xs
xsm
sm
md
lg

วันนั้น

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


ด้วยความตื่นเต้นดวงตาจึงไม่ได้ปิดสนิทตั้งแต่เมื่อคืนวานจนกระทั่งประตูรถเปิดในเช้าของอีกวันหนึ่ง สมาชิกผู้ร่วมเดินทางทยอยลงจากพาหนะตามกันออกมาภายนอก สัมผัสแรกคืออุณภูมิรอบกายต่ำลดลงเย็นผิวผุดคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศในรถตู้ขึ้นมาในความคิด นั่นเป็นเพียงเรื่องเบาหวิวเมื่อสัมผัสที่แตกต่างอย่างมากจนสร้างความประหลาดฉงนใจล้นเหลือคือ ความรู้สึกปรอดโปร่งโล่งสบายสดชื่นจากอากาศที่ถูกสูดเข้าสู่ปอด จนอดคิดไม่ได้ว่าสิ่งที่เราเรียกว่าอากาศและหายใจอยู่ทุกวันกลางเมืองหลวงนั้นช่วยให้เรามีชีวิตหรือกำลังบั่นทอนอย่างช้าๆ

ก่อนที่ความเครียดจะครอบงำ ความเขียวชอุ่มของทัศนวิสัยรอบกาย แสงแดดอ่อนยามเช้า เสียงนกร้องดังจากรอบทิศ ทำให้ความเศร้าใจจากคำถามเหล่านั้นจางหายไปจากมโนคติ

“นั่น receptionist ประจำป่า” เสียงรุ่นพี่ที่นำพาพวกเรามายังสถานที่แห่งนี้เอ่ยขึ้น ความงุนงงที่แสดงออกบนใบหน้าของสมาชิกคงทำให้รุ่นพี่ตัดสินใจเอ่ยต่อ “นกปรอดเหลืองหัวจุกน่ะ” เสียงอ๋อเซ็งแซ่ขึ้นตามมาในทันใด “สังเกตแถวคอมัน กลุ่มที่อาศัยอยู่แถบภาคตะวันออกจะมีขนบริเวณคางและคอสีแดง ถ้าพื้นที่อื่นขนมันจะมีสีดำ” ความรู้ถูกเพิ่มเสริมเข้ามา เด็กน้อยหลายคนยืนฟังตาใส อีกหลายคนคว้ากล้องส่องทางไกลแบบสองตาส่องหามองและสังเกตตาม เวลาผ่านไปครู่ใหญ่ก่อนสมาชิกจะเคลื่อนกลับเข้ายานพาหนะเพื่อเดินทางไปยังเป้าหมายต่อไป แน่นอนว่าเครื่องปรับอากาศไม่ได้ถูกเปิดใช้งานเพราะกระจกหน้าต่างที่เปิดได้ทุกบานไม่ได้ถูกปิด

การแวะจอดส่องมองนกและสัตว์ป่าตลอดทางไม่ได้สร้างความเหนื่อยหน่ายใจในจุดหมายที่ยังอยู่อีกไกลเลยแม้แต่น้อย กลับสนุกสนาน ได้ความรู้ และเกร็ดเทคนิคเพิ่มเติมที่หาไม่ได้จากห้องเรียนเสียอีก ไม่ว่าจะเป็น นกตะขาบทุ่งที่คำว่าขาบมาจากสีน้ำเงินบริเวณขนปีกและชื่อ Indian roller ของมันมาจากพฤติกรรมการบินผาดโผนระหว่างการเกี้ยวพาราศี ความแตกต่างระหว่างเสียงนกกกกับนกแก๊กซึ่งเมื่อได้ยินแล้วสามารถจำแนกชนิดได้โดยไม่ต้องพบเห็นตัว และอื่น ๆ อีกมากตลอดเส้นทาง

พาหนะเดินทางนำพาทุกคนมาหยุดอยู่ริมถนน สายลมเข้าขั้นหนาวพุ่งเข้าปะทะผิว ละอองความชื้นในอากาศยิ่งทำให้ความรู้สึกยะเยือกสะท้านไปทั่วร่างเมื่อก้าวออกนอกตัวรถ ครั้งแรกในชีวิตของเด็กน้อยจากจังหวัดที่ราบต่ำติดทะเลเพิ่งเคยได้มาเยือนสัมผัสอย่างถึงใจ ณ ผืนป่าบนความสูงกว่า 1000 เมตร “มันเป็นอย่างนี้เอง” ผมพึมพำหลงไหลรักสภาพอากาศแบบนี้ในทันที

สมาชิกเดินตามรุ่นพี่ผู้ซึ่งนำทางเข้าไปสู่ป่าผ่านช่องเปิดเล็กๆ ข้างทาง เมื่อเดินเข้าไปแล้วทางด้านในเริ่มกว้างขึ้นเล็กน้อยแต่ก็เพียงแค่เดินเรียงเป็นตอนเดี่ยวตามกันไป ร่องทางเดินที่ไม่น่าจะเป็นร่องทางสัญจรของคนผ่านเข้าไปยังพื้นที่รกทึบสลับกับห้วยเล็กน้ำใสไหลริน ถ้าเป็นผืนป่าด้านล่างคงได้วักน้ำมาล้างหน้าล้างตาแต่จากสภาพอากาศขณะนี้คงไม่มีใครประสงค์จะทำเช่นนั้น ลักษณะของต้นไม้รอบตัวดูแปลกตาไปจากป่าผืนล่างที่ผ่านมา มอส ตะไคร่ ขึ้นอยู่ตามลำต้นของต้นไม้เรือนยอดหนาทึบแสงสอดส่องลงมาได้ไม่มากนัก ชนิดนกที่แปลกตาต่างออกไป เช่นนี้เอง ความรู้สึกแบบนี้เองที่เรีกว่า ป่าดิบเขา ชนิดป่าประเภทหนึ่งที่เคยได้ยินอาจารย์บรรยายให้ฟังในชั้นเรียน

ทางเดินเริ่มพามุ่งหน้าเข้าไปหาแสงสว่างจนกระทั่งสมาชิกทุกคนออกมายืนเรียงหน้าให้ลมเย็นพัดกระหน่ำใส่ที่หน้าผาเปิดโล่ง เสียงอุทานปรีดีในความงามของภูเขา หน้าผา ผืนป่า และบรรยากาศ ถูกกลบเงียบด้วยคำพูดเบา ๆ สามพยางค์ก่อนหายจางไปกับสายลม “ผาเดียวดาย”

“ไป ลงจากเขาใหญ่กันดีกว่า ต้องไปธุระกันต่อ” เสียงพูดดึงผมสติกลับมายังปัจจุบัน

“ครับพี่” ผมตอบกลับพร้อมเหลียวมองไปยังหน้าผา “แล้วจะแวะเวียนมาเยี่ยมหาใหม่” ผมนึกเอ่ยลาสถานที่ในใจก่อนออกเดินตามรุ่นพี่ออกไปยังลานจอดรถ

เหตุการณ์ในวันนั้น ณ สถานที่แห่งเดียวกันนี้ เวลาหมุนเดินมาเกือบ 20 ปี สภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลง อายุเพิ่มขึ้น ประสบการณ์มากขึ้น สังขารถดถอยลง หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและตัวเราไม่สามารถหยุดรั้งทุกอย่างเอาไว้ให้เฉกเช่นเดิมได้

แต่ความสุขในใจผมไม่ได้ลดลงเลยเมื่อได้เดินตามหลังคนคนเดียวกันนี้ คนเดิม

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ


"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"



พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น