xs
xsm
sm
md
lg

พบจดหมายต้นฉบับที่ Galileo เขียนถึงสันตะปาปา แต่อ้างว่าไม่ได้เขียน

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพการไต่สวนกาลิเลโอที่โรม
นักประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นประวัติวิทยาศาสตร์ ประวัติศิลปศาสตร์หรือประวัติเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ในยุคนี้ และสมัยนี้ไม่มีความจำเป็นต้องเดินไปค้นหาเอกสารทางประวัติศาสตร์ด้วยตนเองที่พิพิธภัณฑ์อีกต่อไป เพราะพิพิธภัณฑ์ ยุค 4.0 ได้พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลและภาพเป็นแบบดิจิทัลไปจนหมดแล้ว

กระนั้นนักวิชาการแทบทุกคนก็มีความหวังอยู่ลึกๆ ภายในใจว่า สักวันหนึ่งถ้าโชคช่วยและบาปไม่ได้เข้ามาบดบังการทำงาน เขาคงจะได้พบเอกสารหรือจดหมายที่เขียนด้วยลายมือของ Archimedes, จักรพรรดิ Montezuma หรือพระนเรศวร ฯลฯ ซึ่งถ้าเป็นฉบับจริง ข้อความที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนั้นอาจจะเปิดเผยความจริงหลายประการที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อน เช่นว่า ความรู้สึกของ Archimedes ทันทีหลังจากที่พบกฎการลอย การสนทนาต่อรองระหว่างจักรพรรดิอินคาผู้ทรงพระนามว่า Montezuma กับนายพล Hernando Cortez ของสเปน และการวางแผนทำสงครามยุทธหัตถีของพระนเรศวร ซึ่งถ้าพบจะทำให้สังคมปัจจุบัน รู้ และเข้าใจความเป็นไปของโลกในเวลานั้นดีขึ้นมาก

ดังนั้นเมื่อ Salvatore Ricciardo แห่งมหาวิทยาลัย Bergamo ในอิตาลี ซึ่งเป็นนักประวัติวิทยาศาสตร์ได้ไปเยือนสมาคม Royal Society ในลอนดอน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ และขณะกำลังค้นหาเอกสารที่ถูกเก็บในหอจดหมายเหตุของสมาคม เขาได้เห็นเอกสารฉบับหนึ่งที่มีความยาว 7 หน้ากระดาษแฝงอยู่ใน catatogue ของห้องสมุดโดยไม่มีใครเหลียวแล ตลอดระยะเวลา 250 ปีที่ผ่านมา

การอ่านภาษาอิตาเลียนโบราณออก ทำให้ Ricciardo ตระหนักรู้ในทันทีว่า มันเป็นจดหมายที่ Galileo เขียนด้วยตนเอง ซึ่งมีใจความไม่เห็นด้วยกับคำสอนในไบเบิลที่แถลงว่า ดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก จดหมายฉบับนั้นลงวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1613 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระทรงธรรมในสมัยอยุธยา) และมีลายเซ็นชื่อตอนท้ายว่า G.G. (จากคำเต็ม Galileo Galilei)

เพราะเนื้อหามีถ้อยคำที่รุนแรงและคนเขียนมีความเห็นที่ต้องห้าม ดังนั้น Galileo จึงคัดลอกเป็นจดหมายอีกหลายฉบับ เพื่อส่งให้เพื่อนฝูง และมีฉบับหนึ่งที่ถูกส่งไป Rome ซึ่งได้เดินทางถึงศาลศาสนาในปี 1615

ถึงวันนี้นักประวัติวิทยาศาสตร์ได้พบว่าเนื้อหาในจดหมายมีสองรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยแบบแรกมีถ้อยคำที่รุนแรง ส่วนแบบที่สองใช้ถ้อยคำที่สุภาพกว่า คำถามจึงมีว่า จดหมายแบบแรกหรือแบบที่สองเป็นฉบับที่ Vatican ได้รับ ด้าน Galileo เองได้อ้างว่า จดหมายที่สันตะปาปาได้รับ ถูกบาทหลวงที่เป็นศัตรูของเขาดัดแปลง ตบแต่ง และบิดเบือนเนื้อความ จนทำให้เขาดูเป็นคนจาบจ้วงสถาบัน และเป็นคนนอกรีต อย่างไรก็ตาม ผลสุดท้ายที่ตามมาคือ สันตะปาปาทรงบัญชาให้ศาลศาสนาลงโทษ Galileo

