xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติยกเว้นภาษี 3 เท่า หาก SMEs ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
มติ ครม.เห็นชอบแนวทางส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 5 กลุ่มเป้าหมาย ชี้หากทำวิจัยและพัฒนาตามโครงการสานพลังประชารัฐ ได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 3 เท่า ใน 3 รอบบัญชี

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 5 กลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และเทคโนโลยี 2. กลุ่มอุตสาหกรรมสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3. กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม คลัสเตอร์ 4. กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และคลัสเตอร์ และ 5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูงให้เป็นการพัฒนางานวิจัยที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งคณะกรรมการสานพลังประชารัฐดูแลรายกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัย

ทั้งนี้ การอนุมัติโครงการวิจัยและการขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับทำวิจัยจะพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ขณะเดียวกันยังให้หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน กลุ่มบริษัทเอกชน หรือนิติบุคคล ที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน เป็นผู้กำหนดหัวข้อการทำวิจัยและพัฒนางาน เพื่อว่าจ้างมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานในการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อต้องการงานวิจัยเกิดจากความต้องการของเอกชน และยังเป็นการส่งเสริมให้เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพรวมกลุ่มเพื่อว่าจ้างนักวิจัยศึกษาผลงานที่ต้องการ เนื่องจากต้องใช้ทุนจำนวนมาก

ขณะที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล และกลุ่มบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการทำวิจัยและพัฒนาร่วมกันดำเนินการตามโครงการสานพลังประชารัฐ และได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการสานพลังประชารัฐแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว สามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 3 เท่า เป็นระยะเวลา 3 รอบบัญชี เริ่มตั้งแต่รอบบัญชี 1 มกราคม 2560-31 ธันวาคม 2562 ด้วยการนำรายจ่ายจากการว่าจ้างทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ค่าใช้จ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลแต่ละรายดังกล่าวที่ได้จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต้องไม่เกินกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับในปัจจุบัน คาดว่าจะช่วยส่งเสริมให้มีการลงทุนใช้จ่ายเพื่อทำวิจัยและพัฒนาต่อจีดีพีมากกว่าร้อยละ 1 หรือเป็นเงิน 130,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น