xs
xsm
sm
md
lg

(ดอก)แรก เสือดำก็คือเสือดาว

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


(ดอก)แรก
“เคยเห็นเสือดำไหม” บทสนทนาเริ่มต้นด้วยคำถาม

“เคยครับ” ผมตอบ “แต่เจอแบบบังเอิญประเดี๋ยวประดาวแล้วก็หลบกันไปน่ะครับ ไม่อย่างนั้นก็เห็นกันลิบๆ” ภาพจำบางส่วนผุดโผล่เล็ดลอดออกมาในความคิดข้างใน

“เป็นไงบ้างตอนที่เจอน่ะ” ความต่อเนื่องของคำถามส่งความคิดผมย้อนกลับไปยังครั้งก่อน สมัยยังเป็นนิสิตฝึกงานอยู่ที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี

ความทรงจำ ณ เวลานั้นเท่าที่ยังระลึกได้ คือการไปฝึกงานการเก็บข้อมูลวิจัยสัตว์ป่าโดยถูกมอบหมายให้ช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยในกลุ่มชะมดและอีเห็น ตามเส้นทางถนนลูกรังระหว่างสำนักงานเขตฯ และสถานีวิจัยฯ การเก็บข้อมูลจะเป็นการบันทึกรอยตีน รายละเอียดและวัดขนาดรอยตีนในมุมต่างๆ พร้อมทั้งตรวจหาพรรณไม้ที่เป็นอาหารจากเมล็ดของผลไม้ที่หลงเหลืออยู่ในกองขี้ที่เก็บนำมา ช่วงเวลาการเก็บข้อมูลเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ในแต่ละวัน มีพาหนะเป็นรถมอเตอร์ไซต์โดยรุ่นพี่ผู้รับผิดชอบโครงการเป็นคนขี่และผมนั่งซ้อนท้ายคอยมองหาร่องรอยเป้าหมายไปตามทางที่ขี่ผ่าน

จำไม่ได้แล้วว่าเป็นเช้าวันที่เท่าไหร่ในการฝึกงานครั้งนั้น แต่เช้าวันนั้นดวงอาทิตย์สาดแสงระอุแดดแรงมากกว่าวันก่อนๆ การตรวจหาร่องรอยของชะมดและอีเห็นเป็นไปตามปกติทุกวัน เว้นเพียงแต่รอยตีนสัตว์ชนิดหนึ่งที่แตกต่างออกไป ความที่ยังด้อยประสบการณ์ทำให้ผมไม่รู้เลยว่ารอยตีนนี้เป็นของตัวอะไร จากการคาดเดาลักษณะของร่องรอย รอยตีนนี้เป็นรอยตีนของสัตว์กลุ่มแมวอย่างแน่นอนแต่ขนาดของมันใหญ่กว่ารอยตีนแมวทั่วไปอย่างเทียบไม่ติด

“รอยตีนเสือตัวไหนน่ะครับพี่” ผมถาม

“เสือดาวน่ะ ขนาดรอยตีนกับระยะห่างระหว่างรอยตีนพอจะบอกได้” รุ่นพี่ตอบพร้อมรายละเอียดปลีกย่อยก่อนคำถามสำหรับคำตอบเดียวกันนี้จะไหลออกจากปากของผม “แล้วโน่น เจ้าของรอยตีนเดินสะบัดหางอยู่ตรงโน้นน่ะ” ผมหันขวับไปมองตามทิศทางการชี้อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด่านทางสัตว์ข้างถนนลูกรังมุ่งหน้าเข้าป่าโปร่ง กล้องสองตาในมือถูกยกขึ้นมาทันทีเมื่อเป้าหมายถูกระบุตำแหน่งเนื่องจากสิ่งกีดขวางสายตามีไม่มากนัก

ปลายหางม้วนยกขึ้นเล็กน้อยแกว่งไปมา ลายดอกดวงสีเข้มบนพื้นขนสีเหลืองของบั้นท้ายช่างชัดเจน แม้จะอยู่ไกลออกไป แต่นี่คือครั้งแรกที่ได้พบเห็นตัวเป็นๆ จริงๆ โดยไม่มีสิ่งใดขวางกั้นนอกจากอากาศบริสุทธิ์ ทันใดนั้นเจ้าลายดอกก็หันหัววกกลับมายังทิศซึ่งผมยืนอยู่ การมองผ่านกล้องสองตายิ่งทำให้ความรู้สึกใกล้กว่าความเป็นจริง “เหมือนจ้องตากันอยู่เลย” ผมคิดขึ้นในใจที่กำลังเต้นระรัวบีบตัวดังตูมตามตื่นเต้นอยู่ในอก ความรู้สึกชื่นใจยินดีและเสียวซ่านกลางหลังปะปนระคนกันมั่วไปหมด กระทั่งเจ้าลายดอกตัวนั้นหาวกว้างยืดลิ้นยาวแล้วออกเดินต่อ เปลี่ยนความรู้สึกของผมให้เหมือนกำลังส่องกล้องมองดูเจ้าแมวขี้เกียจตัวหนึ่งแทน เพียงแต่เป็นแมวขนาดเขื่องตัวใหญ่เท่านั้นผมมองตามบั้นท้ายของมันไปจนกระทั่งมันเคลื่อนเยื้องย่างลับตาหายไปในผืนป่าใหญ่ที่มีภูเขาสลับซับซ้อนเป็นฉากหลัง

รอยยิ้มบนใบหน้าตอนนั้นไม่รู้ว่ามาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่กว่าจะหายไปก็เลยครึ่งค่อยวันอันนี้ที่รู้ตัว

“นั่นมันเสือดาวแล้วเสือดำล่ะ” เจ้าของคำถามแรกคัดค้านหลังจากเรื่องถูกเล่าจบแบบย่นย่อ

“ชนิดเดียวกันครับ เสือดำนี่ก็คือเสือดาวนี่แหล่ะ ถ้าลองเพ่งมองดูเสือดำก็มีลายดอกดวงเหมือนกันแต่มองเห็นยากกว่าและสีขนที่เป็นพื้นก็มีสีเข้มดำกว่า ถ้าเรื่องเสืดดำจริงๆ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังทีหลัง” ผมตอบ “เคยมีกล้องดักถ่ายภาพได้ภาพเสือดาวและเสือดำเดินคู่กันด้วยนะครับ” ผมเสริมและเริ่มมองภาพบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นกับสังคมตั้งแต่อดีต

ข้อมูลความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ในประเทศไทยจะว่าน้อยคงไม่ใช่ การศึกษาวิจัยเกิดขึ้นมาก ข้อมูลเกี่ยวกับชนิดสัตว์ แบบชีวประวัติ ถิ่นอาศัย ความหนาแน่น การแพร่กระจาย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ชนิดต่างๆ และกับระบบนิเวศก็มีการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ก็คงมีแต่พวกเราด้วยกันเอง โดยเฉพาะกลุ่มซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงไม่ได้สนใส่ใจนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับให้เหมาะกับสังคมและสอดแทรกเรื่องราวเหล่านี้ให้อยู่ในหลักสูตร “การศึกษาเบื้องต้น” เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความตระหนัก ความหวงแหน หลอมรวมเป็นความรักที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นของส่วนรวมอย่างจริงจังตั้งแต่วัยเด็ก และเหมารวมเรียกงานศึกษาวิจัยเหล่านั้นว่า “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” จนทำให้ปัจจุบันเกิดปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในแทบจะทุกมิติที่มนุษย์มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง

ผมว่ามันเป็น ความย้อนแย้งอันน่าขบขัน เสียจริง

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ


"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"



พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น