แต่การพบจดหมายต้นฉบับที่แท้จริง โดย S. Ricciardo ได้แสดงให้เห็นชัดว่า จดหมายที่สันตะปาปาได้รับเป็นจดหมายที่ใช้ถ้อยคำรุนแรง เพราะในจดหมายต้นฉบับมีรอยขีดฆ่า การดัดแปลง และการเปลี่ยนแปลงสำนวน โดย Galileo เอง นั่นแสดงให้เห็นว่า หลังจากที่เขียนจดหมายแล้ว Galileo กลัวการถูกลงโทษโดยศาลศาสนาที่ได้เคยตัดสินเผา Giodarno Bruno ทั้งเป็น เพราะ Bruno สนับสนุน Copernicus ที่อ้างว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ Galileo จึงพยายามแปลงถ้อยคำในสารให้สุภาพขึ้น แล้วส่งไปให้เพื่อนชื่อ Benedetto Castelli แห่งมหาวิทยาลัย Pisa อ่าน และได้อ้างต่อคนทั่วไปว่า นี่คือ จดหมายต้นฉบับจริง รวมทั้งได้ขอร้องให้ Castelli นำจดหมายส่งต่อไปที่ Vatican

นี่จึงเป็นการอ้างเท็จ โดยนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงที่สุดในโลกของยุคนั้น เพราะ Galileo กลัวการถูกไฟเผาทั้งเป็น การวิเคราะห์ลายมือที่ปรากฏในจดหมาย และลายมือที่ใช้ในการแก้สำนวนล้วนยืนยันว่า เป็นของ Galileo

ในจดหมายฉบับที่เขียนถึง Castelli Galileo อ้างว่า การวิจัยใดๆ ทางวิทยาศาสตร์จะต้องไม่ถูกบังคับหรือถูกควบคุมโดยสถาบันศาสนา และการอ้างถึงเหตุการณ์ต่างๆ ทางดาราศาสตร์ ดังที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิล มิใช่ความจริง 100% เพราะได้รับการปรุงแต่งโดยคนเขียนเพื่อให้อ่านสนุก รวมถึงได้ปรับเปลี่ยนถ้อยคำเพื่อให้คนทั่วไปที่มีความรู้วิทยาศาสตร์ค่อนข้างน้อย สามารถเข้าใจวิทยาศาสตร์ได้ ดังนั้น สถาบันศาสนา จึงไม่มีความสามารถและหน้าที่ใดๆ ในการตัดสินความถูกต้องหรือความผิดพลาดในการอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ

ดังนั้นคำสอนที่ว่า ดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก จึงเป็นเพียงความเชื่อ มิใช่ความจริง เพราะโลกต่างหากที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ตามที่ Nicolaus Copernicus ได้เคยแถลงไว้เมื่อ 70 ปีก่อนนี้

ถึงปี 1616 กาลิเลโอวัย 52 ปีจึงตัดสินใจเดินทางไปโรม เพื่อเข้าเฝ้าสันตะปาปา Paul ที่ 5 โดยตั้งใจจะถวายรายงานเรื่องเอกภพให้ท่านประมุขของคริสตจักรฟัง และหวังว่าสันตะปาปาจะทรงคล้อยตามความคิดเรื่องเอกภพที่โคเปอร์นิคัสนำเสนอ แต่กาลิเลโอต้องประสบความผิดหวังมาก เพราะบรรดาพระคาร์ดินัลและนักบวชในโรมยังศรัทธาและยึดมั่นในคำสอนของอริสโตเติลต่อไปอย่างแรงกล้า นอกจากนี้ก็ยังได้กล่าวโจมตีกาลิเลโอว่ากำลังพยายามทำลายสถาบันศาสนา ด้วยการล้มล้างคำสอนทุกคำสอนที่มีในคัมภีร์ไบเบิล ครั้นเมื่อกาลิเลโอเชื้อเชิญให้คนเหล่านั้นใช้กล้องโทรทรรศน์ที่เขาประดิษฐ์ส่องดูดาวเคราะห์ ทุกคนปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าเสียเวลา เพราะสามารถเห็นได้ด้วยตาที่พระเจ้าทรงประทานให้ตั้งแต่เกิดแล้ว และการที่กาลิเลโออ้างว่าดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์เป็นบริวารนั้น เหล่านักบวชกลับอ้างว่า ทั้งทฤษฎีโหราศาสตร์ คัมภีร์ไบเบิล และตำราของอริสโตเติลต่างก็ไม่เคยกล่าวถึงดวงจันทร์ที่ว่านี้เลย ดังนั้น เมื่อไม่มีการกล่าวถึงในตำราใดๆ ดวงจันทร์เหล่านั้นก็ไม่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ จึงไม่มีประโยชน์เลย และเมื่อไม่มีประโยชน์ใดๆ ดวงจันทร์เหล่านั้นก็ไม่มีจริง

