xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.ร่วม อวท.ยกระดับหน่วยบ่มเพาะทั่ว ปท.ด้วย Maturity Model รองรับกลุ่มสตาร์ทอัพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ร่วมมือกับ 5 สถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยเพิ่มศักยภาพหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ภายใต้ชื่อ “โครงการยกระดับการบริหารจัดการหน่วยบ่มเพาะธุรกิจด้วย Maturity Model”

นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลต้องการพัฒนา “วิสาหกิจเริ่มต้น” ให้เป็นนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Warrior: NEW) และประเทศไทยเป็นพื้นที่เปิดสำหรับการเติบโตของอาเซียน โดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก

ในส่วนหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (Technology Business Incubator) มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการทำวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน พร้อมทั้งเสริมสร้างให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และการศึกษา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ดังนั้น คณะทำงานเพื่อส่งเสริมการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ซึ่งมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธาน มอบหมายให้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช.ดำเนินการรวบรวมติดตามผลการดำเนินการของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีภายใต้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค

โดยศึกษาแนวปฏิบัติและกรณีศึกษาของนานาประเทศในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนารูปแบบและกระบวนการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจฯ ในวันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นโครงการยกระดับการบริหารจัดการหน่วยบ่มเพาะธุรกิจด้วย Maturity Model” เพื่อพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ และมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งความร่วมมือนี้และในอนาคตอันใกล้จะทดลองประยุกต์ใช้โมเดลดังกล่าวกับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจไม่ต่ำกว่า 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยนำร่อง

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวต่อไปว่า ในอนาคตจะมีขั้นตอนและวิธีการยกระดับศักยภาพการบริหารจัดการหน่วยบ่มเพาะธุรกิจด้วย Maturity Model พร้อมด้วยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมกิจกรรมด้านการบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญระดับสูงและระดับโลกที่มีประสบการณ์มานานกว่า 30 ปี มากกว่า 50 ประเทศ มาเป็นที่ปรึกษา

นางสาวทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กล่าวว่า สอว.มุ่งเน้นส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนทำวิจัยและพัฒนา นำทรัพยากรของรัฐมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ปัจจุบัน สอว. สนับสนุนการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการใหม่ที่ผ่านกระบวนการสนับสนุนของอุทยานวิทยาศาสตร์นั้นจะสามารถลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในระยะแรก เช่น ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ค่าใช้จ่ายในการเสริมศักยภาพทางธุรกิจและเทคโนโลยี รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผลจากความร่วมมือในโครงการยกระดับการบริหารจัดการหน่วยบ่มเพาะธุรกิจด้วย Maturity Model นี้จะมีส่วนช่วยในการสร้างกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจ วทน.ให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนินการธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการบริหารจัดการของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ วทน.ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ วทน.ภายใต้การดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค



กำลังโหลดความคิดเห็น