xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.เผย 10 เทคโนโลยีน่าจับตามอง “เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.วิทย์ฯ - สวทช. ชี้ “10 เทคโนโลยีที่ควรจับตามอง” พร้อมโชว์ผลงานวิจัยน่าลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศตอบโจทย์รัฐบาล

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าลงทุนประจำปี 2560 หรือ “นาสด้า อินเวสเตอร์เดย์ (NSTDA Investors’ Day 2017)” เมื่อ 22 กันยายน 2560 ณ แกรนด์ฮอลล์ 203 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา ภายใต้งาน Thailand Tech Show 2017 ที่ สวทช. จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “อินโนฟิวชั่น : เสริมพลังธุรกิจด้วยวิทย์และนวัตกรรม (INNO-FUSION : Power Up Business with STI) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และต่อยอดนวัตกรรมให้กับนักลงทุนเป้าหมายและผู้ประกอบการไทย ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) พัฒนากระบวนการผลิตให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Thai Tech Expo 2017 ที่กระทรวงวิทย์ฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 24 กันยายน 2560 ที่ไบเทค บางนา

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ประธานกล่าวว่า กิจกรรม นาสด้า อินเวสเตอร์เดย์ (NSTDA Investors’ Day 2017) ในงาน Thailand Tech Show 2017 เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าลงทุนของ สวทช. ตอบโจทย์นโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงฯ ให้ความสำคัญและบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยปัญญา ความรู้และนวัตกรรมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ โดยเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อมมีช่องทางเข้าถึงเทคโนโลยีได้โดยสะดวก รวมทั้งผลักดันพัฒนางานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนการส่งเสริมโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศให้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยของไทย

“กิจกรรม NSTDA Investors’ Day จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยนำเสนอผลงานและพบปะแลกเปลี่ยนมุมมองด้านต่างๆ กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ ส่งผลให้เกิดการผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสังคม สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงฯ ในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ให้ผู้ประกอบการ และเกิดเป็นผลงานที่สามารถนําไปใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนี้กระทรวงฯ มียังมีหน่วยงานต่างๆ ที่มีความสามารถแตกต่างกัน ซึ่งสามารถช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการให้นำ วทน. ไปใช้ประโยชน์ เช่น การแปรรูป การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การทำแผนธุรกิจ การยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และอื่นๆ ที่สามารถเข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ” ดร.อรรชกา กล่าว

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. และเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการขับเคลื่อนต่อยอดผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากหิ้งสู่ห้าง โดยผลักดันการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เสริมสร้างศักยภาพ ยกระดับผู้ประกอบการและนักลงทุนเชื่อมโยงเอกชนเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก ซึ่งกิจกรรม NSTDA Investors’ Day ยังเป็นการพัฒนาบุคลากรและนักวิจัยระดับแนวหน้าของประเทศให้สามารถสร้างสรรค์งานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เอกชน และชุมชน ที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสังคม อย่างไรก็ดีกิจกรรมนี้จัดขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 8 โดยปีที่ผ่านมามีนักลงทุนและผู้ประกอบการให้ความสนใจ เข้าร่วมงานกว่า 800 คน ที่สำคัญกิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้นักลงทุนที่เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอ 14 ผลงาน ร่วมโหวตรางวัล “ผลงานที่น่าลงทุนที่สุด และ รางวัลที่นำเสนอผลงานดีที่สุด” เพื่อเป็นกำลังใจให้กับนักวิจัยในการคิดค้นนวัตกรรม และนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจได้รวดเร็วขึ้นตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมพลังในการขับเคลื่อนธุรกิจเทคโนโลยี พัฒนาเศรษฐกิจ ฐานนวัตกรรม ยกระดับประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้ต่อไป

นอกเหนือจากแล้ว ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ยังได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ (10 Technologies to Watch)” ซึ่งแนะนำ 10 เทคโนโลยีใหม่ที่จะส่งผลกระทบในช่วงเวลา 5-10 ปีในอนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบการและคนทั่วไป เตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม เพื่อรับผลกระทบทั้งในชีวิตประจำวัน สังคม และเศรษฐกิจ ได้แก่

1.สารเสริมสุขภาพเนรมิตได้ (Phytonutrients) ปัจจุบันสามารถนำพืชผัก ผลไม้ มาสกัดเอาสารสำคัญ และทำให้อยู่ในรูปลักษณะที่ชวนบริโภค ไม่ว่าจะเป็นแคปซูล ผง แท่ง หรือละลายน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่มีสารมีประโยชน์จากพืชออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นมากในแต่ละปี เรียกสารดังกล่าวรวมๆ ว่า Phytonutrients หรือ Phytochemicals ซึ่งจัดว่าอยู่ในกลุ่มของอาหารเสริมเพื่อสุขภาพหรือ Functional Food