การอ้างตรรกะแบบข้างๆ คูๆ นี้ทำให้กาลิเลโอต้องพยายามชี้แจงว่า คัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่ตำราวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เขียนโดยนักวิทยาศาสตร์ ดังนั้นคำสอนต่างๆ ในไบเบิลจึงไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในแวดวงวิชาการได้ กาลิเลโอยังได้กล่าวเตือนเหล่านักบวชให้ตระหนักว่า คัมภีร์ไบเบิลสอนคนให้รู้วิธีที่จะไปสวรรค์ แต่มิได้บอกให้รู้ว่าสวรรค์เคลื่อนที่อย่างไร

แม้จะชี้แจงสักเพียงใด สถาบันศาสนาแห่งวาติกันก็ยังยืนกรานไม่คล้อยตามกาลิเลโอ บุคคลสำคัญที่ต่อต้านกาลิเลโอมากที่สุดคือ Cardinal Bellarmine ผู้เคยตัดสินฆ่าจีออร์ดาโน บรูโน ด้วยการเผาทั้งเป็น มาคราวนี้ Bellarmine ได้สั่งห้ามกาลิเลโอมิให้เผยแพร่ความคิดที่ว่าโลกเคลื่อนที่ได้ และดวงอาทิตย์อยู่นิ่ง มิฉะนั้นจะถูกลงโทษสถานหนัก เพราะกาลิเลโอไม่มีหลักฐานใดๆ มา แสดงว่าโลกเคลื่อนที่ได้ และถ้ากาลิเลโอจะเขียนหรือจะสอนเรื่องเอกภพ ก็ต้องแยกคำสอนทางศาสนาออกจากความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์จะต้องไม่โจมตีศาสนาไม่ว่าในกรณีใดๆ

เมื่อถูกคาร์ดินัลขู่จะลงโทษอย่างรุนแรง กาลิเลโอจึงเดินทางกลับฟลอเรนซ์ เพื่อทำงานวิทยาศาสตร์ต่อไปอย่างระมัดระวัง ในขณะเดียวกันก็คิดจะเขียนอธิบายเรื่องน้ำขึ้นน้ำลง โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “Dialogue on the Ebb and Flow of the Sea” และระวังตัวไม่เผยแพร่ความคิดอ่านของโคเปอร์นิคัสในที่สาธารณะใดๆ เพราะรู้ดีว่าตนกำลังมีศัตรู ซึ่งล้วนเป็นผู้มีอำนาจหลายคน โดยบางคนได้พยายามทำลายชื่อเสียงของกาลิเลโออย่างจงใจ เช่น Christoph Scheiner ซึ่งเป็นนักบวชชาวเยอรมันได้อ้างว่าเห็นจุดบนดวงอาทิตย์ (sunspot) ก่อนกาลิเลโอเสียอีก และว่าจุดที่เห็น ล้วนเป็นภาพลวงตา แต่กาลิเลโอก็ยังยืนยันว่าดวงอาทิตย์มีมลทินจริง จึงกล่าวตำหนิ Scheiner ซึ่งทำให้ Scheiner รู้สึกเคียดแค้นมาก ด้านสาธุคุณ Orazio Grassi ซึ่งเคยเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมชาติของดาวหางในหนังสือชื่อ An Astronomical Disputation on the Three Comets of the Year 1618 ได้อ้างว่าดาวหางมีวงโคจรเป็นวงกลมรอบโลก และอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางเท่าเดิมเสมอ แต่อยู่ไกลจากโลกยิ่งกว่าดวงจันทร์ ความคิดของ Grassi ถูกกาลิเลโอโจมตีว่าเหลวไหล และดาวหางที่ Grassi เชื่อว่าเป็นดาวกาลกิณีนั้น แท้จริงไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อผู้คนบนโลก (กาลิเลโอไม่รู้ต้นกำเนิดของดาวหาง) การตอบโต้กับเหล่านักบวชอย่างรุนแรงเช่นนี้ ทำให้คนเหล่านั้นซึ่งเป็นที่เคารพของสังคมได้กลายเป็นศัตรูของกาลิเลโออย่างถาวร เมื่อกาลิเลโอย้ายมาทำงานที่เมืองฟลอเรนซ์ ซึ่งตั้งอยู่ในแคว้นทัสคานี ที่มีสันตะปาปาเป็นผู้ทรงปกครอง บรรดานักบวชที่เป็นศัตรูของกาลิเลโอจึงถือว่าเป็นโชคดีที่จะได้กำจัดกาลิเลโอ

