xs
xsm
sm
md
lg

หาย

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


'สุเทพเอนซิส ฤาจะหายไป? สถานภาพความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนดอยสุเทพ'

เป็นหัวข้อในงานเสวนาดอยสุเทพครั้งที่ 5 จัดโดยศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานในครั้งนี้มีการบรรยายเผยแพร่ข้อมูลจากงานวิจัยจากแปลงเก็บข้อมูลถาวรในพื้นที่สงวนชีวมณฑล ห้วยแม่สา-คอกม้า ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่ของดอยสุเทพ ซึ่งแปลงวิจัยนี้มีการศึกษาวิจัยหลากหลายเรื่องราวมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 และยังดำเนินการศึกษาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องแรกเป็นการบรรยายงานวิจัยเกี่ยวกับลุ่มน้ำตั้งแต่พื้นที่รับน้ำ ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ปัญหาเรื่องปริมาณน้ำซึ่งปัจจุบันคนปลายน้ำรู้สึกได้ว่าลดลง แต่ความเป็นจริงแล้วนั้นจากสถิติและข้อมูลที่ทำการบันทึกมายาวนานแสดงว่าปริมาณน้ำท่ามีความแตกต่างจากเมื่อก่อนไม่มากนัก ส่วนเรื่องการลดลงของปริมาณต้องทำการศึกษาว่าระหว่างทางจากต้นน้ำและกลางน้ำนั้นมีการนำน้ำไปใช้มากขึ้นหรือไม่ ซึ่งเมื่อมองดูด้วยตาก็อาจจะเป็นไปจากเหตุที่ว่าการขยายขนาดของชุมชน พื้นที่เกษตร การท่องเที่ยว จำนวนคนที่มากขึ้น กิจกรรมที่มากขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำถูกนำไปใช้ระหว่างทางมากขึ้น ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ปลายน้ำจึงมีปริมาณลดลง เรื่องการปนเปื้อนของสารพิษและสารตกค้างในปริมาณที่มากเกินกว่ามาตรฐานจากชุมชนร้านค้าด้านบนดอยสุเทพลงสู่แหล่งน้ำแล้วไหลลงสู่ชุมชนด้านล่าง

การบรรยายเรื่องต่อมาเกี่ยวกับระบบนิเวศป่าไม้ ข้อมูลชนิดไม้ การเปลี่ยนแปลงของชนิดไม้ การทดแทนของสังคมพืช และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกต่อสังคมพืช ข้อมูลระยะยาวระบุว่าอุณหภูมิเฉลี่ยมีการเพิ่มขึ้นทุกปี แม้จะมองเห็นเป็นตัวเลขแล้วดูไม่มากนักแต่ผลกระทบที่เกิดจริงจากความแห้งแล้งส่งผลให้เห็นชัดเจน สังคมพืชป่าเต็งรังผลัดใบที่ชอบสภาพภูมิอากาศค่อนข้างแล้งขยายตัวในขณะที่สังคมพืชป่าดิบเขาที่ต้องการสภาพภูมิอากาศแบบชุ่มชื้น และในกรณีเช่นนี้ชนิดไม้ที่ขึ้นเฉพาะในสังคมป่าดิบเขาหรือมีความต้านทานความแล้งได้น้อยจะลดลงหรือสูญหายไปจากพื้นที่

บรรยายพิเศษเรื่องสุดท้ายเกี่ยวกับนิเวศของสัตว์ป่า ศึกษาวิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จากการศึกษาวิจัยสัตว์หลายชนิดเป็นสัตว์ที่พบได้บ่อยในบริเวณดอยสุเทพแต่พบได้ยากในพื้นที่อื่น และการใช้ประโยชน์พื้นที่ของสัตว์โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ปีกมีความต้องการระดับชั้นเรือนยอดของต้นไม้หลายระดับ ทำให้การอนุรักษณ์มีความจำเป็นที่จะต้องให้เกิดความครอบคลุมในทุกระดับชั้นของป่า การมุ่งเน้นไปยังไม้เด่นเรือนยอดเพียงอย่างเดียวหรือลักษณะของแหล่งอาศัยเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่สามารถรักษาความหลากหลายของสัตว์ป่าในพื้นที่เอาไว้ได้ และความหลากหลายในแปลงศึกษาถาวรแห่งนี้ซึ่งมีขนาดพื้นที่เพียง 16 เฮกแตร์มีความหลากหลายและจำนวนชนิดมากมาย แต่การสูญเสียพื้นที่ให้แก่กิจกรรมของมนุษย์ในแต่ละปีนั้นมากกว่ามาก ดังนั้นการรักษาพื้นที่ให้ได้นั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด

หลังจากการบรรยายทั้งสามเรื่องจบลง การสัมมนาเรื่องความหลากหลายจากผู้สนใจ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยทั้งมีสังกัดและอิสระ ก็ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ในพื้นที่ดอยสุเทพแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างฝายชะลอน้ำในจุดที่ไม่ควรสร้าง ปัญหาขยะ ปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำ ปัญหาหมาและแมวจรจัด ปัญหาการลุกล้ำแผ้วถางทำลายปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่ ปัญหาการล่าสัตว์และเก็บของป่าอย่างผิดกฎหมาย แต่ท้ายสุดแล้วความสำคัญของการเป็นสิ่งมีชีวิตที่ค้นพบ มีชื่อ หรือจะพบได้ในพื้นที่ของดอยสุเทพเท่านั้นก็ไม่มีความหมายความสำคัญ ถ้าพวกเราไม่สามารถป้องกันรักษาพื้นที่ธรรมชาติแห่งนี้เอาไว้ได้ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับสัตวพวกนั้นก็จะเกิดขึ้นกับมนุษย์เช่นกันนั่นเอง

เกี่ยวกับผู้เขียน

"แต่เดิมเป็นเด็กบ้านนอกจากจั
งหวัดจันทบุรี ที่มีความมุ่งมันตั้งใจศึกษาต่อ ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากความสนใจส่วนตัวและการชักชวนจึงเข้าเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ จึงได้เข้าไปสัมผัสเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าหลากหลายประเภทในพื้นที่อนุรักษ์หลากหลายแห่งทั่วประเทศไทย หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กระนั้นก็ยังโหยหาและพยายามนำพาตัวเองเข้าป่าทุกครั้งที่โอกาสอำนวย"


พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น