xs
xsm
sm
md
lg

เปาะแปะ

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


ภายใต้ผ้ายางกันฝนที่กำลังเกิดเสียงจากการกระทบของเม็ดฝน ความมืดจากเมฆฝนทำให้ไฟฉายคาดหัวถูกนำมาใช้งานแม้จะอยู่ในช่วงเวลาเที่ยงวัน ถุงผ้าดิบขนาดเล็กที่ถูกแขวนไว้ถูกเปิด ตัวอย่างนกที่ติดตาข่ายงานวิจัยถูกหยิบจับออกมาอย่างระมัดระวังแต่ก็ไม่วายจากอาการตกใจของนกป่าที่พยายามดิ้นรนจนบางครั้งขนของมันก็หลุดร่วงไปบ้าง อุปกรณ์บันทึกข้อมูล อุปกรณ์ติดห่วงขาเครื่องชั่งน้ำหนักดิจิตอล เวอร์เนียคาลิปเปอร์ซึ่งก็คืออุปกรณ์วัดขนาดถูกตระเตรียมไว้ก่อนหน้าแล้วเพื่อให้สะดวกการใช้งาน

"นกเดินดงหัวสีส้ม สอง subspecies เลย" ปิง รุ่นน้องซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยเอ่ยบอก เมื่อนกจากถุงผ้าทั้งสองถูกจับออกมา ลักษณะโครงสร้างต่าง ๆ สำหรับเพื่อใช้เป็นข้อมูลถูกวัดออกมาตามลำดับซึ่งมีผู้ช่วยวิจัยอีกคนหนึ่งคอยจดบันทึกให้ เพียงไม่นานการเก็บข้อมูลลักษณะของโครงสร้าง น้ำหนัก ลักษณะขน ปริมาณไขมันสะสม และขนาดกล้ามเนื้อก็เสร็จเรียบร้อย และแน่นอนว่าการถ่ายรูปเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเป็นอันดับต่อไป แต่ก็ไม่ใช่การถ่ายรูปเพียงเพื่อความสวยงามอย่างที่มักคุ้นกันอย่างเดียว นกจะถูกจับจัดท่าทางเพื่อให้เห็นลักษณะเพื่อดูขนาดและความสมบูรณ์ของขนนกด้วยก่อนการปล่อยนกคืนสู่ธรรมชาติพร้อมกับห่วงขาเพื่อระบุตัวตนของนกแต่ละตัว

"ปิดตาข่ายหมดแล้วใช่ไหม" ปิงถามคณะวิจัย เพราะการเปดตาข่ายดักนกในระหว่างฝนตกอาจทำให้นกที่มาติดตายได้ "ปิดหมดแล้วค่ะ" เสียงสมาชิกตอบกลับ "ยกเว้นอันที่เจ้ามัทไปดู ยังไม่กลับมาเลย" นอกในคณะวิจัยอีกคนหนึ่งเสริมว่าเพื่อนที่เดินไปตรวจตาข่ายดักนกคนหนึ่งยังไม่กลับมาที่แคมป์ "ไม่ใช่ว่าหลงหรอกนะ นี่ยังจะหลงอยู่อีกเหรอ" เสียงพูดดังขึ้นก่อนเสียงหัวเราะจะตามมา และไม่นานสายฝนก็โปรยหนักลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา "ยังมีอีกสองถุง" เสียงเอ่ยดังขึ้น "นกกระจ้อยกับนกกะรางคอดำนะ" รอบที่สองเพิ่มคนวัดขนาดและจดบันทึกข้อมูลเพิ่มเติมมาอีกหนึ่งชุด เพื่อลดระยะเวลาเก็บข้อมูลเนื่องจากความเครียดที่เกิดจากการถูกจับไม่มีทางส่งผลดีต่อพวกมันแน่นอน

"โห ชุ่มมาเลย" ผมเอ่ยเมื่อเห็นมัท รุ่นน้องผู้กลับมาช้าที่สุดโผล่พ้นพุ่มไม้มาอย่างเปียกปอนและไม่พลาดที่จะสังเกตเห็นถุงผ้าดิบในมืออีกหนึ่งใบ "นกติดตัวนึงค่ะพี่ พันข่ายแน่นมากหนูแกะอยู่นานไม่ออก พอฝนลงเลยตัดสินใจตัดเอาออกมา" รุ่นน้องเอ่ยบอกก่อนยื่นถุงให้ปิง "นกปรอดภูเขา" ปิงระบุชนิดก่อนเริ่มต้นกระบวนการเก็บข้อมูลเหมือนอย่างเคย "ยังไม่เคยติดห่วงขา" ปิงเสริม

เวลาผ่านไปจนถึงช่วงเย็น เสียงระบุชนิดนกและขนาดจากการวัดลักษณะต่าง ๆ ของร่างกายนกยังคงดังอยู่กอปรกับเสียงเอ่ยคุยเล่นสนุกสนาน ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าว งานวิจัยเรื่องกระท่าง งานวิจัยเรื่องการใช้ประโยชน์ตามระดับชั้นเรือนยอดของนก งานวิจัยเรื่องกิ้งก่าเขาหนามเล็ก และอื่นๆ เมื่องานของยังไม่ถึงเวลาเริ่มดำเนินการก็ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อไม่ปริบ่น จากประสบการณ์การร่วมงานกับผู้คนคนหลากหลายก็ต้องบอกว่ารูปแบบนี้มีให้พบเห็นกันไม่ได้ง่ายนัก

"เดี๋ยวผมไปลงเวียร์ (ฝายวัดระดับการไหลของน้ำ) จับตัวอย่างกระท่างก่อนครับ" รุ่นน้องอีกคนหนึ่งเอ่ย แน่นอนว่าผมไม่พลาดที่จะเดินไปด้วยเพราะความน่ารักของกระท่างใครเล่าจะทนไหว อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่ง "อย่าลืมเก็บแรงไว้เดินสำรวจคืนนี้ด้วยนะ" รักกี้ รุ่นน้องนักวิจัยในโครงการอีกคนเอ่ยเตือน

เสียงฝนปรอยหล่นกระทบใบไม้เขียวเปาะแปะ ความมืดเริ่มมาเยือน เสียงร้องของจั๊กจั่นและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกเริ่มดังกลบเสียงนกร้องที่เบาซาลงทุกที ผมคิดถึงคืนนี้ซึ่งอีกยาวไกลกว่าจะเสร็จงานในหนึ่งวัน

"จะไหวไหมวะเนี่ย" ผมเอ่ยกับตัวเอง

เกี่ยวกับผู้เขียน

"แต่เดิมเป็นเด็กบ้านนอกจากจั
งหวัดจันทบุรี ที่มีความมุ่งมันตั้งใจศึกษาต่อ ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากความสนใจส่วนตัวและการชักชวนจึงเข้าเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ จึงได้เข้าไปสัมผัสเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าหลากหลายประเภทในพื้นที่อนุรักษ์หลากหลายแห่งทั่วประเทศไทย หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กระนั้นก็ยังโหยหาและพยายามนำพาตัวเองเข้าป่าทุกครั้งที่โอกาสอำนวย"


พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น