กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบของการให้สิทธิแฟรนไชส์สำหรับแฟรนไชซี เพื่อให้แฟรนไชซอร์ที่ต้องการขายสิทธิแฟรนไชส์ได้เลือกรูปแบบของการขายสิทธิแฟรนไชส์ซึ่งมีด้วยกัน 3 รูปแบบไว้ดังนี้
1.แฟรนไชส์แบบหน่วยเดียว หรือแฟรนไชส์บุคคล (Individual Franchise or Single Unit Franchise) แฟรนไชส์ประเภทนี้เป็นรูปแบบการให้สิทธิแฟรนไชส์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือนิติบุคคลองค์กรหนึ่งองค์กรใดในการดำเนินธุรกิจที่ได้รับสิทธิจากแฟรนไชซอร์เพียงแค่ 1 แห่ง ภายในทำเลที่ตั้งหรือพื้นที่ภูมิประเทศที่กำหนดขึ้นตามสัญญา
รูปแบบการให้สิทธิแบบนี้เป็นที่นิยมใช้กันมากในแฟรนไชส์หลายประเภท เนื่องจากมีข้อดีในเรื่องของ 1.เป็นรูปแบบที่ง่ายในการเริ่มต้นของแฟรนไชซอร์ โดยเฉพาะในช่วงต้นของการเริ่มขยายธุรกิจด้วยแฟรนไชส์ อีกทั้งยังช่วยให้แฟรนไชซอร์สามารถให้การสนับสนุนและเรียนรู้ข้อผิดพลาดของการทำแฟรนไชส์ได้โดยตรงจากสาขาต้นๆ ทำให้การปรับปรุงพัฒนา แก้ไขทำได้
2.การทำแฟรนไชส์ประเภทนี้ยังช่วยให้สามารถหาแฟรนไชซีที่สนใจได้ง่ายกว่า เพราะขนาดการลงทุนเพียง 1 แห่งจะต่ำกว่าการลงทุนหลายๆ แห่ง ทำให้แฟรนไชส์ที่มีการลงทุนต่อหน่วยที่สูง เช่น ร้านฟาสต์ฟู้ดจากต่างประเทศ หรือแม้แต่แฟรนไชส์ที่มีโอกาสทางการตลาดในอนาคตนิยมใช้กัน
3.ช่วยให้แฟรนไชซอร์ไม่เสียโอกาสในอนาคต หรือคิดค่าสิทธิที่สูงเกินไปกับแฟรนไชซี อันเนื่องมาจากการรวมค่าเสียโอกาสในอนาคตไว้ด้วย ซึ่งจะเป็นผลให้มูลค่าการลงทุนของแฟรนไชซีแต่ละรายสูง และ 4.สามารถหาแฟรนไชซีที่บริหารธุรกิจ 1 แห่งได้ง่ายกว่าการหาแฟรนไชซีที่จะมาบริหารธุรกิจหลายแห่ง ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการบริหารค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ดีการให้สิทธิแฟรนไชส์แบบหน่วยเดียวหรือแฟรนไชส์บุคคลก็ยังมีข้อเสียในเรื่องของการให้การสนับสนุนและบริการของแฟรนไชซอร์ต่อแฟรนไชซี ในอนาคตที่มีจำนวนแฟรนไชซีมากๆ จะกระทำได้ลำบาก ซึ่งหากจัดการระบบการติดต่อสื่อสารได้ไม่ดีพอปัญหาต่างๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้มากเช่นกัน
2.แฟรนไชส์แบบหลายหน่วยหรือแบบพัฒนาพื้นที่ (Multiunit Franchise or Area Development Franchise)
แฟรนไชส์ประเภทนี้เป็นรูปแบบการให้สิทธิแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคล องค์กรต่างๆ ในลักษณะการกำหนดเป็นพื้นที่รับสิทธิที่จะสามารถดำเนินธุรกิจที่ได้รับสิทธิมาจากแฟรนไชซอร์มากกว่า 1 แห่งตามจำนวนที่ได้ตกลงกัน
การขยายแฟรนไชส์รูปแบบนี้จะทำให้การขยายตัวในระบบแฟรนไชส์เป็นไปได้อย่างรวดเร็วกว่าแบบแรก หากแฟรนไชซอร์คัดเลือกได้แฟรนไชซีที่มีกำลังเงินทุนในการเปิดสาขากิจการได้พร้อมๆ กันในเวลาอันสั้นที่ได้กำหนดไว้
3.แฟรนไชส์แบบ Subfranchise
คือรูปแบบการให้สิทธิแฟรนไชส์ประเภทนี้เป็นการให้สิทธิแก่บุคคล หรือกลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคล ในพื้นที่รับสิทธิที่กำหนดเพื่อให้บุคคล กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคลดังกล่าวทำการขยายการให้สิทธิหน่วยย่อยแบบ Individual Franchise หรือ Multiunit Franchise แก่บุคคลอื่นในพื้นที่ต่อไป
ในบางกรณีก็มีการเรียกผู้รับสิทธิประเภทนี้ว่าเป็น Subfranchise หรือ Regional Franchise หรือแม้แต่ Master Franchise ซึ่งจะเห็นว่าการขยายแฟรนไชส์ของต่างประเทศนิยมใช้รูปแบบดังกล่าวนี้ สำหรับแฟรนไชส์ในประเทศที่จะขยายตัวไปต่างจังหวัดไกลๆ โดยที่ตนเองไม่สามารถสนับสนุนบริการได้สะดวก ก็สามารถจัดการให้สิทธิเป็นระดับภาคแก่คนอื่นๆ เพื่อจัดหาผู้รับสิทธิอีกทอดต่อไป