xs
xsm
sm
md
lg

“บสย.” รับยอดค้ำสินเชื่อ SMEs สุดฝืด แบงก์ผวาหนี้เสียเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
“บสย.” ยอมรับยอดค้ำสินเชื่อเอสเอ็มอี ช่วงไตรมาสแรกน้อยกว่าคาด ระบุแบงก์พาณิชย์ผวายอดหนี้เสียพุ่ง ไม่กล้าอนุมัติ ฝากความหวังสินเชื่อ SME Transformation Loan วงเงิน 1.5 หมื่นล้าน และเพิ่มบทบาทค้ำ NonBank ช่วยกระตุ้นการค้ำสินเชื่อ กลับมาเดินหน้าได้ช่วงไตรมาส 2-3 ตั้งเป้าทั้งปีถึง 1 แสนล้านบาท

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ยอดค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีของ บสย.ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (2560) มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างต่ำกว่าคาด เนื่องจากสถาบันการเงินเอกชน กังวลต่ออัตราหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในกลุ่มเอสเอ็มอีที่สูงมากขึ้น ทำให้ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่ออย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ยังหวังว่าในช่วงไตรมาส 2-3 ของปี อัตราการปล่อยสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากแต่ละสถาบันการเงิน ต่างมีเป้าในการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว ถ้าความกังวลเริ่มคลายตัว การอนุมัติจะเพิ่มตามไปด้วย

นอกจากนั้น ในส่วน บสย.ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. โดยกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ (SME Transformation Loan) วงเงิน 15,000 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มประสิทธิภาพและการขยายธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลา 7 ปี โดยใช้กลไกของ บสย.ค้ำประกัน นอกจากนั้นยังมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560 ที่ร่วมกับ ธพว. วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท เริ่มให้บริการมาแล้วตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา

อีกทั้งปีนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแก้ไขกฎหมายของ บสย.เพิ่มภารกิจทั้งการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อ Factoring และค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (NonBank) คาดว่าอีก 3 เดือน ร่างกฎหมาย บสย.คงประกาศบังคับใช้ จากโครงการต่างๆ เหล่านี้ เชื่อว่าช่วยให้ยอดค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.เพิ่มสูงขึ้น โดยตั้งเป้ากว่าจะถึง 100,000 ล้านบาท จากปีที่แล้ว (2559) มียอดค้ำประกันรวมประมาณ 87,000 ล้านบาท

นายวิเชษฐเผยต่อว่า ทาง บสย.จะใช้วิธีเดินสายลงพื้นที่พบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ เพื่อให้รับรู้ภารกิจการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. และมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ รวมถึง ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อช่วยทำหน้าที่ในการแนะนำการเขียนแผนธุรกิจ เพื่อจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กลุ่มสตาร์ทอัพ เข้าถึงสินเชื่อได้มากยิ่งขึ้นด้วย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น