2.เนื้อสัตว์ไม่ต้องฆ่า (Cellular Agriculture) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทดลองนำ เนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อวัว ที่ได้จากการเลี้ยงในห้องปฏิบัติการมาทำเป็นแฮมเบอร์เกอร์ แนวคิดการผลิตเนื้อสัตว์จากเซลล์แบบนี้ มาจากความต้องการผลิตเนื้อสัตว์แบบยั่งยืน ดีต่อโลก โดยใช้เทคโนโลยี Cell Culture เพิ่มจำนวนสเต็มเซลล์อย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีนี้มีข้อดีคือ จึงช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้ราว 14.5% ของแก๊สเรือนกระจกทั้งหมด เป็นต้น

3.จุลินทรีย์ผลิตสารมูลค่าสูงจากอากาศ (From-Air-To-Chemicals Bacteria) นักวิจัยจาก University of Minnesota ผลิตแบคทีเรีย 2 ชนิด คือ ซินนีโคค็อกคัส (Synechococcus) ที่สังเคราะห์แสงโดยตรึงคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ แล้วเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาล ก่อนส่งต่อให้แบคทีเรีย ชีวาเนลลา (Shewanella) เปลี่ยนให้เป็นกรดไขมัน ซึ่งนำไปใช้ผลิต “คีโตน” ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำคัญของสารประกอบอินทรีย์อื่นๆ และน้ำมันดีเซลได้

4.บรรจุภัณฑ์กินได้ (Edible Packaging) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากผลผลิตทางการเกษตร เพื่อใช้ห่อหุ้มอาหารไม่ให้เกิดความเสียหาย ยืดอายุ รักษาคุณภาพของอาหารให้เก็บไว้ได้นานขึ้น และสามารถรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ พร้อมกับส่วนที่ห่อหุ้มอยู่ได้เลย โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ปัจจุบันมีงานวิจัยและได้เริ่มทดลองใช้กันแล้วในหลายประเทศ

5.ถุงปลูกเพิ่มผลผลิต (Nonwovens for Agriculture) หากเอ่ยถึง นอนวูฟเวนส์ (nonwovens) หรือ “ผ้าไม่ถักไม่ทอ” อาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่ตัวอย่างนอนวูฟเวนที่คุ้นเคยกันดี พบได้แพร่หลาย คือ หน้ากากอนามัย เนื้อวัสดุมีลักษณะคล้ายกระดาษ แต่ให้สัมผัสนุ่มคล้ายผ้า ผลิตภัณฑ์แบบนี้อาศัยการขึ้นรูปจากเส้นใยโดยตรง การนำเทคโนโลยีวัสดุมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร จึงมีความสำคัญมาก นักวิจัยจากศูนย์เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ทำวิจัยถุงปลูกนอนวูฟเวน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลิตผลทางการเกษตรให้มากขึ้น

6.หุ่นยนต์หมอนาโน (Medical Nanorobot) ตัวยาที่ใช้รักษามะเร็งขาดความจำเพาะ จึงทำลายเซลล์มะเร็งเป้าหมายได้แค่ 1–2% ที่เหลือกลับทำลายเซลล์ดี ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ ตามมา มีทีมวิจัยที่ศึกษาการนำ T Cell มาใช้เป็น Nanorobot นำส่งยาที่ใช้ฆ่าเซลล์มะเร็งได้อย่างจำเพาะ หรืออาจใช้นำส่งอนุภาคนาโนบางอย่างที่เมื่อกระตุ้นด้วยรังสี จะทำให้เซลล์มะเร็งตาย โดยไม่กระทบต่อเซลล์ปกติอื่นๆ

7.เข็มจิ๋วจิ้มไม่เจ็บ (Nano Needle) การฉีดยาเป็นเรื่องเจ็บตัวและไม่พึงปรารถนาของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่เรื่องนี้อาจกลายเป็นอดีตไปในไม่ช้า เข็มขนาดเล็กมากๆ ที่เรียกว่า Micro/Nano Needles หรือ MNN มีเส้นผ่านศูนย์กลางระดับไมโครและนาโนเมตร คือราว 1 ในล้าน และ 1 ในพันล้านส่วนของเมตรเท่านั้น ในเดือนมิถุนายน 2560 นี้เอง มีการสอบประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับอาสาสมัคร โดยใช้แผ่น MNN เป็นครั้งแรก โดยนักวิจัยจาก Georgia Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนี้มีงานวิจัยเพื่อสร้างเข็มจิ๋วที่เหมาะกับการฉีดยาหรือวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการฉีดอินซูลินสำหรับการรักษาโรคเบาหวาน อีกด้วย

