xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์จัดงาน “วิสาหกิจเพื่อสังคม” หวังกระตุ้น OTOP จดทะเบียนนิติบุคคล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
“พาณิชย์” ผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตรจัดงาน “วิสาหกิจเพื่อสังคมกับบทบาทที่เหนือกว่าการเป็นผู้ให้” เพื่อสะท้อนความต้องการของวิสาหกิจเพื่อสังคมของไทยทั้งระบบ ใช้เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาสังคมที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน พร้อมส่งเสริมให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ก่อนพัฒนาและขยายธุรกิจนำผลกำไรกลับคืนสู่ชุมชน ตั้งเป้าโอทอปจดทะเบียน 50% จากจำนวน 361 ราย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ในวันนี้ (23 สิงหาคม 2560) กระทรวงพาณิชย์ได้ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนจัดงาน “วิสาหกิจเพื่อสังคมกับบทบาทที่เหนือกว่าการเป็นผู้ให้” (A Social Enterprise beyond Social Giver) เพื่อผลักดันและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจเพื่อสังคมในการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสะท้อนมุมมอง บทบาท และความต้องการของวิสาหกิจเพื่อสังคมของไทยทั้งระบบ”

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังส่งเสริมให้วิสาหกิจเพื่อสังคมดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลในรูปแบบของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน และง่ายต่อการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ เนื่องจากนิติบุคคลเป็นคุณสมบัติที่แสดงถึงความมีตัวตน มีสถานะที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐหรือเอกชน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกรมสรรพากร ซึ่งต้องมีวัตถุประสงค์ตามที่กรมสรรพากรกำหนด และต้องมีคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” กำกับในชื่อนิติบุคคลด้วย รวมถึงการเชื่อมโยงให้ภาคเอกชน เช่น สมาชิกสมาคมการค้าเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาให้แก่ประเทศชาติอย่างเป็นระบบ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กรเป็นที่ยอมรับทั้งตลาดภายใน และต่างประเทศเพิ่มขึ้น

“ด้านการส่งเสริมและพัฒนา พบว่าส่วนใหญ่ต้องการได้รับการสนับสนุนส่งเสริม 7 ประการ ประกอบด้วย 1) การผสานแนวคิดและความรู้ด้านนวัตกรรมทางสังคมในระบบการศึกษา 2) การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการเพื่อสังคม 3) ระบบการจดทะเบียนและกฎระเบียบของกิจการเพื่อสังคม 4) ระบบการสื่อสารส่งเสริมช่องทางการตลาด 5) ระบบการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจากกิจการเพื่อสังคม 6) ระบบการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคม และ 7) สนามการลงทุนเพื่อสังคม ส่วนการขยายช่องทางการตลาดและการกระจายสินค้าของวิสาหกิจเพื่อสังคมจะดำเนินการผ่านเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจและการจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจ โดยสนับสนุนให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเข้าร่วมออกบูทประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการในงานต่างๆ ที่กระทรวงพาณิชย์จัดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจอุดหนุนผลิตภัณฑ์และบริการของกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมมากขึ้น”

“การนำเสนอวิสาหกิจเพื่อสังคมที่สามารถเป็นต้นแบบที่ดี โดยแบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 อาหาร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ด้านที่ 2 การศึกษา ด้านที่ 3 พลังงาน ด้านที่ 4 การพัฒนาชุมชนและสังคม และด้านที่ 5 เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส และการให้คำปรึกษาแนะนำการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม โดย 3 หน่วยงานของกระทรวงฯ คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ 2 หน่วยงานพันธมิตร คือ กรมสรรพากร และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”

รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้ายว่า “กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายที่จะพัฒนากิจการที่มีศักยภาพที่สามารถพัฒนาให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ร้อยละ 50 จากจำนวนทั้งสิ้น 361 ราย (ข้อมูลจาก สกส.) เพื่อให้กิจการที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมมีผลกำไรเพิ่มขึ้น และต้องนำผลกำไรส่วนใหญ่กลับคืนสู่ชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการพึ่งพิงภาครัฐลง โดยรัฐยังคงให้การสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือ วิสาหกิจเพื่อสังคมจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืนระยะยาวต่อไป”

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น