xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อมอารยธรรมสุวรรณภูมิด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดร.ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล พร้อมข้อมูลสารสนเทศอารยธรรมสุวรรณภูมิ
สุวรรณภูมิอยู่ตรงไหน? คำถามนี้ไม่ได้ถามถึงสนามบินของไทย หรืออำเภอใน จ.ร้อยเอ็ด แต่เป็นคำถามถึงดินแดนอารยธรรมโบราณที่เชื่อว่าอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าดินแดนดังกล่าวอยู่ที่ใด แต่ “จิสด้า” ได้ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อศึกษาแนวเขตดินแดนที่เคยรุ่งเรืองในอดีต

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ได้ดำเนินโครงการภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสาสนเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 โดยมีแนวคิดนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการศึกษา ร่วมกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ฐานข้อมูลประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับสุวรรณภูมิ ชายฝั่งทะเลโบราณ และยังวิเคราะห์เมืองสำคัญในแต่ละด้าน รวมทั้งวิเคราะห์บทบาทของสุวรรณภูมิเชื่อมโยงกับแหล่งอารยธรรมและการค้าโลก ซึ่งโครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการถึง พ.ศ.2562

ดร.ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ จิสด้า และอนุกรรมการและเลขานุการดำเนินโครงการภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวถึงแรงบันดาลในการดำเนินโครงการนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมานทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานนามสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเสมือนปักดินแดนในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าจากมรดกที่มีอยู่

“งานนี้จึงเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์” ดร.ศิริลักษณ์ระบุ

ภายใต้โครงการนี้จิสด้าได้จัดทำแพลตฟอร์ม “อารยธรรมสุวรรณภูมิด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” ที่สามารถแสดงตำแหน่งที่ตั้งเมืองโบราณ เส้นระดับน้ำทะเลโบราณ เส้นทางค้าขาย แม่น้ำสายหลัก และข้อมูลธรณีวิทยาของอ่าวไทยโบราณ เส้นทางค้าขาย แม่น้ำสายหลักและข้อมูลธรณีวิทยาของอ่าวไทยโบราณ และผู้ใช้งานยังเข้าถึงข้อมูลอารยธรรมโบราณในต่ละประเทศทั่วโลก โดยแพลตฟอร์มจะบอกถึงค่าพิกัด ลักษณะเด่นของอารยธรรม ประเภทของเมือง อาณาจักร ยุคสมัย หลักฐานที่ถูกค้นพบและลักษณะของหลักฐาน ซึ่งแต่ละตำแหน่งที่นำเข้าระบบนั้นมีแหล่งอ้างอิงหรือเอกสารหลักฐานและสามารถตรวจสอบได้

สำหรับดินแดนที่กลายเป็นจังหวัดสุพรรณในปัจจุบันของไทยนั้น นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมโบราณ โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีที่ถูกค้นพบนั้นมีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500-3,800 ปี และพบโบราณวัตถุทั้งจากยุคหินใหม่ ยุคหินสำริด ยุคเหล็ก และวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องมากตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สันนิษฐานได้ว่าเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรทวาราวดี และเป็นศูนย์กลางของดินแดนสุรรณภูมิ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นประวัติสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของชนชาติพันธุ์ต่างๆ ก่อนจะหลอมรวมเป็นชาติไทยในปัจจุบัน

ศิลปะวัฒนธรรมของดินแดนสุวรรณภูมิจากอาณาจักรทวาราวดียังคงถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสผ่านกิจกรรมหล่อเหรียญทวารวดีที่โรงหล่อวิเชียร ใน อ.อู่ทอง เหรียญดังกล่าวถูกค้นพบจากโบราณสถานของเมืองอู่ทอง และเหรียญนี้ยังเป็นโบราณวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างดินแดนสุวรรณภูมิกับอินเดีย ผ่านการค้าขายทางไกลทั้งทางบกและทางทะเล เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-16 ซึ่งใช้เหรียญเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างการค้า

