สินค้าทุกอย่างที่ผลิตขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมหรือสินค้างานฝีมือ เช่น ผลิตภัณฑ์โอทอป ต้องการการปกป้องคุ้มครอง ในระหว่างการเดินทางจากมือผู้ผลิตไปยังมือผู้บริโภค ซึ่ง “บรรจุภัณฑ์” เป็นผู้ทำหน้าที่นั้น คือปกป้องคุ้มครองสินค้า ไม่ให้เกิดความเสียหาย จากบรรยากาศ สภาพการขนส่ง การปนเปื้อน ฯลฯ ในระหว่างการขนส่งจากผู้ผลิตไปสู่มือผู้บริโภค นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ให้ข้อมูลรายละเอียดของสินค้าแก่ผู้บริโภค โดยผู้บริโภคสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับส่วนประกอบ ประโยชน์ต่างๆ หรือวิธีใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้จากข้อความที่พิมพ์อยู่บนบรรจุภัณฑ์
ปัจจุบัน บรรจุภัณฑ์มีความสำคัญเพิ่มขึ้น เป็นทั้งหน้าตารูปลักษณ์ภายนอก และยังช่วยส่งเสริมการขายด้วย โดยทำหน้าที่เป็น Silence Sales Man ซึ่งก็คือ ตัวส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์นั้นขายได้มากขึ้น จากรูปร่างหน้าตาที่โดดเด่น เหนือกว่าและแตกต่างกว่าคู่แข่ง เพราะฉะนั้น หน้าที่ปัจจุบันนอกจากจะปกป้องคุ้มครองผลิตภัณฑ์ และให้ข้อมูลทั่วไปแล้ว บรรจุภัณฑ์ยังมีบทบาทในเรื่องส่งเสริมการขายอีกด้วย
ส่วนประเภทของบรรจุภัณฑ์นั้น สามารถแยกออกได้ด้วยวัสดุที่นำมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์นั้นๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากกระดาษ, บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติก, บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากแก้ว, บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากโลหะต่างๆ เช่น อลูมิเนียมฟลอยด์ และบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ เช่น เข่ง กล่องไม้ ลังไม้ ซึ่งยังใส่ผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมหนักๆ อยู่ แต่ในผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ใช้กันมากมักจะเป็นกระดาษ ฟิล์มพลาสติก ขวดแก้ว ขวดพลาสติกต่างๆ ที่ใช้ใส่อาหาร นม น้ำดื่ม ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป
โดยประเภทของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้มากที่สุดในปัจจุบันคือ กระดาษ เพราะใช้ได้ทั้งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ติดกับตัวสินค้า หรือที่เรียกว่าบรรจุภัณฑ์ขายปลีก และบรรจุภัณฑ์ขนส่ง ที่เป็นกล่องกระดาษแข็งสีน้ำตาล รองลงมาคือพลาสติกที่ทำเป็นซองต่างๆ หรือขวดน้ำ ฯลฯ
ทั้งนี้ มีหน่วยงานของรัฐและเอกชนหลายหน่วยงานที่ดูแลและให้ความรู้เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ โดยผู้ประกอบการสามารถเข้าไปขอคำปรึกษาได้ เช่น ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ถ.พหลโยธิน โทร.0-2579-5515, 0-2579-0160, 0-2579-1121 ต่อ 3201, ส่วนบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 0-2392-2512, 0-2367-8181, 0-2367-8182, ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ สำนักบริการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก โทร. 0-2513-1909-18, 0-2511-5066-7 ต่อ 451