เมื่อความกังวลว่าศาลศาสนาจะลงโทษตนมีมากขึ้นๆ กาลิเลโอจึงเขียนจดหมายถึง Grand Duchess Christina ผู้เป็นมารดาของท่านดยุคผู้อุปถัมภ์ตน และอธิบายให้ท่านดัชเชสเห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนา (จดหมายฉบับนี้ไม่ได้รับการตีพิมพ์จนกระทั่งปี 1636) ในเวลานั้นกาลิเลโอวัย 52 ปีได้ล้มป่วยด้วยโรคไขข้ออักเสบ และรู้สึกเจ็บหน้าอกในบางเวลา ดังนั้นเมื่อเดินทางออกจากโรม จึงฉวยโอกาสไปพักผ่อนชั่วคราวที่วิลล่า Le Selve ของ Filippo Salviati ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท ที่มีฐานะดี ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่วิลล่า Bellosquardo ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมือง Arcetri นัก ความกังวลใจทั้งหลายนี้ทำให้กาลิเลโอผลิตผลงานวิทยาศาสตร์ได้น้อยลงมาก แต่ก็ยังสนใจหาวิธีปรับปรุงประสิทธิภาพของกล้องโทรทรรศน์ และสนใจศึกษาปรากฏการณ์จันทรุปราคาของดาวพฤหัสบดี
จดหมายกาลิเลโอถึงสันตะปาปา
ในปี 1623 กาลิเลโอได้เขียนหนังสือเรื่อง Il Saggiatore (The Assayer) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีแสวงหาความรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นการสังเกต การตั้งสมมุติฐาน การทดลองเชิงปริมาณ และได้อุทิศหนังสือที่เขียนแก่สันตะปาปา Urban ที่ 8 ซึ่งมีพระนามเดิมว่า Cardinal Maffeo Barberini ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของตน Barberini จึงกราบทูลสันตะปาปา Paul ที่ 5 ไม่ให้ทรงประณามกาลิเลโอว่าเป็นคนอุตรินอกรีต

หลังจากสันตะปาปา Urban ที่ 8 ทรงครองตำแหน่งองค์ประมุขของคริสตจักรได้ไม่นาน พระองค์ทรงมีบัญชาให้กาลิเลโอเดินทางไปเข้าเฝ้าที่โรม และตรัสชื่นชมผลงานเรื่อง The Assayer กาลิเลโอจึงทูลว่าตนกำลังเขียนหนังสือเรื่องการเปรียบเทียบเอกภพของปโตเลมีกับของโคเปอร์นิคัส สันตะปาปาทรงเสนอแนะให้กาลิเลโอเขียนเนื้อหาอย่างเป็นกลางและต้องไม่ตำหนิไบเบิล ซึ่งจะทำให้พระองค์ทรงสามารถปกป้องกาลิเลโอไม่ให้ถูกสังคมประณามได้ และกาลิเลโอเองต้องไม่สนับสนุนโคเปอร์นิคัสอย่างออกหน้าออกตา เพราะกาลิเลโอยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเรื่องนี้อย่างสมบูรณ์

