xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.เผยดัชนีอุตฯ ต.ค. 61 ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 4.08

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.08 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งรถยนต์และเครื่องยนต์ บุหรี่ น้ำตาลทราย น้ำมันปิโตรเลียม เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวก

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) ประจำเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.08 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย 10 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 3.04 อัตราการใช้กำลังการผลิต เดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 67.75 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกในเดือนตุลาคม 2561 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ บุหรี่ น้ำตาลทราย น้ำมันปิโตรเลียม และเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนตุลาคม ได้แก่ รถยนต์และเครี่องยนต์ ขยายตัวร้อยละ 16.73 เกือบทุกรายการสินค้าโดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล รถบรรทุกปิกอัพ และรถยนต์นั่งขนาดกลาง ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศเป็นหลักจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ บุหรี่ ขยายตัวร้อยละ 434.61 จากฐานต่ำในปีก่อนที่เริ่มต้นบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ราคาบุหรี่ในตลาดมีความผันผวนกระทบต่อคำสั่งซื้อโรงงานยาสูบจึงหยุดผลิตเป็นเวลา 2 สัปดาห์ น้ำตาลทรายขยายตัวร้อยละ 145.09 จากผลผลิตอ้อยที่มีมากกว่าปกติทำให้โรงงานปิดหีบช้ากว่าปีก่อน จึงยังมีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาว น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 9.84 จากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซินออกเทน 91 เป็นหลักตามความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการคมนาคมและการขนส่งในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง

เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วนขยายตัวร้อยละ 18.54 ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ จากการทำกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจและเพิ่มยอดขายของผู้ผลิต และการส่งออกยังคงเป็นคำสั่งซื้อจากตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก รวมถึงคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากลูกค้าแอฟริกา และอินโดนีเซีย



สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมสำคัญในปี 2562 เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับปีเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้น และตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,200,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.76 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศจะขยายตัว จากการใช้จ่ายของภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่จะขยายตัวดีขึ้น อันเนื่องจากเกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากเสถียรภาพทางการเมือง ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวตามอุปสงค์โลก อย่างไรก็ตามยังต้องคำนึงถึงผลของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนด้วย

อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5 จากปัจจัยบวก อย่างเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวระดับใกล้เคียงปีก่อน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าด้วยทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐอเมริกา ปี 2562 ประกอบกับแนวโน้มราคาส่งออกสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง และสับปะรดกระป๋อง รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของสินค้าสำคัญ เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป และทูน่ากระป๋อง นอกจากนี้ คาดว่าสินค้าสำคัญอีกรายการที่จะกลับมาขยายตัว คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2561 โดยเฉพาะเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยสมบัติพิเศษ

อุตสาหกรรมเหล็ก คาดว่าการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับเพิ่มขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและกลุ่มเหล็กทรงแบน จากคำสั่งซื้อที่ปรับเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ผลจากการก่อสร้างที่ขยายตัวตามแรงสนับสนุนของภาครัฐ และการขยายตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า


กำลังโหลดความคิดเห็น