xs
xsm
sm
md
lg

ต่าง...

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


“ม้วนงวง หูลู่ ตรงเข้ามานั่นแล้วครับ” ลักษณะและพฤติกรรมของช้าง สัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทยถูกบรรยายขณะที่มันกำลังเคลื่อนที่เข้ามาใกล้

“คันนั้นถอยหนีแล้ว” ผมเอ่ยขึ้น “แบบนี้เรากลายเป็นคันแรกที่จะเผชิญหน้าแล้วล่ะครับ” ผมเสริมพร้อมกับดันคันเกียร์เข้าไปอยู่ในตำแหน่งถอยหลังและปล่อยให้รถเคลื่อนที่ไปทางด้านหลังช้าๆ คล้ายจะเป็นการเล่นไล่จับกับเจ้าสีดอตัวนั้น

“ใจชื้นขึ้นมาหน่อยมันหยุดแล้ว ดีที่ไม่ตรงเข้ามามากกว่านี้ ไม่อย่างนั้นมีหวาดเสียวกันแน่ครับ” ผมเอ่ยเมื่อเห็นว่าช้างหยุดเคลื่อนที่ งวงเริ่มคลายออก ใบหูใหญ่โตเริ่มโบกไปมา ยืนอยู่บนถนนราดยางมะตอยไม่เดินลงริมข้างทางเหมือนช้างตัวก่อนหน้า “ตัวนี้น่าจะดื้อกว่า” ผมคิด

รถยนต์ชะงักหยุดทางด้านหลังเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนดูคลับคล้ายการจราจรในเมืองหลวงแต่ก็ไม่มีคันไหนจะกระพริบไฟสูงหรือกดแตรไล่ ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประจำหรือไม่อาจจะเป็นเพราะป้ายประชาสัมพันธ์ริมสองข้างทางถนนทำหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดี

พี่ใหญ่ยังคงยืนสะบัดงวงหมุนตัวเดินกลับไปมาอยู่ในบริเวณเดิม ช่วงเวลาโพล้เพล้และฟ้าเริ่มมืดลงไฟหรี่ของรถยนต์ถูกเปิดตามกัน ความมืดเริ่มกลืนกินทิวทัศน์ป่ารอบข้างเปลี่ยนกลายเป็นภาพเงาดำ มีเพียงอากาศที่กั้นกลางระหว่างช้างสีดอตัวนั้นกับรถยนต์ที่ผมขับ ไม่นานนักสายตาเหลือบเห็นแสงไฟส่องสว่างสะท้อนกระจกมองข้างทำให้ทราบว่ามีรถยนต์เคลื่อนที่เข้ามาใกล้จากทางด้านหลังหนึ่งคัน จนกระทั่งแล่นแซงเลยขึ้นไปทางด้านหน้าตรงไปหาเจ้าสีดอตัวนั้น

ภาพกลุ่มชายสวมเครื่องแบบลายพรางของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บนกระบะของรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อคานแข็งยี่ห้อ Toyota รุ่น LN-106 สภาพใช้งานหนัก เคลื่อนตรงเข้าไปหาเหตุแห่งความข้องขัดของการจราจรยังคงตรึงอยู่ในความทรงจำ เจ้าสีดอตัวนั้นหันหน้าเผชิญเข้ากับรถยนต์ กางหูและชูงวงใส่เป็นการเตือนแต่ก็ไม่ได้เกิดผลใดใด รถยนต์คงมุ่งหน้าเข้าหากดดันให้ช้างหลบจากบนถนนลงข้างทาง เพียงแค่อาการถอยหลังเล็กน้อยเท่านั้นที่มันแสดงออกแม้รถยนต์จะขยับเข้าไปใกล้มากแล้วก็ตาม ประมาณว่าต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน

“โอ้ ช้างตัวนี้ดื้อเอาเรื่องครับ ขนาดรถเจ้าหน้าที่พยายามพลักลงข้างทางให้เข้าป่าไปยังไม่ยอมไปเลยนั่นน่ะ ชักจะแปลกๆ” ผมเริ่มเอะใจ

