xs
xsm
sm
md
lg

ชวนถ่ายภาพปรากฏการณ์ Super Full Moon 3 ธ.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่าย Super Full Moon คืนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559  (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 300/4L IS USM + Extender EF 2X / Focal length : 600 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 1250 / Exposure : 1/8sec)
ในคืนวันที่ 3 ธันวาคม 2560 นี้จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก หรือที่มักเรียกกันว่า Super Full Moon นั่นเอง ในวันดังกล่าวดวงจันทร์จะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลก ที่ระยะห่าง 357,973 กิโลเมตร ทำให้ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงจันทร์เต็มดวงปกติ ประมาณ 6.3 เปอร์เซนต์ สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 17.50 น. โดยประมาณ ทางทิศตะวันออกเป็นต้นไป

มาทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์กันหน่อย

Super Full Moon หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงในตำแหน่งใกล้โลก ที่ทำให้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ สำหรับช่วงปกตินั้นดวงจันทร์จะมีระยะห่างเฉลี่ย 382,000 กิโลเมตร โดยเราให้คำกำจัดความของคำว่า Super Moon นั้นเมื่อดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 360,000 กิโลเมตรลงมา และ Micro Moon หรือดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เมื่อดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 400,000 กิโลเมตรขึ้นไป

ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

จากการเก็บข้อมูลของนักดาราศาสตร์พบว่าการเกิดปรากฏการณ์ Super Full Moon นั้นจะเกิดขึ้นทุกๆ ดวงจันทร์เต็มดวง 14 ครั้ง หรือประมาณ 411.8 วัน

หมายเหตุ : สำหรับปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก Super Full Moon ในวันที่ 3 ธันวาคม 2560 นี้ นักดาราศาสตร์อาจจะยังไม่ประชาสัมพันธ์ข่าวนี้มากนัก เนื่องมาจากปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลก ตามคำกำจัดความของคำว่า Super Moon คือเมื่อดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 360,000 กิโลเมตรลงมา นั่นเอง

“อย่างไรก็ตามช่วงวันที่ 3 ธันวาคม 2560 นั้น ระยะห่างของดวงจันทร์เต็มดวง ยังไม่ใช้ช่วงที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี”

การเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงเข้าใกล้โลกมากที่สุด” จะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 2 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุด และครบรอบของการเกิดปรากฏการณ์ Super Full Moon นั่นเอง
ภาพถ่ายเปรียบเทียบขนาดปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงช่วงอยู่ไกลโลกที่สุด (Micro Moon) ช่วงเวลาปกติ (Average Moon)  และช่วงเต็มดวงใกล้โลกที่สุด (Super Full Moon)
ไอเดียการถ่ายภาพ

สำหรับไอเดียการถ่ายภาพนั้น ก็มีหลายรูปแบบครับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของแต่ละคน หากให้ผมแนะนำหล่ะก็ ผมก็อยากแนะนำการถ่ายภาพ Super Full Moon เปรียบเทียบกับวัตถุที่ขอบฟ้า น่าจะเป็นภาพที่ทำให้น่าตื่นตามากที่สุดครับ โดยในคอลัมน์นี้ขอยกตัวอย่างรูปแบบการถ่ายภาพดังนี้ครับ

- ถ่ายภาพ “Moon Illusion”
ภาพถ่าย Super Full Moon ในรูปแบบ Moon Illusion ของคืนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559  (ภาพโดย : ธนกฤต  สันติคุณาภรต์ / Camera : Nikon D800 / Lens : Takahashi TOA 150 / Focal length : 1100 mm. / Aperture : f/7.3 / ISO : 1000 / Exposure : 1/1000sec)
สำหรับการถ่ายภาพ Moon Illusion หรือภาพลวงตานั้น ก็คือการถ่ายภาพดวงจันทร์ในบริเวณที่อยู่ใกล้กับขอบฟ้า หรือใกล้กับวัตถุ ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ คน อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยสิ่งสำคัญคือการหาสถานที่และทิศทางที่จะสามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์ขึ้นทางทิศตะวันออก หรือตกทางทิศตะวันตกได้ชัดเจนครับ
***(สำหรับรายละเอียดการถ่ายภาพอ่านต่อตามลิงก์ https://goo.gl/6XvYNg และ https://goo.gl/CSxH2B)

- ถ่ายภาพเปรียบเทียบขนาดกับช่วงที่ดวงจันทร์ในช่วงไมโครมูน (Micro Moon)
ภาพเปรียบเทียบขนาดปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี 2559
หากใครที่ได้ถ่ายภาพปรากฏการณ์ดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุดในรอบปีไว้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ก็สามารถถ่ายภาพดวงจันทร์ใกล้โลก Super Full Moon เพื่อนำมาเปรียบเทียบขนาดกันได้ ดังเช่นภาพข้างต้น โดยสิ่งสำคัญของการถ่ายภาพรูปแบบนี้คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพต้องเป็นอุปกรณ์แบบเดียวกัน