กาลิเลโอรู้สึกยินดีมากที่สันตะปาปาทรงไม่ขัดขวางเสรีภาพทางความคิดของนักวิทยาศาสตร์ และการแสดงออก จึงรีบเดินทางกลับฟลอเรนซ์และลงมือเขียนหนังสือที่ได้ใฝ่ฝันมานานเป็นภาษาอิตาลีเพื่อให้ประชาชนคนทั่วไปอ่านได้อย่างเข้าใจ ในปี 1632 หนังสือเรื่อง Dialogo sopra i due massimi sistemi del mondo(Dialogue Concerning the Two Chief World Systems) ก็เปิดตัวปรากฏในบรรณโลก โดยมีตัวละครสามคน คนแรกคือ Simplicio (Simplicus ในภาษาละตินแปลว่า “คนโง่”) ผู้ศรัทธาในคำสอนของอริสโตเติล ที่สันตะปาปา Urban ที่ 8 ทรงเชื่อ คนที่ 2 คือ Salviati ผู้ที่เชื่อคำสอนของโคเปอร์นิคัส และคนที่ 3 คือ Sagredo ซึ่งมีหน้าที่ตั้งคำถามต่างๆ ให้สองคนแรกตอบ และเป็นคนที่มีใจกว้าง แต่ในที่สุดก็ได้คล้อยตาม Salviati

เมื่อหนังสือ Dialogue ออกวางขาย สังคมชาวอิตาลีได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ความนิยมศรัทธาที่ประชาชนมีต่อกาลิเลโอทำให้บรรดาศัตรูของกาลิเลโอยิ่งโกรธแค้น จึงพากันลุกฮืออีกครั้งหนึ่ง และได้ยุยงสันตะปาปา Urban ที่ 8 ว่ากาลิเลโอเขียนเนื้อหาทำนองดูถูกและดูแคลนพระองค์มากว่าโง่ นอกจากนี้ก็ยังได้สนับสนุนความคิดของโคเปอร์นิคัสว่าถูกต้องอย่างโจ่งแจ้ง สันตะปาปาจึงทรงบัญชาให้กาลิเลโอเข้ามาชี้แจงและตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นคนนอกรีต

ในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1633 กาลิเลโอวัย 69 ปีเดินทางถึงโบสถ์ Convent of Minerva ในโรมเพื่อเข้าเฝ้าสันตะปาปา หลังจากได้ทูลขอพระเมตตาจากสันตะปาปาว่าให้ตนเดินทางไปถวายคำชี้แจงที่เมืองฟลอเรนซ์แทน เพราะกำลังป่วยและมีอายุมาก แต่สันตะปาปาทรงปฏิเสธคำขอ กาลิเลโอจึงต้องเดินทางไปโรมตามพระบัญชา และเข้าพักที่บ้านของทูตทัสคานีประจำกรุงวาติกัน

ตลอดเวลาที่อยู่ที่โรม กาลิเลโอรู้สึกหวาดหวั่นที่ต้องเผชิญหน้ากับบรรดาตุลาการศาลศาสนา แต่ก็หวังลึกๆ ว่าสันตะปาปาก็เป็นชาวเมืองฟลอเรนซ์ จึงเป็นคนบ้านเดียวกันกับตน อีกทั้งเป็นนักปรัชญาผู้มีความคิดว่าศาสนามีความสำคัญต่อทุกชีวิต และทรงเป็นเพื่อนเก่า จึงไม่น่าที่เพื่อนจะกระทำรุนแรงต่อเพื่อน หรือถ้าโชคดี สันตะปาปาอาจทรงสนับสนุนความเชื่อของตนก็ได้ ในเวลาเดียวกันองค์สันตะปาปาเองก็ทรงเชื่อว่ากาลิเลโอ ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าจะไม่จาบจ้วงศาสนาคริสต์ที่พระองค์ทรงเป็นประมุข แต่หนังสือ Dialogue ที่พระองค์ทรงอ่าน ทรงเห็นว่ากาลิเลโอได้ลำเอียงเข้าข้างโคเปอร์นิคัส ทั้งๆ Galileo ที่ได้เคยสัญญาว่าจะวางตัวเป็นกลาง กาลิเลโอจึงได้ทรยศต่อคำมั่นสัญญาเดิม และยังได้ทำให้พระองค์ทรงเป็นตัวตลกโง่ๆ ในบทของ Simplicio ด้วย

