xs
xsm
sm
md
lg

ยืนยันการมาเยือนของ “ดาวเคราะห์น้อย” นอกระบบสุริยะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ภาพจำลองดาวเคราะห์น้อยรูปซิการ์ชื่อ “โอมูอามูอา” ที่มาจากนอกระบบสุริยะ และเป็นครั้งแรกที่มีหลักฐานจับต้องได้ถึงการค้นพบวัตถุอวกาศนอกระบบนี้ (M. Kornmesser / European Southern Observatory / AFP)
หินอวกาศรูปซิการ์ยืนยันการมาเยือนของ “ดาวเคราะห์น้อย” นอกระบบสุริยะเป็นครั้งแรก นักดาราศาสตร์ระบุการค้นพบนี้อาจจะเผยร่องรอยว่าระบบดาวฤกษ์อื่นๆ นั้นก่อกำเนิดอย่างไร

เอเอฟพีรายงานว่าการค้นพบดาวเคราะห์น้อย ที่มาจากนอกระบบสุริยะครั้งนี้ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ลง “เนเจอร์” (Nature) วารสารวิชาการของอังกฤษ โดยดาวเคราะห์น้อย ดังกล่าวมีรูปร่างเหมือนซิการ์ ยาวประมาณ 400 เมตร ซึ่งมากกว่าความกว้างของดาวเคราะห์น้อยประมาณ 10 เท่า

นักวิจัยระบุด้วยว่าดาวเคราะห์น้อยรูปร่างแปลกตานี้ผิดแปลกไปจากดาวเคราะห์น้อยและดาวหางอีกราว 750,000 ดวง ที่พบเห็นในระบบสุริยะของเรา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของวัตถุอวกาศเหล่านี้ โดยผู้ค้นพบได้ตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ว่า “โอมูอามูอา” (Oumuamua) ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ส่งสาร” ในภาษาฮาวาย

จากข้อมูลและวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยรูปแท่งซิการ์นี้ทีมวิจัยได้สรุปว่า กำเนิดของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มาจากระบบดาวฤกษ์อื่น และนักวิทยาศาสตร์ระบุอีกว่า มีดาวเคราะห์น้อยแบบนี้เข้าสู่ระบบสุริยะปีละครั้ง แต่ติดตามได้ยากและเพิ่งตรวจพบครั้งนี้เป็นครั้งแรก

นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบดาวเคราะห์น้อยสีแดงเข้มจากนอกระบบสุริยะนี้ด้วยกล้องโทรทรรศ์แพน-สตาร์ส1 (Pan-STARRS 1) ในฮาวาย เมื่อ 19 ต.ค.2017 ซึ่งตรวจจับวัตถุจางๆ ที่เคลื่อนผ่านท้องฟ้า ซึ่งเบื้องต้นดูคล้ายดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กที่เคลื่อนที่เร็ว แต่จากการศึกษาเพิ่มเติมในอีก 2-3 วันต่อมาทำให้ได้ข้อมูลวงโคจรที่ค่อนข้างแม่นยำขึ้น

ข้อมูลเผยแพร่ของหอดูดาวซีกฟ้าใต้ยุโรป (European Southern Observatory: ESO) ระบุว่า การคำนวณวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เผยว่า วัตถุอวกาศนี้ไม่มีกำเนิดเหมือนดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางในระบบสุริยะอย่างแน่นอน แต่มาจากอวกาศนอกระบบสุริยะ

ก่อนหน้านี้ดาวเคราะห์น้อยนอกระบบดวงนี้ถูกจัดให้เป็นดาวหาง แต่จากสังเกตการณ์ของหอดูดาวซีกฟ้าใต้ยุโรปและการสำรวจจากที่อื่นๆ ไม่พบกิจกรรมแบบดาวหาง หลังจากที่ดาวเคราะห์น้อยได้ผ่านเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อเดือน ก.ย.2017 ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์จึงจัดประเภทให้วัตถุนี้เป็นดาวเคราะห์น้อยจากนอกระบบ และตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า 1I/2017 U1

การตรวจจับได้ครั้งนี้ยังบ่งชี้อีกว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ท่องไปทั่วกาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way) ของเรา โดยไม่ได้เข้าไปในระบบดาวฤกษ์อื่นๆ เป็นเวลาหลายร้อยล้านปี ก่อนที่จะเข้ามายังระบบสุริยะของเรา

ทั้งการสังเกตของกล้องโทรทรรศน์เวรีลาร์จ (Very Large Telescope) ของหอดูดาวซีกฟ้าใต้ยุโรปในชิลี และการสำรวจอื่นๆ จากทั่วโลก เผยให้เห็นว่าวัตถุนี้ท่องอวกาศเป็นเวลาหลายล้านปีก่อนที่จะเข้ามายังระบบสุริยะของเรา

“เป็นเวลาหลายทศวรรศที่เราได้ตั้งทฤษฎีว่า มีวัตถุจากนอกระบบสุริยะอยู่ด้านนอก และตนนี้เป็นครั้งแรก ที่ได้รับหลักฐานโดยตรงว่า วัตถุอวกาศนี้มีอยู่จริง และการค้นพบที่เป็นประวัติศาสตร์นี้ได้เปิดประตูใหม่สู่การศึกษากำเนิดระบบดาวฤกษ์ นอกเหนือจากระบบสุริยะของเรา” โทมัส ซูร์บูเชน (Thomas Zurbuchen) ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอำนวยการภารกิจวิทยาศาสตร์ ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ในวอชิงตันกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น