xs
xsm
sm
md
lg

“ดีป้า”อาวุธใหม่เปลี่ยนประเทศไทยสู่ยุค4.0 ดัน ศก.ดิจิทัลทลายกับดับรายได้ปานกลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล  หรือ “ดีป้า”
“สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ “ดีป้า” สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) คือ หน่วยงานน้องใหม่ของภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยก้าวทัน และสามารถแข่งขันได้ในโลกการค้ายุคใหม่ ซึ่งจะเป็นช่วยเปลี่ยนประเทศไทยสู่ยุค 4.0 หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 5%

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้เข้ามารับหน้าที่ผู้อำนวยการดีป้า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ระบุว่า หน้าที่หลักของดีป้า ได้แก่ จัดทำแผนส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งต้องนำไปปฏิบัติจริง เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้ง รักษาทรัพย์สินทางปัญญา และนวัตกรรม และที่สำคัญเตรียมความพร้อมด้าน “คน” เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนั้น มีภารกิจเสริม เช่น ร่วมทุน ผลักดันให้เกิดธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัล เป็นต้น

“เป้าหมายเรื่องของดิจิทัลเทคโนโลยีที่วางไว้ จะไม่ใช่แค่เรื่องของการทำเรื่องซอฟต์แวร์ หรือฮาร์ดแวร์ แต่ต้องการสร้าง “ระบบ” ที่จะเชื่อมโยงการนำดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายรัฐบาล รวมถึง เกิดประโยชน์ทางสังคมและชุมชน เช่น ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในท้องที่ต่างๆ เข้าถึงบริการภาครัฐ เช่น ด้านสาธารณะสุข เป็นต้น”
เปิดตัวโครงการ  “ดิจทัลโอทอป เอสเอ็มอี”
ทั้งนี้ จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ หัวใจสำคัญเกิดจากการสร้าง “คน” เพื่อจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อน โดยจะมีทั้งสร้าง “แรงงาน” ที่มีทักษะความรู้ด้านดิจทัลเทคโนโลยี ตรงต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ หรือฮาร์ดแวร์ และอุตสาหกรรมเป้าหมาย

“ในปัจจุบัน จากฐานข้อมูล ประเทศไทยมีแรงงานที่พร้อมจะรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลเพียงประมาณ 60,000 คนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้ ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมที่ทำธุรกิจยุคใหม่ ก็ขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเหมาะสม ดังนั้น วิธีการสร้าง จะทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย และโรงงานอุตสาหกรรม โดยจัดหลักสูตรให้เด็กที่กำลังจะจบ เข้าอบรมและพัฒนาทักษะให้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุน โดยทางภาคเอกชน พร้อมจะสนับสนุนเรื่องของหลักสูตร และค่าใช้จ่ายให้ด้วย เพียงแต่เราส่งเสริมให้เกิดขึ้น”

นอกจากนั้น ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน โดยการใช้ดิจิตอลเข้าไปช่วยสร้าง “ดิจิทัลคอมมูนิตี้” โดยให้ 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศ สามารถใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ในการติดต่อสื่อสารทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้ง มีโครงการ “ดิจทัลโอทอป เอสเอ็มอี” สร้างวิทยากรอาสา (Agent) จำนวน 400 คน เพื่อกระจายไปสร้างความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการโอทอป เอสเอ็มอีในพื้นที่ นำร่อง 10 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำปาง น่าน สกลนคร ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และสุราษฏร์ธานี โดย Agent จะทำหน้าที่ส่งเสริมการบริหารและการตลาดดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการโอทอป เอสเอ็มอี จำนวน รวม 4,000 ราย โดยผ่านสร้างระบบ Channel Management System หรือ CMS ป้อนข้อมูลสินค้าเชื่อมต่อกับ e-Market Place เพื่อให้เกิดการสร้างตลาด ขณะที่ Agent ก็จะมีรายได้จากส่วนแบ่งในการขายสินค้าหรือบริการ

