xs
xsm
sm
md
lg

TMB เผยเชื่อมั่น SMEs ไตรมาส 1 ดีดตัว แนะภาครัฐเดินหน้ามาตรการปลุก ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีเผยดัชนีเชื่อมั่นเอสเอ็มอีประจำ Q1/2559 ขยับขึ้นอยู่ที่ 42.1 เพิ่มขึ้นสองไตรมาสติดต่อกันครั้งแรกในรอบ 4 ปี แจงปัจจัยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ขณะที่คาดการณ์ 3 เดือนผู้ประกอบการกังวลรายได้จากธุรกิจในอนาคต แนะรัฐบาลเดินหน้าแผนปลุกเศรษฐกิจต่อเนื่อง

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม ไตรมาส 1/2559 อยู่ที่ 42.1 ปรับขึ้นจากระดับ 40.5 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีก่อน หลังจากผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/2558 ที่ระดับ 34.2 นับเป็นการเพิ่มขึ้นสองไตรมาสติดต่อกันครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ปีก่อน ต่อเนื่องจนถึงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังซื้อและเม็ดเงินหมุนเวียนของเศรษฐกิจภายในประเทศ จนสะท้อนออกมาเป็นความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น

“เจ้าของธุรกิจมีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นติดต่อกัน โดยความเชื่อมั่นด้านรายได้ของธุรกิจปรับสูงขึ้นอย่างชัดเจน เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาล เช่น มาตรการกระตุ้นการบริโภคช่วงเทศกาล และการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจท้องถิ่น รวมถึงความชัดเจนและต่อเนื่องในมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันและสภาพคล่องของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งครอบคลุมในหลากหลายกลุ่มธุรกิจและพื้นที่ ทำให้เศรษฐกิจได้รับแรงส่งอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปีก่อนถึงช่วงต้นปีที่ผ่านมา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าว

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 54.7 ลดลงจากระดับ 56.9 ยังคงสะท้อนความกังวลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อเนื่องจากรายได้ธุรกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศยังขาดปัจจัยหนุนที่ชัดเจน

ส่วนปัจจัยหลักที่สร้างความกังวลต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพบว่า ร้อยละ 57.4 ของผลสำรวจกังวลภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และกำลังซื้อที่ชะลอตัว โดยผู้ประกอบการภาคใต้มีความกังวลสูงสุด เนื่องจากราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน และสินค้าประมงยังคงมีปัญหา รองลงมาคือ เงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ ร้อยละ 14.7 และภัยแล้ง ร้อยละ 8.5

สำหรับความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญขณะนี้คือ ภาวะภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เพิ่งฟื้นตัว โดยไตรมาส 2 ปีนี้ยังขาดปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อได้ และเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจโตต่ำสุดของปี ดังนั้น จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ เร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ฟื้นความเชื่อมั่นของการลงทุนภาคเอกชน เพื่อประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปีนี้

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น