xs
xsm
sm
md
lg

2 ปรมาจารย์คว้ารางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น 2562”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

บรรยากาศงานประกาศ รางวัล รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น 2562 โดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
นักวิจัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติฯ ,แพลตฟอร์มเทคโนโลยีฐานด้านการบูรณาการระบบ คว้ารางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น 2562”


สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จับมือร่วมกันจัดงานประกาศผลรางวัลพระราชทาน "นักเทคโนโลยีดีเด่น 2562” เมื่อ 17 ต.ค.62 ณ โรงแรมดิ แอทธินี กรุงเทพฯ และจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ Outstanding Technologist Awards and STI Forum 2019 ภายใต้หัวข้อ Turning Science & Technology into Business เพื่อเชิดชูเกียรติและแสดงความยินดีต่อนักเทคโนโลยีไทยที่สร้างผลงานด้านการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลักดันให้ผลงานวิจัยได้เชื่อมโยงไปสู่ตลาดธุรกิจได้อย่างแท้จริง


นายสัตวแพทย์ รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ประธานกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ตลาดธุรกิจในยุคปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงและทวีความท้าทายมากขึ้นในทุกปี การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้สามารถนำมาต่อยอดธุรกิจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ อ้างอิงจากการจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย International Institute for Management Development (IMD) แสดงให้เห็นว่าไทยควรมุ่งเน้นและผลักดันการวิจัยและพัฒนาเทคนโนโลยีและนวัตกรรม นำไปสู่การจดสิทธิบัตรและช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ให้ได้มากขึ้น


นายสัตวแพทย์ กล่าวต่อว่า “ในปี 2562 นี้มีโครงการของนักเทคโนโลยีรวมทั้งสิ้น 62 โครงการ โดยคำนึงถึงศักยภาพและความสามารถในการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยี ที่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติหรือเชิงพาณิชย์ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และในการจัดงานวันนี้ ได้มีการนำเสนอผลงานของนักเทคโนโลยีที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มี 4 ท่านดังนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ และคณะนักวิจัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบรังสีทรงกรวย , รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผลงานวิจัยเรื่องแพลตฟอร์มเทคโนโลยีฐานด้านการบูรณาการระบบ เพื่องานหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ สำหรับใช้งานในระบบอุตสาหกรรม 4.0 , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นาวาโท ดร.พินัย มุ่งสันติสุข ผลงานวิจัยเรื่องการผลิตโลหะกันกร่อนสำหรับป้องกันสนิมของเหล็กเสริมในคอนกรีต และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผลงานวิจัยเรื่อง เทคโนโลยีการเตือนภัยน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม


ที่สุดในปีนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ และ ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ได้รับ “รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น 2562” ไปครอง
ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช  ธัชยพงษ์ นำเสนองานวิจัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบรังสีทรงกรวย
สำหรับผลงานของ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ได้แก่ งานวิจัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบรังสีทรงกรวย คือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบลำแสงทรงกรวยสามมิติ สำหรับทันตกรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปากและใบหน้าชื่อ "เดนตีสแกน" (DentiiScan) ขึ้นมาเป็นผลสำเร็จรายแรกในประเทศไทย และผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยมาตรฐานสากลแล้ว เป็นงานวิจัยที่ช่วยลดการสูญเสียเงินตราไปต่างประเทศ ทำให้ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุและคนพิการได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์เพื่องานทันตกรรม รวมทั้งด้านการวินิจฉัยโรคอื่นๆ

ส่วน รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่องแพลตฟอร์มเทคโนโลยีฐานด้านการบูรณาการระบบ เพื่องานหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ สำหรับใช้งานในระบบอุตสาหกรรม 4.0 เป็นระบบปฏิบัติการหุ่นยนต์ โดยเป็นเฟรมเวิร์กที่เป็นโอเพนซอร์สที่สามารถกระจายข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของระบบหุ่นยนต์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไปตามโหมดที่แตกต่างกันตามหน้าที่ของแต่ละโหมด ด้วยการเชื่อมต่อระบบปฏิบัติการที่ควบคุมแขนกลเข้ากับฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้องกับแขนกลต่างๆ จะเป็นแหล่งรวบรวมไลบรารีและเครื่องมือทั้งหลาย เพื่อช่วยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในการสร้างแอพพลิเคชันทางด้านหุ่นยนต์ ทั้งนี้ การประยุกต์ใช้กับงานอุตสาหกรรมอาจพัฒนาโครงการสร้างให้มีความเสถียรและน่าเชื่อถือมากขึ้น
ดีเด่น
รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์  นำเสนอผลงานวิจัยเรื่องแพลตฟอร์มเทคโนโลยีฐานด้านการบูรณาการระบบ เพื่องานหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ สำหรับใช้งานในระบบอุตสาหกรรม 4.0
ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช  ธัชยพงษ์ รับรางวัล รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น 2562
รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์  รับรางวัล รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น 2562
กำลังโหลดความคิดเห็น