กิจกรรมหล่อเหรียญทวารวดีของโรงหล่อวิเชียร ซึ่งมีกิจกรรมหลักเป็นการหล่อพระและรูปหล่ออื่นๆ นั้น สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองและคุณค่าของอารยธรรมสุวรรณภูมิในอู่ทอง 3 มิติ คือ มิติด้านศิลปะและวัฒนธรรม เนื่องจากเหรียญทวารวดีนั้นประกอบจากความเชื่อที่หลากหลาย โดยมีพุทธศาสนาเป็นแกนกลาง ผสมผสานความเชื่อเรื่องภูตผี เทวดา และชีวิตหลังความตาย โดยจะบรรจุเหรียญลงในโรงศพผู้ตายเพื่อให้นำติดตัวไปใช้ในโลกหน้า หรือใช้เหรียญทำพิธีบูชาเทวดา ฟ้าดิน

กิจกรรมหล่อเหรียญทวารวดียังสะท้อนคุณค่าในมิติด้านการค้าขาย พาณิชยการและบริการ เพราะเหรียญทวารวดีนั้นใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน แทนระบบแลกเปลี่ยนสิ่งของ และนักโบราณดียังพบว่าเหรียญทวารวดีบางส่วนยังนำไปใช้เป็นเครื่องหมายผ่านด่านหรือผ่านทาง คล้ายหนังสือเดินทางในปัจจุบัน และมิติสุดท้ายคือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิทยาการและการผลิต เนื่องจากกิจกรรมหล่อเหรียญดังกล่าวเป็นการรื้อฟื้นวัฒนธรรม ที่ส่งต่อคุณค่าทางวัฒนธรรมผ่านวิทยาการการผลิต

นอกจากคุณค่าใน 3 มิติที่ระบุไปแล้วนั้น อารยธรรมสุวรรณภูมินั้นยังมีคุณค่าในเชิงประจักษ์อีก 2 มิติ คือ มิติด้านภูมิศาสตร์กายภาพและทรัพยากร และมิติด้านการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของรัฐ ซึ่งศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำโบราณที่ อ.อู่ทองได้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจน รวมทั้งยังสะท้อนถึงคุณค่าในมิติด้านศิลปะวัฒนธรรมด้วย โดยชาวไตดำ หรือไทดำหรือลาวโซ่งนั้น เป็น 1 ใน 5 ชาติพันธุ์พื้นเมืองของอู่ทอง โดยชาติพันธุ์สำคัญอื่นๆ อีก ได้แก่ ไทยพื้นถิ่น ไทยจีน ไทยเวียง(ลาวเวียง) และลาวคลั่ง

มีหลักฐานว่าไทดำหรือไททรงดำนี้มีถิ่นกำเนิดที่ประทศลาวและเวียดนาม และด้วยพลพวงจากสงครามได้อพยพจากดินแดนสิบสองจุไท ระยะแรกตั้งถิ่นฐานที่เขาย้อย จ.เพชรบุรี จากนั้นได้ขยายถิ่นฐานออกไปเรื่อยๆ โดยพยายามอพยพขึ้นทางเหนือ โดยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวไทดำคือการแต่งกายสำดำที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน มีการทอผ้าซิ่นโบราณ มีสถาปัตยกรรมโดดเด่นเรียกว่า “เฮือนกระดองเต่า” ที่ดูคล้ายหลังเต่า และอาหารการกินเน้นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่หาได้ง่าย

หลังจากจัดทำฐานข้อมูล แผนที่เมืองสำคัญและวิเคราะห์คุณค่าเมืองสำคัญแล้ว ในปี พ.ศ.2562 ทางโครงการจะออกแบบยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ในด้านการีท่องเที่ยวเชิงวัฒนกรรมสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีเชิงพื้นที่ เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจในการพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และระบบวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาเมือง โดยใช้ฐานคุณค่าจากดินแดนสุวรรณภูมิเชื่อมโยงจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยคาดว่าจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการร่วมพันพัฒนากระบวนการและนวัตกรรมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค จนถึงระดับโลก

กิจกรรมหล่อเหรียญทวารวดีที่โรงหล่อวิเชียร


เหรียญทวารวดีที่โรงหล่อวิเชียร


เฮือนกระดองเต่าของชาวไทดำ
ชาวไทดำรวมตัวที่เฮือนกระดองเต่าเพื่อร่วมกิจกรรมของชุมชน
เฮือนกระดองเต่าที่มีหลังคาเป็นทรงกระดองเต่า


กำลังโหลดความคิดเห็น