ในวันที่ศาลศาสนาพิพากษาตัดสิน กาลิเลโอเลือกสวมเสื้อป่านสีขาว ซึ่งเป็นการแต่งกายของคนที่สำนึกบาป ใบหน้าซีดเพราะกำลังป่วย และกลัวตายจนแข้งขาสั่น หลังจากที่ได้ฟังคำฟ้องว่าตนจงใจลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอย่างรุนแรง ในเบื้องต้นสันตะปาปาไม่ทรงดำริจะเอาผิดกับกาลิเลโอ แต่บรรดาศัตรูของกาลิเลโอได้เข้ามาเจรจาโน้มน้าวพระองค์ จนพระองค์ทรงเปลี่ยนพระทัย สันตะปาปาจึงทรงตัดสินห้ามกาลิเลโอเผยแพร่ความเชื่อที่ว่าโลกเคลื่อนที่ได้ และให้ยอมรับว่าข้อความที่เขียนในหนังสือ Dialogue นั้นขัดกับคำสอนที่มีในไบเบิล อีกทั้งยังบังคับให้กาลิเลโอยอมรับว่า ทั้งหลายทั้งปวงเป็นความคิดที่ผิด จากนั้นทรงให้ Galileo สาบานตนว่าจะไม่เขียน ไม่พูด และไม่สอนความเชื่อผิดๆ นี้อีกจนตลอดชีวิต และถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้ กาลิเลโอจะถูกขังคุกและจะถูกทรมานจนตายเหมือนจีออร์ดาโน บรูโน เมื่อ 33 ปีก่อน กาลิเลโอจึงจำใจลงนามให้คำมั่นสัญญาอย่างไม่เต็มปากเต็มคำ และถูกสันตะปาปาส่งไปกักบริเวณที่เมือง Siena ตามคำเชิญของอาร์คบิชอปแห่ง Siena

ขณะเดินออกจากห้องพิพากษา กาลิเลโอได้กล่าวพึมพำกับตัวเองว่า “Eppur si muove” ซึ่งแปลว่า “จะยังไงๆ โลกก็ยังเคลื่อนที่อยู่ดี”

กาลิเลโอรู้สึกว่าตนถูกกระทำอย่างรุนแรงเกินเหตุโดย “เพื่อน” เก่า ที่สั่งห้ามไม่ให้ทำงานวิชาการทุกชนิด เมื่อเดินทางถึง Siena กาลิเลโอได้รับการต้อนรับที่ดีจากอาร์คบิชอป Ascanio Piccolomini แต่ศัตรูของกาลิเลโอก็ยังไม่สะใจและไม่ยอมเลิกรา จึงระดมคนมาตะโกนประณามกาลิเลโอเวลาไปไหนมาไหน จนกาลิเลโอถึงกับร่ำไห้ และเดินไปมาเหมือนคนเสียสติ ยิ่งเมื่อรู้ในเวลาต่อมาว่าคำพิพากษาลงโทษตนได้ถูกนำออกเผยแพร่ไปทั่วยุโรปแล้ว กาลิเลโอจึงตัดสินใจขออนุญาตสันตะปาปาเดินทางกลับเมือง Arcetri เพราะจะได้อยู่ใกล้ที่พึ่งทางใจแหล่งสุดท้ายคือ Maria Celeste ผู้เป็นบุตรสาว สำหรับหนังสือ Dialogue นั้นได้ถูกสั่งห้ามเผยแพร่จนกระทั่งปี 1822 (หลังจากกาลิเลโอเสียชีวิตไปแล้ว 180 ปี)

การถูกกักบริเวณหมายความว่า เวลากาลิเลโอจะเดินทางไปที่ใดต้องขออนุญาตจากสันตะปาปาก่อน ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้รับอนุญาต และถ้าเดินออกนอกบริเวณกักขัง ก็อาจถูกฆ่าตายได้ เพราะเป็นคนนอกรีต ถึงสถานการณ์จะลำบากยากเย็นปานใด กาลิเลโอก็ยังคงทำงานวิทยาศาสตร์ต่อไปอย่างเงียบๆ

ในปี 1638 กาลิเลโอวัย 74 ปีได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ Discourse on two New Sciences เป็นการรวบรวมความคิดทางปรัชญาของวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะกลศาสตร์ที่ตนได้เคยทดลองเมื่อ 40 ปีก่อน อีกหนึ่งปีต่อมาก็ได้เขียนบทความเรื่องลักษณะการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ นี่คือผลงานดาราศาสตร์ชิ้นสุดท้ายของกาลิเลโอ เพราะขณะนั้นตาทั้งสองข้างเริ่มเป็นต้อหิน ทำให้เห็นไม่ชัด จึงต้องอยู่แต่ในบ้าน เมื่อตาใกล้บอดสนิท ศิษย์ของกาลิเลโอสองคนคือ Vincenzo Viviani กับ Evangelista Torricelli (ผู้ประดิษฐ์บารอมิเตอร์เป็นคนแรก) ได้ทำหน้าที่เลขานุการให้อาจารย์ ช่วยเขียนตามคำบอก และปรนนิบัติอาจารย์ ในช่วงเวลานี้กาลิเลโอมีอาคันตุกะต่างชาติมาเยี่ยมเยือนบ้าง เช่น John Milton กวีแห่งอังกฤษ ซึ่งเห็นอกเห็นใจกาลิเลโอมาก จนถึงกับกล่าวว่า อิสรภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่พยายามแสวงหาความรู้ และการบีบบังคับทุกรูปแบบคือการทำลายความพยายามนั้น