สายควันขาวที่ลอยยาวด้วยแรงขว้างจากกระบะหลังเข้าไปในพุ่มไม้และเสียงดังสนั่นที่ตามติดมาเป็นคำตอบอย่างดีให้กับพฤติกรรมของช้างสีดอตัวนี้ที่ผมเกิดความสงสัย สิ้นเสียงประทัดเสียงร้องก็ตามมาอาจด้วยความตกใจ ความหวาดกลัว หรือความโกรธเกรี้ยวกราดของเจ้าของเสียงก็ไม่อาจจะตัดสิน แต่สำหรับตัวผมความโหยหวนแฝงเปี่ยมอยู่ในเสียงร้องที่ได้ยิน

“อืม...หมดข้อสงสัยแล้ว” ผมพึมพำกับตัวเองก่อนจะเริ่มเคลื่อนรถยนต์ไปตามสัญญาณมือจากเจ้าหน้าที่

“ที่นี่ไม่ให้ยิงปืนขู่ ใช้ประทัด หรือทำอันตรายช้างเพราะจะทำให้ช้างมีพฤติกรรมดุ ก้าวร้าว และเป็นอันตรายมากขึ้นไปอีกน่ะ อนุญาตเฉพาะทำเครื่องกั้นกีดขวางหรือก่อไฟให้มีควันเท่านั้น” รุ่นพี่ ผู้ทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ชี้แจงให้ฟังระหว่างกำลังเดินไปที่นาใกล้กับพื้นที่เขตอนุรักษ์หลังจากได้รับแจ้งว่ามีช้างป่าเข้ามาหากินในไร่นาของชาวบ้าน

“ช่วยเกี่ยวซะเรียบร้อยราบคาบเชียว น่าเสียดายตรงที่เกี่ยวแล้วไม่ได้กองเอาไว้ให้ กินซะเองหมด” รุ่นพี่พูดกับเจ้าของผืนนา “ไม่เป็นไรครับผู้ช่วยฯ แบ่ง ๆ กัน เหลืออีกเยอะ” ชาวบ้านตอบกลับด้วยภาษาไทยสำเนียงกระเหรี่ยงก่อนจะเพิ่มสุมเศษไม้และใบไม้ไปยังกองไฟให้เกิดปราการควันไฟ ช้างอยู่ได้ คนอยู่ได้ ต่างฝ่ายต่างมีรอยยิ้มให้กัน แนวทางที่ดีในการจัดการและทัศนคติที่ดีจากชุมชนเป็นส่วนสำคัญหลักที่จะลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสัตว์ป่ากับคนเป็นสิ่งที่ผมได้ติดตัวกลับมาจากการไปเยี่ยมเยือนยังสถานที่นั้น

แสงไฟกระพริบทางด้านหลังรถและเสียงเครื่องยนต์ที่ถูกเฆี่ยนเร่งความเร็วเพื่อการแซงจากรถที่ขับตามมาบนถนนสองช่องจราจรแคบขอดด้วยความน่าหวุดหวิดหวาดเสียวต่อการเกิดอันตรายโดยไม่อาจจะใช้คำว่า”อุบัติเหตุ” ทำให้ผมเกิดฉุกคิด

สถานที่ต่าง สังคมต่าง วัฒนธรรมต่าง ความคิดต่าง มุมมองต่าง ก่อให้เกิดการวางแผน การจัดการและบริบทองค์รวมในการแก้ไขปัญหาเกิดความแตกต่าง อีกทั้งข้อจำกัดด้านกำลังพล งบประมาณ และอื่น ๆ อีกเล่า ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยิ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างกระจ่างชัด

แต่ผมยังคงความเชื่ออยู่อย่างหนึ่ง ความเชื่อที่ว่าเพื่อจะแก้ปัญหาและลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสัตว์ป่ากับคน ถ้าเราเริ่มกระบวนการด้วยมุมมองความคิดและความรู้สึกที่ว่า คนกับสัตว์ป่าหรือสัตว์ป่ากับคน มีสิทธิและความเสมอภาคจากการเป็นสิ่งมีชีวิตร่วมอาศัยอยู่ในโลกใบนี้อย่างเท่าเทียมกันแล้ว ความแตกต่างเหล่านี้เราสามารถลดมันลงได้

อย่างน้อยใจของผมก็บอกมาอย่างนั้น...

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ

"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"

พบกับบทความ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น