xs
xsm
sm
md
lg

สดร.อวดภาพ “ทางช้างเผือกใต้แสงจันทร์” สุดอลังหลังทำโครงการลดมลภาวะแสง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สดร.เผยสุดอลัง “ทางช้างเผือกใต้แสงจันทร์” เหนือฟ้าดอยอินทนนท์ ระบุท้องฟ้าใส่เคลียร์มากขึ้นหลังจับมือ กฟผ.ทำโครงการลดมลภาวะทางแสง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพ “ทางช้างเผือกใต้แสงจันทร์” ช่วงต้นกุมภาพันธ์ เห็นใจกลางทางช้างเผือกสว่างชัดแม้แสงจันทร์รบกวน ชี้ชัดท้องฟ้าใสเคลียร์มากขึ้น หลังจับมือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดินหน้าโครงการลดมลภาวะทางแสงที่ดอยอินทนนท์

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ภาพนี้บันทึกในช่วงเช้ามืด วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 เวลาประมาณ 05:00 น. ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น มีดวงจันทร์แรม 10 ค่ำ ส่องแสงสว่างจ้าทางทิศตะวันออก เหนือบริเวณทางช้างเผือก ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีดาวพฤหัสบดี ดาวอังคาร และดาวเสาร์ปรากฏอยู่ใกล้กับทางช้างเผือกอีกด้วย จะสังเกตเห็นว่าแม้มีแสงจันทร์รบกวน แต่ทางช้างเผือกยังปรากฏชัดเจนมาก บอกได้ถึงระดับความมืดและความใสเคลียร์ของท้องฟ้า

“ชี้ให้เห็นว่าสภาพท้องฟ้าบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ มีความมืดในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก สามารถผลักดันสู่การเปลี่ยนดอยอินทนนท์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้การรับรองให้เป็นเขตอนุรักษ์ฟ้ามืดสากล (Dark Sky Certification) จากสมาคมอนุรักษ์ฟ้ามืดสากล (International Dark-Sky Association หรือ IDA) องค์กรระหว่างประเทศที่สร้างมาตรฐานท้องฟ้ามืดมิดจนเข้าถึงความงดงามของธรรมชาติ และหากได้การรับรองนี้ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวยิ่งขึ้นไปอีก”

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ สดร. ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และภาคี ดำเนินโครงการลดมลภาวะทางแสงในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ บริเวณแปลงปลูกดอกเบญจมาศ เขตพื้นที่บ้านขุนกลาง เปลี่ยนหลอดไฟให้เหมาะสมและสามารถบังคับทิศทางของแสงไม่ให้กระเจิงขึ้นฟ้า สร้างความตระหนักในการประหยัดพลังงานและพัฒนาการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่างในเขตชุมชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ผลักดันให้อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เป็นพื้นที่แรกของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการมลภาวะทางแสง ขยายผลสู่การเป็นเขตอนุรักษ์ฟ้ามืดสากล เพื่อประโยชน์ต่อระบบนิเวศ การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไปในอนาคต

สำหรับผู้ที่สนใจการถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือก ช่วงต้นปีนี้สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงเวลาตี 4.30 เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อย แนวทางช้างเผือกจะโผล่พ้นขอบฟ้าในแนวขนานกับขอบฟ้า บริเวณใกล้กับกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู หากผู้เริ่มต้นถ่ายภาพ ขอแนะนำเริ่มถ่ายภาพตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 นี้เป็นต้นไป นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย


ติดตามข้อมูลการถ่ายภาพทางช้างเผือกเพิ่มเติมที่ http://www.narit.or.th/index.php/pr-news/3504-narit-milky-way-2018


กำลังโหลดความคิดเห็น