ในปี 1638 กาลิเลโอให้ศิษย์สองคนทดลองวัดความเร็วแสง โดยให้คนทั้งสองต่างยืนถือตะเกียงบนยอดเขาที่อยู่ห่างกัน เพราะรู้ว่า ถ้าให้คนแรกเปิดแสงจากตะเกียง แล้วอีกคนจับเวลา ทันทีที่เห็นแสงจากตะเกียงนั้น การรู้ระยะทางและเวลาจะทำให้รู้ความเร็วแสง และพบว่าไม่สามารถวัดเวลาที่เห็นแสงเดินทางได้

ตลอดเวลาที่ถูกกักบริเวณ กาลิเลโอรู้สึกเสมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก แต่ได้อาศัย Maria Celeste ส่งยามาให้กินยามป่วย ในยามที่กาลิเลโอรู้สึกเศร้าและนอนไม่หลับ Maria Celeste จะเขียนจดหมายมาปลอบโยนและให้กำลังใจ ซึ่งกาลิเลโอก็ตอบจดหมายทุกครั้งไป Maria Celeste รู้สึกสงสารบิดามากจนกล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้จะขออาสารับโทษแทนบิดา ในที่สุด Maria Celeste วัย 33 ปีก็เสียชีวิตด้วยโรคอหิวาต์ ซึ่งเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงในสมัยนั้น บรรดาแม่ชีร่วมสำนักจึงนำสมบัติส่วนตัวทุกชิ้นของเธอ รวมถึงจดหมายทุกฉบับที่กาลิเลโอเขียนถึงเธอไปเผา เพราะถือว่าเป็นจดหมายจากบุคคลต้องห้าม

ทันทีที่รู้ข่าวการเสียชีวิตของบุตรีสุดที่รัก กาลิเลโอวัย 77 ปียิ่งโศกเศร้าและทอดอาลัยยิ่งขึ้น แต่ยังทำงานวิทยาศาสตร์ต่อไป โดยเฉพาะการค้นคว้าด้านปรัชญาวิทยาศาสตร์ ซึ่งกาลิเลโอได้พยายามเน้นให้เห็นความสำคัญของการทดลองว่าเป็นเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินความจริงในธรรมชาติ และนี่คือหลักการที่นักวิทยาศาสตร์ยังยึดถือและใช้มาจนทุกวันนี้ และตลอดไปในอนาคต ในส่วนความสำคัญของวิชาคณิตศาสตร์ กาลิเลโอเชื่อมั่นว่า “เอกภพได้ถูกกำหนดให้ดำเนินไปตามหลักคณิตศาสตร์” ดังนั้นคนที่ไม่รู้คณิตศาสตร์ จะไม่มีวันเข้าใจเอกภพ สำหรับการค้นหาความรู้วิทยาศาสตร์ กาลิเลโอคิดว่าคนที่จะพบองค์ความรู้ใหม่ จะต้องเห็นอะไรที่แตกต่างจากของเดิม เพราะถ้าคิดเห็นเหมือนคนอื่นๆ ก็จะไม่มีวันพบอะไรใหม่ กาลิเลโอยังเชื่ออีกว่าฐานะ อำนาจ และอายุมิได้เป็นกฏเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินว่าใครรู้จริง

สุขภาพของกาลิเลโอเริ่มทรุดอย่างรวดเร็ว เพราะป่วยเป็นไส้เลื่อน และหัวใจเต้นจังหวะผิดปรกติ ในที่สุดตาทั้งสองข้างของบุรุษผู้เคยเห็นรายละเอียดต่างๆ บนสวรรค์เป็นคนแรกก็บอดสนิท กาลิเลโอเสียชีวิตในเวลากลางคืนของวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1642 สิริอายุ 78 ปี

อ่านเพิ่มเติมจาก Galileo: Watcher of the Skies โดย David Wootton จัดพิมพ์โดย Yale University Press ปี 2010

สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น