแนวทางที่สำคัญในการยกระดับย่านดังกล่าว จำเป็นต้องดึงกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดีย พบปะพูดคุย ซึมซับวิถีการดำเนินชีวิตของนักเดินทาง นักท่องเที่ยว ผู้อยู่อาศัย พร้อมผสมผสานสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ให้ตอบโจทย์สังคมและตลาด นอกจากนี้ยังต้องต่อยอดทักษะที่มีอยู่ในชุมชน หรือในย่านให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วยการใช้ 3 เครื่องยนต์ใหญ่อย่าง “เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์” สู่สินค้า บริการ และการสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยเฉพาะกับกลุ่มสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี (Tech Startup) สตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยว (Travel Tech Startup) สตาร์ทอัพด้านการพัฒนาเมือง (Urban Tech Startup) และสตาร์ทอัพด้านการเงิน (Fintech Startup)
ชุมชนย่านคลองถม



กำลังโหลดความคิดเห็น