xs
xsm
sm
md
lg

ชวนชม “ฝนดาวตกวันแม่” คืน 12 ส.ค.ไร้แสงจันทร์รบกวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ วันที่ 13 สิงหาคม 2558 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา (ที่มา มติพล ตั้งมติธรรม)
สดร.ชวนชม “ฝนดาวตกวันแม่” คืน 12 ส.ค. ถึงเช้า 13 ส.ค. เป็นคืนไร้แสงจันทร์รบกวน และหากฟ้าใสไร้ฝน สามารถรับชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนคนไทยลุ้นชมฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ หรือ “ฝนดาวตกวันแม่” หลังเที่ยงคืนวันที่ 12 สิงหาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 03.00 น. ถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คาดมีอัตราการตกสูงสุดที่ 110 ดวงต่อชั่วโมง พิเศษปีนี้ไร้แสงจันทร์รบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์ หากฟ้าใสไร้เมฆฝน ชมได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมเปิดหอดูดาวภูมิภาค ชมวัตถุท้องฟ้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ในคืนวันที่ 12-13 สิงหาคม 2561 นี้ จะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” หรือที่คนไทยมักเรียกว่า “ฝนดาวตกวันแม่” คาดว่าปีนี้มีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 110 ดวงต่อชั่วโมง มีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอัส สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 12 สิงหาคม 2561 เวลา 03.00 น. จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 13 สิงหาคม 2561

“คืนดังกล่าวยังตรงกับดวงจันทร์ขึ้น 1 ค่ำ ส่งผลให้ท้องฟ้าไร้แสงจันทร์รบกวน เหมาะสำหรับการสังเกตการณ์ฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง หากฟ้าใสปลอดเมฆ สามารถดูด้วยตาเปล่าได้ทุกพื้นที่ทั่วไทย และควรเลือกสถานที่ที่โล่งแจ้ง ท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากแสงไฟรบกวน จะสังเกตเห็นดาวตกที่มีความสว่างและสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจมาก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยสังเกตการณ์ใดๆ สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า การชมฝนดาวตกให้สบายที่สุดนั้น อาจใช้วิธีนอนรอชม หรือนั่งบนเก้าอี้ที่สามารถเอนนอนได้ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในประเทศแถบซีกโลกเหนือ เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวเป็นช่วงฤดูร้อน ส่วนในประเทศไทยตรงกับช่วงฤดูฝน จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสังเกตการณ์” นายศุภฤกษ์ระบุ

ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจรเมื่อ 20 ปีก่อน เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้ เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ มีสีสันสวยงาม สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม - 24 สิงหาคมของทุกปี โดยในช่วงประมาณวันที่ 12 - 13 สิงหาคม จะเป็นช่วงที่เกิดฝนดาวตกมากที่สุด ชาวไทยนิยมเรียกฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ว่า “ฝนดาวตกวันแม่” เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 และวันแม่แห่งชาติ

สำหรับผู้สนใจถ่ายภาพฝนดาวตก นายศุภฤกษ์แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ตามดาว และเลือกวิธีถ่ายภาพแบบต่อเนื่องหลายชั่วโมง เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์การกระจายตัวของดาวตกได้ นอกจากนี้ ควรใช้เลนส์มุมกว้าง ตั้งค่าความไวแสงสูง และเปิดรูรับแสงกว้างสุด เพื่อให้กล้องเก็บเส้นแสงของดาวตกได้ดีที่สุด นอกจากนี้ศูนย์กลางการกระจายอยู่ใกล้กับแนวทางช้างเผือก และวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก อาทิ กระจุกดาวคู่ และกาแล็กซีแอนโดรเมดา จึงเป็นคืนพิเศษสำหรับผู้ชื่นชอบถ่ายภาพดาราศาสตร์อีกด้วย

นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้ายว่า เนื่องจากในช่วงนี้พื้นประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงฤดูฝน จึงต้องลุ้นกับสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ยกเว้นบริเวณภาคใต้ตอนล่างซึ่งฝนตกค่อนข้างน้อย จึงนับเป็นโอกาสดีสำหรับของชาวใต้ที่จะได้ชื่นชมความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น สำหรับสังเกตการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์นั้นต้องรอถึงช่วงหลังเที่ยงคืน

อย่างไรก็ตามในช่วงหัวค่ำยังมีดาวเคราะห์ที่น่าสนใจให้ชมกันมากมาย ทั้งดาวศุกร์ที่สุกสว่างทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ ดาวอังคารสีส้มแดงสว่างชัดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงอยู่ในช่วงใกล้โลก ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดี สดร.จึงจัดกิจกรรมพิเศษในช่วงค่ำให้คนไทยชมวัตถุท้องฟ้าอย่างเต็มอิ่ม เพื่อรอชมฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ในคืนวันที่ 12 สิงหาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 18:00 – 24:00 น. ดังนี้

1) นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา โทร. 086-4291489

2) ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา โทร. 084-0882264

3) สงขลา : ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จ.สงขลา โทร. 095-1450411

เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ดูรายละเอียดเพิ่มเติม www.facebook.com/NARITpage
ภาพโลกโคจรเข้าไปในสายธารของสะเก็ดดาวที่ดาวหางสวิฟต์- ทัตเทิล ได้เหลือทิ้งไว้ หลังจากที่มาเยือนระบบสุริยะชั้นใน (ที่มา www.areavoices.com)
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์


กำลังโหลดความคิดเห็น