xs
xsm
sm
md
lg

สบาย … ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


โคลนดินแห้งกรังเกรอะเกาะรองเท้าเริ่มหลุดออกร่วงหล่นตามทางยามพื้นรองเท้ากระทบเข้ากับทางเดินราบเรียบสวยงามด้านนอกตัวอาคารที่ก่อปูขึ้นมาจากบล๊อกอิฐคอนกรีตหลากสีสัน เกิดเสียงกรอบแกรบเกือบตลอดทุกย่างที่ก้าวเดิน ผมหันกลับมองไปยังทางที่ผ่าน หย่อมเศษฝุ่นดินเป็นทางสีน้ำตาลแดงบนพื้นสีเทาหม่นๆ แม้จะคล้ายเหมือนภาพ Abstract แต่ก็บอกได้เลยว่าคงไม่มีคนเมืองใดจะชื่นใจกับภาพตรงหน้าเป็นแน่โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดสถานที่

“สวัสดีครับ อเมริกาโน่เย็นไม่ใส่น้ำตาลแก้วหนึ่งครับ” ผมสั่งเครื่องดื่มในร้านกาแฟที่อนุมานเอาว่าตนเองเป็นลูกค้าประจำจากการที่จะต้องไปทุกครั้งที่มาเยือน ณ สถานที่นี้ “ใส่กาแฟลงในนี้เลยครับ” เพื่อเป็นการลดขยะที่จะเกิดจากตนเองผมยื่นกระบอกใส่เครื่องดื่มให้น้องบาริสต้าหลังจากกล่าวทักทาย เก้าอี้ข้างเคาท์เตอร์ถูกจับจองดังเช่นทุกครั้ง พลางพูดคุยกับเพื่อนฝูงพี่น้องระหว่างรอรับเครื่องดื่ม จนกระทั่งเรื่องราวพูดคุยเล่าสู่กันฟังสารพัดขมวดรวมกันมาถึงรองเท้าเดินป่าที่สวมใส่

“อย่างเขรอะเลยนะมึง” “ไม่ล้างทำความสะอาดมันซะหน่อยเหรอครับพี่” ประโยคแล้วเล่าดังขึ้นจากเพื่อนและรุ่นน้อง “หนูสงสารรองเท้าเลยค่ะ” เสียงหัวเราะดังขึ้นซึ่งแน่นอนผมเองก็ด้วย กับสภาพรองเท้าประหนึ่งผ่านศึกสนามเพลาะกลางฤดูฝน “ถ้าไม่ใช่เช่นนั้นมันก็น่าจะเกือบใกล้เคียง” ผมหวนคิดถึงเหตุการณ์ครั้งก่อน ที่ยังได้ระหกระเหินอยู่กลางป่า

“แผละ แผละ แผละ ...” แต่ละย่างก้าวส่งเสียง น้ำหนักโคลนที่พอกสะสมท่วมรองเท้าทำให้แต่ละย่างก้าวช่างยากลำบาก “อีกนานไหมครับพี่ กว่าพวกเราจะเดินกลับถึงที่พัก” คำถามจากใจส่งผ่านทางสายตาไปยังพี่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า คำตอบที่ได้มีเพียงรอยยิ้มเปื้อนหยาดเหงื่อเต็มหน้า ผมยิ้มตอบกลับพร้อมเหลือบเห็นสถานการณ์เดียวกันกำลังเกิดขึ้นกับรองเท้าบูทของพี่เจ้าหน้าที่ฯ “ระยะทางที่ทอดยาวไปคงอีกไกล ไม่เช่นนั้นพี่เขาไม่น่าจะยิ้มหวานได้ขนาดนี้” ผมคิดระหว่างกำลังดึงรองเท้าที่ติดในโคลนท่วมสูงเหนือตาตุ่ม