8.บล็อกเชนเพื่อสุขภาพ (Blockchain for Health) คือ เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลธุรกรรมที่ทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง สามารถเก็บข้อมูล และใช้การเข้ารหัส หรือ คริปโตกราฟี (cryptography) เพื่อป้องกันการแอบแก้ไขข้อมูล และกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูล ทำให้ระบบมีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้คนในการบริหารจัดการข้อมูล และปลอดภัยจากการแอบแก้ไขและแอบเข้าถึงข้อมูล ตัวอย่าง เช่น นวัตกรรม Blockchain ด้านสุขภาพ ไทย บริษัท Block M.D. ที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ กำลังพัฒนา Electronic Health Record หรือ EHR บนบล็อกเชน โดยใช้โครงสร้างเวชระเบียน หรือประวัติผู้ป่วยมาตรฐาน ในปัจจุบันนั่นเอง

9.โรงยิมสมอง (Brain Gym) สมองเป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อนมาก ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นับแสนนับล้านเครื่อง เพื่อจำลองการทำงานของสมองเพียงเสี้ยววินาที แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ (Sensor) ที่นำมาศึกษาสมองได้ดี เช่น มีเทคโนโลยีการสร้างภาพประสาท (Neuroimaging) เราอาจเคยเห็นเครื่องมือพวกนี้ในโรงพยาบาลกันบ้างแล้ว เช่น เครื่อง MRI หรือ EEG มี Sensor ต่างๆ ที่ช่วยให้อ่านข้อมูลสมองได้สะดวก และเรายังมีเทคนิคการวิเคราะห์ Big Data ทำให้สามารถอ่านข้อมูลสมองได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นศาสตร์ใหม่ที่เรียกรวมว่าเป็น นิวโรอินฟอร์เมติกส์ (neuroinformatics)

10.พิมพ์ฟังก์ชัน 3 มิติ (Functional 3D Printing) ข้อมูลจาก IDTechEx ก็ระบุว่า ตลาดของวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติคาดว่าจะเติบโตและมีมูลค่าตลาดทั่วโลกสูงประมาณ 700,000 ล้านบาท ในอีกสิบปีข้างหน้า ในอนาคตอันใกล้ วัสดุใหม่ๆ เช่น วัสดุคอมพอสิต จะช่วยให้สามารถพิมพ์วัสดุที่มีคุณสมบัติเฉพาะต่างๆ ได้หลากหลายขึ้น ทำให้สร้างอุปกรณ์ที่ทำงานได้เลยหลังพิมพ์เสร็จ เรียกว่า Functional 3D Printing เช่น การพิมพ์พลาสติกที่สามารถนำความร้อน เพราะมีวัสดุโลหะผสมอยู่ เช่น วัสดุผสมคอมพอสิต กับอนุภาคหรือเส้นใยของทองแดง หรืออะลูมิเนียม สามารถนำไปใช้ทดแทนชิ้นส่วนโลหะได้ เช่น ชิ้นส่วนโคมไฟรถยนต์ หรือใช้ระบายความร้อนในวงจรอิเล็กทรอนิกส์

“ปัจจุบันเราพิมพ์เส้นลวดนำไฟฟ้าได้แล้วด้วย โดย ศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ หรือ TOPIC ในสังกัดเนคเทค สวทช. ร่วมมือกับบริษัท เฮเดล เทคโนโลยี ประเทศไทย ผลิตเส้นลวดพลาสติกนำไฟฟ้าด้วยวัสดุคอมพอสิตผสมกราฟีน ที่สามารถนำไฟฟ้าได้ดีที่สุดในโลก มีความต้านทานไฟฟ้าน้อยกว่า 0.5 โอห์มต่อเซนติเมตร สามารถขึ้นรูปได้ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติทุกชนิด และออกวางจำหน่ายไปทั่วโลกแล้ว”

จะเห็นได้ว่า 10 เทคโนโลยีที่ควรจับตามองในปีนี้ ส่วนใหญ่ครอบคลุมเรื่องอาหาร สุขภาพ และการแพทย์ โดยมีเรื่องของเทคโนโลยีการพิมพ์และการเกษตรเข้ามามีบทบาทด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนในการทำความเข้าใจทิศทางและแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ เพื่อเลือกพิจารณาลงทุนให้เหมาะสม เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้อาจจะเข้าไปเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจหลายประเภทที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และข้อมูลเหล่านี้จะมีสำคัญสำหรับคนทั่วไปเช่นกัน เพื่อให้ทันรับมือกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีใกล้ชิดกับเราอย่างมากโดยคาดไม่ถึงในทุกมิติของชีวิต







กำลังโหลดความคิดเห็น