“วิทยากร 400 คน จะเน้นคนในพื้นที่ โดยดึงมาอบรม และลงทะเบียน จากนั้น จะให้ทำหน้าที่คล้ายเป็น “นายหน้า” เข้าไปช่วยสนับสนุนการใช้ดิจิทัลแก่โอทอป และเอสเอ็มอีต่างๆ นำร่องใน 10 จังหวัด โดยเปิดตัวโครงการไปเมื่อต้นเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา และจะครบ 400 คนภายในเดือนกันยายนนี้ วิธีนี้จะช่วยให้เกิดการสร้างตลาดขึ้นมา ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ดีกว่าเดิมที่ผ่านมา ที่เรามักไปส่งเสริมให้ตัวผู้ประกอบการทำเว็บไซต์ หรืออัพรูปขายของด้วยตัวเอง”

นอกจากนี้ ดีป้า ได้สร้างแอปพลิเคชัน THAILAND I Love U เป็นแอปพลิเคชันเพื่อการท่องเที่ยว ที่มีการรวบรวมสถานที่ และเส้นทางที่สำคัญในแต่ละจังหวัด พร้อมข้อมูลสินค้าและบริการที่ทำการปักหมุดไว้บนแผนที่ดิจิตอลกว่า 50,000 จุดใน 10 จังหวัดนำร่อง โดยครอบคลุมโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และสถานที่สำคัญไว้ เพื่อให้เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ และขยายช่องทางการตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการได้อีกด้วย

ดร.ณัฐพล เผยด้วยว่า เป้าหมายในการสร้างบุคลากรเพื่อขับเคลื่อน “เศรษฐกิจดิจิทัล” ต้องการให้เกิด “ผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ด้านดิจิทัล” จำนวน 5 แสนราย ภายในเวลา 20 ปี (2560-2579) แบ่งเป็น 1. “ดิจิทัลสตาร์ทอัพ” จำนวน 20,000 ราย 2.ธุรกิจต่างชาติมาดำเนิน “ดิจิทัลเซอร์วิส” ระยะยาว ในเมืองไทย จำนวน 80,000 ราย 3.สร้างผู้ประกอบการที่จะผลิตอุปกรณ์ “ฮาร์ดแวร์” เพื่อรับรองซอฟท์แวร์จากเหล่าสตาร์ทอัพ อีกประมาณ 50,000 ราย และ4. ผู้ประกอบการธุรกิจทั่วไปทั้งเอสเอ็มอี โอทอป และวิสาหกิจชุมชนที่เปลี่ยนตัวเองจากทำธุรกิจแบบดั้งเดิมมาใช้ดิจิทัลในการส่งเสริมธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตร และอาหาร จำนวน 350,000 ราย ซึ่งถ้าทำได้ตามเป้า จะต้องเกิดแรงขับเคลื่อนครบวงจรอย่างมหาศาล สามารถผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่มีรายได้สูงอย่างมั่นคงและยั่งยืน

“นี่เป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนประเทศไทย ให้เป็น “เศรษฐกิจดิจิทัล” โดยให้สตาร์ทอัพนำบริการที่สร้างขึ้นมาไปใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆได้ ซึ่งปัจจุบัน สิ่งที่สตาร์ทอัพสร้างขึ้นมา กลับไม่มีตลาดในประเทศไทยรองรับ ทำให้ต้องไปขายนวัตกรรมให้แก่ตลาดสิงคโปร์แทน ส่วนภาคเอกชนที่จะมาลงทุนก็ขาดแคลนแรงงานที่เหมาะสมอีก ดังนั้น ถ้าเราสร้างแรงงานที่มีทักษะพร้อม ภาคเอกชนต่างชาติก็อยากจะมาลงทุนในไทย ในขณะเดียวกัน สตาร์ทอัพก็จะมีตลาดรองรับด้วย” ผู้อำนวยการดีป้า กล่าว

ทั้งนี้ แผนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลของดีป้าต่างๆ ข้างต้น จะเสนอผ่าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อจะนำไปเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อให้ความเห็นชอบแผนก่อนที่จะเริ่มนับหนึ่งเดินหน้าทำงานให้ได้ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.2560

ภารกิจดังกล่าวของดีป้า นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกัน นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญเช่นกัน ที่จะเปลี่ยนประเทศไทย ก้าวสู่ยุคใหม่ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น