คณะสำรวจกำลังเดินทางกลับ หลังจากแบกเครื่องมือสำรวจพรรณกล้วยไม้และอุปกรณ์ถ่ายรูป ขึ้นลงเขาข้ามห้วยมากันทั้งวัน ด้วยฝนห่าใหญ่ที่ลงหนักเมื่อคืนวาน ส่งผลให้การเดินทางอันค่อนข้างลำบากอยู่แล้ว กลายเป็นลำบากอย่างที่สุดเมื่อทำการสัญจรด้วยวิธีการเดิน ผิวดินบนถนนเปลี่ยนสภาพเป็นเหมือนโคลนดูด คอยดึงรั้งรองเท้าเอาไว้ หรือไม่ก็อาจหกล้มก้นขวิดไถลเพราะความลื่น หลายช่วงถนนเปลี่ยนสภาพกลายเป็นคลอง หรือหนองน้ำนิ่งชั่วคราวให้สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกตัวน้อยๆ หลายชนิดได้สืบพันธุ์ บางจุดต้องช่วยกันฟันไม้เปิดทาง ด้วยไม้ใหญ่ล้มขวางจากลมแรง แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นเรื่องบั่นทอนแรงใจแต่อย่างใด ถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติที่จะมอง ไม้ใหญ่ล้มเปิดโอกาสในการสำรวจชนิดกล้วยไม้ ที่อาศัยบนเรือนยอด แอ่งน้ำขังนิ่งเปิดโอกาสให้พบเจอร่องรอยสัตว์ป่า ที่เข้ามาใช้ประโยชน์ ถนนโคลนดินเปิดโอกาสให้เราพบร่องรอยสัตว์ป่าหลายชนิด ที่ขี้ระแวงและยากยิ่งในการพบเห็นตัว

ผมทิ้งตัวลงหอบนอนหน้าชานบ้านพัก เมื่อกลับมาถึงหน่วยพิทักษ์ป่าฯ “หมดแรงข้าวต้ม” เป็นคำบรรยายอาการของผมจากพี่ๆ เจ้าหน้าที่ซึ่งผมยอมรับมันแต่โดยดี รอยยิ้มคำขอบคุณส่งต่อให้กันและกัน ก่อนเอ่ยคำลาขอตัวไปทำธุระส่วนตัว เพื่อคลายความเหนื่อยล้าของร่างกาย แต่หาใช่ที่ใจ กล้วยไม้ที่พบ แผงแพฟองไข่อึ่งที่เจอ รอยตีนสัตว์ป่าที่เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอยตีนเสือและสมเสร็จ ต่างก่อความปลื้มลิงโลดปิติยินดี

ถ้าไม่เดิน ถ้าไม่เข้าหา ถ้าไม่เหนื่อยล้า คงไม่ได้ข้อมูล ไม่ได้พบเจอกัน และไม่รู้ว่าผืนป่าแห่งนี้ยังคงความอุดมสมบูรณ์เพียงใด

“ตึก ตึก ตึก ...” เสียงแปร่งหูระหว่างพื้นรองเท้าเดินป่าและผิวทางเดินในเมืองหลวงยิ่งสร้างความถวิลระลึกนึกถึงเสียงที่เคยได้ยินเป็นประจำ เสียงกระทบพื้นดินทั้งแน่นแห้งและเหนอะหนะเปียกเปรอะ เสียงเดินเหยียบใบไม้และกิ่งไม้แห้ง เสียงลุยน้ำ และเสียงหัวเราะของเพื่อร่วมทางเมื่อเราพลาดล้มลื่นหรือสะดุดคะมำรากไม้ และเสียงอื่นๆ ในผืนป่าอีกมากมาย

นานเท่าไหร่แล้วที่โคลนนั่นแห้งติดอยู่บนรองเท้าเดินป่า นานเท่าไหร่แล้วที่ไม่มีโคลนดินมาพอกเพิ่มเติม แม้จะไม่เคยเกี่ยงงอนอิดออด แต่นานเท่าไหร่แล้วรองเท้าเดินป่าคู่นี้ จำต้องทำหน้าที่ของมันผิดที่ผิดทาง การก้าวย่างบนเส้นทางในป่าคอนกรีตนั้นสะดวกสบายกว่า ผมไม่โต้แย้ง ผู้คนหลายหลากชื่นชอบและหลีกเลี่ยงการผุดลุกผุดนั่งฝ่าฟันความรกชัฏกันดาร แต่เส้นทางกลางหมู่พรรณไม้และสัตว์ป่าสำหรับคนหลายๆ คนนั้น

สำหรับผมมีเพียงร่างกายที่รู้สึกเหนื่อยล้า

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ

"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"

พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น