xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจตลอด 9 เดือนโตต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยยอดจดทะเบียนธุรกิจเดือน ก.ย. ตัวเลขลดลง 2% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. แต่โดยรวมตลอด 9 เดือนยังเติบโตต่อเนื่องจากการลงทุนอีอีซีของหน่วยงานภาครัฐฯ และการท่องเที่ยวเมืองรอง ส่งผลธุรกิจก่อสร้าง-อสังหาฯขยายตัวสูง

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือนกันยายน 2561 และไตรมาส 3 /2561 ว่า ผลการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนกันยายนมีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศในเดือนกันยายน 2561 จำนวน 6,313 ราย เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2561 จำนวน 6,446 ราย ลดลงจำนวน 133 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 และเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2560 จำนวน 6,532 ราย ลดลงจำนวน 219 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 รวม 3 ไตรมาส จำนวน 56,271 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 240,486 ล้านบาท

โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 592 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 356 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 182 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ซึ่งมูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่มีจำนวนทั้งสิ้น 48,027 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2561 จำนวน 23,233 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 24,794 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 107 และเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2560 จำนวน 31,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 16,399 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 52

ขณะที่ธุรกิจจัดตั้งใหม่ไตรมาส 3/2561 โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีจำนวน 6,192 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.08 รองลงมาคือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 100 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.59 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.33 โดยมีธุรกิจที่ทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 4 ราย ได้แก่ ธุรกิจโฮลดิ้ง ธุรกิจผลิตแป้งและเกล็ดขนมปัง ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี โดยมีมูลค่าทุนรวมทั้งสิ้น 29,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,691 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,047 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 563 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในไตรมาส 3/2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 97,614 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2561 จำนวน 82,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 15,573 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2560 จำนวน 100,240 ล้านบาท ลดลงจำนวน 2,626 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3

ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนกันยายนมีจำนวน 1,899 ราย เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2561 จำนวน 1,740 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 159 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 และเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2560 จำนวน 1,717 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 182 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 โดยธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 177 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 128 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 และธุรกิจค้าสลากกินแบ่ง จำนวน 58 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ ส่งผลให้มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการมีจำนวนทั้งสิ้น 6,555 ล้านบาทเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2561 จำนวน 10,156 ล้านบาท ลดลงจำนวน 3,601 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 และเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2560 จำนวน 10,503 ล้านบาท ลดลงจำนวน 3,948 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย. 61) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทจำนวน 56,271 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 659 ราย คิดเป็นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย. 60) จำนวน 55,612 ราย การเติบโตของธุรกิจจัดตั้งใหม่มีทิศทางสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวสูงสุด รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน ส่งผลให้ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร และที่พักโรงแรมในส่วนภูมิภาคเกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค โดยกระทรวงการคลัง ประจำเดือนกันยายน 2561 พบว่ามีดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) อยู่ในเกณฑ์ดีทุกภูมิภาค โดยมีค่าสูงสุดในภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 94.2

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดตั้งธุรกิจในปี 2561 นี้ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการประกาศใช้มาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล ซึ่งจะช่วยผลักดันให้มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กรมได้เร่งดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน การได้รับการลดหย่อนภาษี และเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อธุรกิจ รวมทั้งมีโอกาสเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรมได้อำนวยความสะดวกให้แก่นิติบุคคลในการเริ่มต้นธุรกิจ โดยมีการปรับลดความยุ่งยากของขั้นตอนการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (Ease of Doing Business) โดยการรวมขั้นตอนการจองชื่อและจดทะเบียนนิติบุคคลออนไลน์เป็นขั้นตอนเดียวกัน (จากเดิมมี 2 ขั้นตอน) และลดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดที่ยื่นผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีผลใช้บังคับในวันที่ 21 เมษายน 2561 จากเดิม 5,500-275,000 บาท เป็น 5,500 บาท อัตราเดียว และการจดทะเบียนออนไลน์ e-Registration 3,850 บาท




* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *







กำลังโหลดความคิดเห็น