xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.เผยแผนอุ้ม SMEs ปี 61 ปั้นผู้ประกอบการใหม่-เก่าไม่ต่ำกว่า 880 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ยังคงขยายตัวไปในทิศทางที่ดี กสอ.จึงเร่งออกมาตรการส่งเสริม SMEs อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) เน้นส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมและระบบดิจิตอลที่พัฒนาแล้วเข้าสู่ธุรกิจ ตั้งเป้าในปี 61 สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ไม่ต่ำกว่า 880 ราย

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยการเร่งผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม "สตาร์ทอัพ (Startup)" ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มดังกล่าว ถือเป็นบริบททางการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเจเนอเรชันใหม่ที่มีทั้งการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีความกล้าคิด ชอบเรียนรู้ที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ และยังมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นองค์ประกอบสำคัญในการช่วยให้การดำเนินธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

สำหรับยุทธศาสตร์และแนวทางการส่งเสริมสตาร์ทอัพของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในปี 2561 ถือได้ว่ามีความชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้น โดยได้กำหนดนโยบายการสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพด้วย 4 แนวทางหลัก ได้แก่

1. การพัฒนาผู้ประกอบการและสร้างสตาร์ทอัพรายใหม่ด้วยการส่งเสริมความรู้และทักษะในการดำเนินธุรกิจด้วยการนำระบบเทคโนโลยีดิจิตอล และพัฒนานวัตกรรมขึ้นใหม่หรือพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามพบว่ากลุ่มสตาร์อัพดังกล่าวยังประสบปัญหาในด้านการเขียนแผนจำลองธุรกิจ การเสนอแนวคิดต่อแหล่งทุน การเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ การหาผู้ร่วมลงทุน การระดมทุน และการหาทุนแบบเงินให้เปล่าในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ โดยปัญหาที่สำคัญเหล่านี้ กสอ.ได้นำมาวิเคราะห์และเร่งให้บริการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ด้วยโครงการและกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม กิจกรรมเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี กิจกรรมเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC)

นอกจากนี้ กสอ.ยังให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้เริ่มต้นธุรกิจที่สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่าน www.NEClearning.com เพื่อส่งเสริมและพัฒนาโอกาสให้แก่ผู้สนใจประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงการเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมด้านการประกอบการในยุคดิจิตอล ซึ่งได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ปี 2560

2. การให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในการสร้างโมเดลธุรกิจเริ่มต้น การกำหนดตลาด กลุ่มเป้าหมายการเขียนแผนงาน เพื่อการนำเสนอแนวความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นไปได้ต่อการพัฒนาสู่ธุรกิจจริงต่อแหล่งทุน

3. การพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำงาน และการแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์ร่วมกันทั้งในรูปแบบ Co-Working Space, Maker Space ตลอดจน Innovation Space เพื่อผลักดันให้เกิดการรวมตัว พัฒนาผลงาน โดยได้จัดตั้งศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ Thai IDC เพื่อให้บริการด้านการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการขยายการให้บริการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ ITC ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั้ง 23 แห่งทั่วประเทศ

4. การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน โดยจัดให้มีกิจกรรมการแข่งขันเพื่อนำเสนอผลงานการสร้างผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่มีมูลค่าสูง เพื่อให้ได้รับโอกาสและประสบการณ์ในการแสวงหาแหล่งทุนในรูปแบบ Angel Fund เพื่อการจัดตั้งธุรกิจ ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมา กสอ.ได้จัดให้มีกิจกรรม Angel Fund for Startup เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยร่วมกับ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ร่วมกันพัฒนาไอเดียสร้างสรรค์ที่เกิดจากคนรุ่นใหม่ที่สามารถต่อยอดเริ่มต้นธุรกิจได้ นอกจากนี้ ในปี 2561 กสอ.ยังมีแผนในการดึงองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลก เช่น ปตท. เอสซีจี เด็นโซ่ ฯลฯ มาเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพให้ก้าวเข้าสู่การทำธุรกิจแบบสากล พร้อมการสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง รวมถึงการให้ทุนแบบให้เปล่า (Angel Fund) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในปี 2560 ที่ผ่านมา กสอ.ได้ผลักดันและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการใหม่กว่า 2,500 ราย ในจำนวนนี้สามารถก่อตั้งเป็นธุรกิจได้ถึง 790 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวคิดในการดำเนินธุรกิจด้วยไอเดียใหม่ๆ และอยู่ในกระแสความต้องการของตลาดในปัจจุบัน สำหรับในปี 2561 กสอ.ยังให้ความสำคัญต่อกลุ่มดังกล่าว โดยได้ดำเนินโครงการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีเป้าหมายการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่จำนวน 880 ราย

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าวต่อว่า จากข้อมูลสถิติพบว่าในปี 2560 เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณของการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 และคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 และในปี 2561 ด้วย ดังจะเห็นได้จากเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 4.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกขยายตัวถึงร้อยละ 7.4 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.96 และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องถึงร้อยละ 3.8 ในไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้ในภาพรวมคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.9-4.0 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 จึงนับเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคธุรกิจในประเทศไทยโดยเฉพาะกลุ่มเริ่มต้นธุรกิจ รัฐบาลจึงออกมาตรการส่งเสริมกลุ่มธุรกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพในภาพรวม โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Start Up Committee) โดยมีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์หลัก (Grand Strategy) ในการส่งเสริมธุรกิจเริ่มต้น (Startups) ของประเทศ มีการจัดทำแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย (พ.ศ. 2559-2564) และขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการธุรกิจเริ่มต้นเพื่อให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของ Startup ในประเทศไทยมากขึ้น การเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ซึ่งมุ่งสนับสนุน แก้ไขข้อจำกัดและอุปสรรคต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาของระบบนิเวศ เพื่อสนับสนุน Startup การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ Startup และนักลงทุนใน Startup

ด้านการสนับสนุนด้านการเงินแก่วิสาหกิจเริ่มต้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุนเพื่อร่วมลงทุนกับวิสาหกิจเริ่มต้น (Start Up) เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยง่ายและมีเป็นจำนวนมาก โดยให้ความช่วยเหลือในด้านแหล่งเงินทุนให้แก่วิสาหกิจดังกล่าว วงเงินลงทุน 6,000 ล้านบาท และมีแหล่งเงินทุนจากธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) แห่งละ 2,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญต่อการสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้วิสาหกิจเริ่มต้น โดยในปีงบประมาณ 2561 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจชนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้จัดทำงบประมาณบูรณาการเพื่อสร้างและพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและผู้ประกอบการรายใหม่จำนวน 1,266.54 ล้านบาท โดยบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับ 10 หน่วยงาน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น โดยมีกรอบการดำเนินงานที่ครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมความพร้อมนักศึกษาสู่การเป็น SME รุ่นใหม่ การสร้างและพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีมูลค่าสูง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ที่มีศักยภาพให้เติบโตได้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น