อุปกรณ์ที่จำเป็น
1. กล้องถ่ายภาพดิจิตอลที่ใช้ร่วมกับเลนส์เทเลโฟโต้ เพื่อให้ได้ความยาวโฟกัสสูงๆ จะเหมาะสมที่สุด
ตัวอย่างกล้องถ่ายภาพที่ใช้ร่วมกับเลนส์ Telephoto Canon EF 70-200/2.8L IS II USM ต่อร่วมกับ Extender EF 2X เพื่อให้มีความยาวโฟกัสสูงๆ
2. ขาตั้งกล้องที่มั่นคงและแข็งแรง เนื่องจากการถ่ายภาพด้วยเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสูงๆ จะสั่นไหวง่าย
3. การใช้ฟิลเตอร์แบบครึ่งซีก เพื่อลดแสงของดวงจันทร์ลงทำให้ได้รายละเอียดของฉากหน้าที่ดีขึ้นครับ
ฟิลเตอร์ครึ่งซีกที่นำมาใช้ในการลดแสงดวงจันทร์ขณะถ่ายภาพปรากการณ์
เทคนิคการถ่ายภาพ
สำหรับเทคนิคการถ่ายาภาพดวงจันทร์นั้น แค่เพียงโฟกัสที่ผิวของดวงจันทร์แล้วก็ทดลองถ่ายภาพและปรับชดเชยแสงไม่ให้โอเวอร์หรือสว่างมากไปเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช้เรื่องยากสำหรับนักถ่ายภาพทั้งมือใหม่และมืออาชีพ โดยจะขอแนะนำหลักการเบื้องต้น ดังนี้

1. เลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 300 mm. ขึ้นไปเพื่อให้ๆ ได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่

2. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 200-400 ซึ่งดวงจันทร์ในช่วงเต็มดวงจะมีความเข้มแสงมากอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ความไวแสงสูงๆ

3. การปรับโฟกัสภาพ ควรใช้ระบบ Live view ที่จอหลังกล้อง เพื่อช่วยให้การปรับโฟกัสได้คมชัดมากที่สุด นอกจากนั้นในการใช้ Live view ยังทำให้กล้องยกกระจกสะท้อนภาพขึ้น ทำให้สามารถลดการสั่นไหวขณะถ่ายภาพได้อีกด้วย รวมทั้งสามารถดูความสว่างของดวงจันทร์จากการปรับค่าได้อีกด้วย
ตัวอย่างการโฟกัสภาพดวงจันทร์ด้วยช่องมองภาพหลังกล้อง Live View
4. ใช้โหมดการถ่ายภาพแบบแมนนวล M ซึ่งในการถ่ายภาพด้วยโหมด M เราสามารถปรับตั้งค่าทั้งรูรับแสง และความเร็วชัตเตอร์ ได้สะดวก

5. ความเร็วชัตเตอร์ ควรสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากเราใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 mm ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600s ซึ่งหากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไปก็ให้ปรับค่าความไวแสง (ISO) เพิ่มขึ้นจนได้แสงที่พอดี

6. รูรับแสง อาจใช้ค่ารูรับแสงประมาณ f/4.0 – f/8.0 เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งภาพ

7. ปิดระบบกันสั่นของเลนส์

8. ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง

9.ใช้สายลั่นชัตเตอร์ในการถ่ายภาพและตั้งบนขาตั้งกล้องที่มั่นคงเพื่อลดการสั่นไหวของตัวกล้อง

10. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format ความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง

เกร็ดความรู้การถ่ายภาพดวงจันทร์ให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่ใหญ่โตที่สุด
จากภาพตัวอย่างแสดงตำแหน่งของผู้สังเกตบนโลกในการเห็นดวงจันทร์ในช่วงเวลาต่างๆ จะเห็นได้ชัดเจนว่า จริงๆ แล้วในช่วงหัวค่ำตำแหน่งผู้สังเกตบนโลก จะห่างจากตำแหน่งของดวงจันทร์มากกว่าในช่วงเที่ยงคืน
วิธีการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่ใหญ่โตที่สุด และมีความใสเคลียร์ของภาพมากที่สุด พอสรุปได้ดังนี้

1. ถ่ายดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงเที่ยงคืน เนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งใกล้ผู้สังเกตบนโลก ในช่วงคืนคืนนั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักการของการหมุนรอบตัวเองของโลก ที่ทำให้ตำแหน่งของผู้สังเกตในช่วงเวลาต่างๆ มีระยะห่างจากดวงจันทร์ที่แตกต่างกันนั่นเอง ดังที่เสนอในแผนภาพข้างต้น

2. ถ่ายดวงจันทร์ในช่วงที่อยู่ในตำแหน่งกลางศีรษะ ณ ตำแหน่งที่ดวงจันทร์อยู่ในมุมที่สูงที่สุดนี้ จะทำให้ภาพดวงจันทร์ที่ใสเคลียร์มากที่สุด เนื่องจากอยู่สูงจากมวลอากาศบริเวณขอบฟ้าและพวกฟ้าหลัวต่างๆ ที่อาจทำให้ภาพไม่ใสเคลียร์ได้ รวมทั้งตำแหน่งกลางท้องฟ้าจะเป็นบริเวณที่มีทัศนวิสัยท้องฟ้าดีที่สุดนั่นเอง

ตรวจสอบระยะห่างของดวงจันทร์ด้วยโปรแกรม Stellarium

ในการตรวจสอบระยะห่างของดวงจันทร์ในแต่ละช่วงเวลานั้น เราสามารถใช้โปรแกรม Stellarium ในการเช็คระยะทางได้เช่นกัน จะพบว่าระยะห่างของดวงจันทร์ในช่วงหัวค่ำนั้นไกลกว่าช่วงเวลาเที่ยงคืน ซึ่งตรงกับหลักการของการหมุนรอบตัวเองของโลก ที่ทำให้ตำแหน่งของผู้สังเกตในช่วงเวลาต่างๆ มีระยะห่างจากดวงจันทร์ที่แตกต่างกันนั่นเอง
ตัวอย่างภาพเปรียบเทียบดวงจันทร์เต็มดวงของวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ในช่วงเวลา 20:00 น. เทียบขนาดกับในช่วงเวลา 00:00 น.

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน

กำลังโหลดความคิดเห็น