xs
xsm
sm
md
lg

ITAP หนุนผู้เชี่ยวชาญพัฒนาเตาเผาเซรามิกอัตโนมัติ จ.ลำปาง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สวทช. โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สนับสนุน คณะวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโครงการ “การออกแบบและพัฒนาระบบวัดและแสดงผลอุณหภูมิเตาเผาเซรามิก” แก่บริษัท ฆ้อนทองเซรามิกส์ จังหวัดลำปาง ปรับปรุงเตาเผาเซรามิกระบบอัตโนมัติ สามารถวัดอุณหภูมิได้แม่นยำ ลดความเสียหายระหว่างเผา พร้อมนำ Internet of Things (IoT) ดูค่าอุณหภูมิเตาเผาบน Cloud จากอินเตอร์เน็ตได้ทั่วโลก




นางสาววลัยรัตน์ จังเจริญจิตต์กุล ที่ปรึกษาเทคโนโลยีอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า ITAP ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการฆ้อนทองเซรามิกส์ ในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญและสนับสนุนค่าใช้จ่ายของโครงการ 50% ปัจจุบันจังหวัดลำปางมีโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผากว่า 200 - 300 โรง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กหรืออุตสาหกรรมครัวเรือน ส่วนโรงงานขนาดใหญ่มีเพียง 20 กว่าโรงเท่านั้น อุตสาหกรรมเซรามิกไทยอยู่ในช่วงขาลงเพราะสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาขายตัดราคา จึงต้องปรับตัวด้วยการสร้างสรรค์ชิ้นงานเซรามิกใหม่ๆ เช่น ของตกแต่งบ้านรูปร่างแปลกตา เครื่องประดับสวยงาม หรือแม้แต่ลวดลายเซรามิกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมกับทำการตลาดบนโซเชียลมีเดีย



ผศ.ทวีเดช ศิริธนาพิพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP สวทช. ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขั้นตอนและแนวทางการออกแบบและพัฒนาระบบวัดและแสดงผลอุณหภูมิเตาเผาเซรามิก เริ่มจากการรับทราบช่วงอุณหภูมิที่ต้องการวัดในกระบวนการเผาเซรามิก ในที่นี้ช่วงอุณหภูมิเตาเผาสูงสุดที่ต้องการวัดคือ 1200 - 1300 องศาเซลเซียส จึงเลือกเซนเซอร์ที่เรียกว่า Thermocouple Type S ที่สามารถทนทานต่อการวัดในอุณหภูมิช่วงนี้ได้ และได้สร้างวงจรอิเลคทรอนิคส์เพื่อรับค่าจากเซนเซอร์ Thermocouple มาแสดงผลเป็นตัวเลขอุณหภูมิของเตาเผา รวมถึงนำเทคโนโลยี Internet of Things มาใช้ในการนำค่าอุณหภูมิของเตาเผาขึ้นบน Cloud ทำให้เห็นค่าอุณภูมิเตาเผาได้จากทุกแห่งในโลกผ่านอินเทอร์เน็ต โดยใช้ Cloud service ที่เป็นของ ThingSpeak




ด้านผู้ประกอบการเซรามิก นายวีระวัฒน์ สุทธิศาล ผู้จัดการร้านฆ้อนทองเซรามิกส์ กล่าวเสริมว่า บริษัทมีปัญหาหรือโจทย์วิจัยที่อยากให้ ITAP สวทช. ช่วยเหลือคือ การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น การลดการใช้แรงงานคน เนื่องจากแรงงานฝีมือมีน้อย หายาก และค่าจ้างสูง รวมถึงอยากให้ช่วยสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อช่วยลดปริมาณของเสีย ลดต้นทุนต่างๆ

โดยผลที่ได้รับจากการดำเนินโครงการคือ การได้รับการพัฒนาเครื่องมือการวัดอุณหภูมิที่มีความแม่นยำมากขึ้น ทำให้คุณภาพสินค้าดีขึ้น ลดความเสี่ยงการเสียหายระหว่างการเผา และช่วยให้ผมมีเวลาเพิ่มขึ้นจากการไม่ต้องมาคอยเฝ้าเตาเพื่อคอยเช็คกราฟตลอดเวลา เพราะทางคณะวิจัยสามารถทำให้ผมเช็คครับการเผาผ่านอินเตอร์เน็ตได้ ขณะที่ผลทางการตลาดที่ได้คือ ทำให้ลูกค้าได้สินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้นและทันเวลานัดส่งสินค้า



กำลังโหลดความคิดเห็น